หลังความประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม “สปุตนิก 1” ขึ้นไปโคจรรอบโลกเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1957

ผู้นำของสหภาพโซเวียตในเวลานั้นอย่าง “นิกิตา ครุสชอฟ” จึงหมายมั่นปั้นมือว่าจะเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของการปฏิวัติบอลเชวิก ด้วยการส่ง “สปุตนิก 2” ขึ้นไปโคจรรอบโลกอีกครั้งในเดือนถัดมาของปีเดียวกัน

…และครั้งนี้จะส่ง “สิ่งมีชีวิต” ขึ้นไปพร้อมกับดาวเทียมด้วย! … (เดิมการส่งสัตว์ขึ้นบนฟ้านั้น อเมริกาเป็นผู้ทำเป็นชาติแรก ซึ่งทดลองโดยใช้ “ลิง” บางตัวก็ตาย บางตัวก็กลับมาแบบพิกลพิการ ดังนั้นโซเวียตจึงเลือกสุนัขแทน เพราะจะได้ไม่ซ้ำกับศัตรูหัวใจช่วงสงครามเย็น )

“ไลก้า” เป็นสุนัขเพศเมียที่เร่ร่อนอาศัยอยู่ตามถนนในมอสโก ซึ่งความเร่ร่อนนี่แหละ มันดันไปตรงคุณสมบัติที่นักวิทยาศาสตร์โซเวียตต้องการแบบพอดิบพอดี

เพราะพวกเขามองว่า สุนัขเหล่านี้มีพลังชีวิตขั้นทรหดทนหิวได้ยาวนาน รวมถึงฝ่าฟันสภาพอากาศอันหนาวเหน็บมาได้ทุกคืน …แน่นอนว่านักวิทยาศาสตร์ไม่ได้จับมาแค่ไลก้า แต่จับสุนัขตัวอื่นมาด้วย…

ไลก้าจึงถูกจับมาขัดสีฉวีวรรณ และได้รับการตั้งชื่อใหม่หลายชื่อ เช่น คุดรยาฟกา , จูชคา และลิมอนชิค แต่เพราะมันเห่าเสียงดังใส่นักข่าวอเมริกัน จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ไลก้า” (แปลว่าจอมเห่า) ดังที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

จากนั้นไลก้าก็ถูกฝึกร่วมกับสุนัขตัวอื่นๆ ด้วยสารพัดวิธี เช่น จับพวกมันขังไว้ในกรงขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เป็นเวลาถึง 20 วัน ซึ่งมันทำให้อาการกระสับกระส่าย รวมถึงทำให้ระบบขับถ่ายของสุนัขเหล่านี้เกิดปัญหา ถึงขั้นที่ยาระบายก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้นได้

นอกจากนี้พวกมันยังถูกวางในเครื่องหมุนเหวี่ยงที่จำลองความเร่งของการปล่อยจรวด ทำให้ชีพจรและความดันโลหิตของสุนัขเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ อีกทั้งยังต้องฝึกให้กินเจลโภชนาการสูงชนิดพิเศษ เพื่อใช้เป็นอาหารของพวกมันในอวกาศอีกด้วย

ผลการทดลองออกมาว่าไลก้าคือ “ผู้ถูกเลือก” เนื่องจากคุณสมบัติต่างๆ ดีพอในการออกนอกอวกาศ อีกทั้งมีขนาดตัวที่เล็ก แต่ไม่มากจนเกินไป รวมถึงมีลักษณะนิสัยที่นิ่งสงบ เรียกว่าตอบโจทย์ในทุกกรณี

…วันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 1957 ไลก้าถูกส่งออกไปโคจรรอบโลกพร้อมกับสปุตนิก 2 ในฐานะ “ฮีโร่ผู้บุกเบิก” และไม่มีใครพบเจอสุนัขตัวนี้ในฐานะสิ่งมีชีวิตอีกเลย…

เสียงชีพจรชีวิตที่ดับสูญของไลก้าถูกกลบลงด้วยเสียงกู่ร้องดีใจของมวลมนุษยชาติ เพราะมันคือก้าวแรกแห่งประวัติศาสตร์ที่สิ่งมีชีวิตสามารถออกไปนอกโลกได้สำเร็จ!

อีกทั้งสปุตนิก 2 ยังขึ้นไปบนวงโคจรของโลกได้เร็วกว่าสปุตนิก 1 เสียอีก และโคจรได้ยาวนานถึง 5 เดือน ก่อนจะโดนเผาไหม้เป็นจุณ ซึ่งเป็นการคอนเฟิร์มการตายของไลก้าไปโดยปริยาย

แม้ทางการโซเวียตออกมาทางแถลงว่า ไลก้าเสียชีวิตลงอย่างสงบและไม่ทรมานหลังจากเดินทางไปได้หลายวัน แต่ข้อมูลหลายส่วนก็ขัดแย้งกันเอง บ้างก็ว่านักวิทยาศาสตร์โซเวียตวางแผนทำการุณยฆาตไลก้าด้วยอาหารพิษ หรือบ้างก็ว่าเสียชีวิตจากภาวะขาดอากาศหายใจ หรือแหล่งข่าวรัสเซียก็รายงานว่า ไลก้าเสียชีวิตในวันที่สี่ เนื่องจากเมื่อห้องโดยสารร้อนเกินไป

ต่อมาหลังการวีรกรรมท่องอวกาศของไลก้าผ่านไปกว่า 45 ปี ได้มีความจริงเปิดเผยออกมาว่า ไลก้าเสียชีวิตหลังจากดาวเทียมขึ้นไปนอกโลกด้วยระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง เนื่องจากสภาวะตื่นตระหนกของไลก้าเองและความร้อนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วของดาวเทียมในการมุ่งหน้าทะลุชั้นบรรยากาศของโลก

นอกจากนี้ยังมีการยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า สปุตนิก 2 ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการดึงกลับสู่พื้นโลกตั้งแต่แรกแล้ว นั่นหมายความว่าชีวิตของไลก้าจะต้องสูญสลายแน่นอน 100% ซึ่งนักวิทยาศาสตร์โซเวียตก็รับรู้ชะตากรรมของไลก้าอยู่แล้วเช่นกัน

การประสบความสำเร็จของสปุตนิก 2 และเหตุการณ์เสียสละของไลก้า ส่งผลให้มีการส่งสุนัขขึ้นไปบนอวกาศอีกหลายครั้ง ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การส่งมนุษย์คนแรกอย่าง “ยูริ กาการิน” ขึ้นไปยังห้วงอวกาศได้สำเร็จในปี 1961 ซึ่งเจ้าตัวยังกล่าวติดตลกว่า “ผมเป็นมนุษย์คนแรกในอวกาศ หรือสุนัขตัวล่าสุดกันนะ”

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เรื่องราวของไลก้าได้เปลี่ยนแปลงจากสุนัขเร่ร่อนสู่ “สุนัขผู้พิชิตอวกาศ” อีกทั้งยังมีสัตว์อีกมากมายที่ถูกทดลองตามมา พวกเขาทั้งหลายล้วนแล้วมีคุณูปการครั้งใหญ่ต่อโลกทั้งสิ้น และทำให้เทคโนโลยีอวกาศพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
…อย่างไรก็ดี นั่นคือ “สิ่งที่เจ้าตัวต้องการ” จริงหรือ? …

#TWCHistory #TWCome