เอเชียกลางเป็นภูมิภาคของโลกที่คนต้องมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับม้า คล้ายๆ กับชาวมองโกล และขึ้นชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดของอาณาจักรชนเผ่าเร่ร่อนที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน
ด้วยชื่อเสียงที่กล่าวมา จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวเอเชียกลางจะมีความผูกพันกับม้า และมีประเพณีหลายๆ อย่างที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์นั้น นับเป็นวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร
ว่าแต่วัฒนธรรมที่สื่อถึงความใกล้ชิดระหว่างคนกับม้าของชาวเอเชียกลางจะเป็นอย่างไร? มาติดตามในโพสต์นี้ได้เลยครับ
เอเชียกลางเป็นภูมิภาคที่กว้างใหญ่ พื้นที่กว่า 4 ล้าน ตร.กม. ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ 5 ประเทศ แต่เป็นส่วนหนึ่งของทุ่งหญ้าสเตปป์ซึ่งเป็นพื้นที่แล้งน้ำ เพาะปลูกได้ไม่ค่อยมาก โดยเฉพาะคีร์กีซสถานที่เป็นพื้นที่ภูเขาถึง 90% เพราะฉะนั้นคนท้องถิ่นจึงอยู่กันแบบเลี้ยงปศุสัตว์เร่ร่อนไปเรื่อยๆ
วิถีชีวิตลักษณะนี้เองที่ทำให้คนเอเชียกลางมีวิถีชีวิตผูกพันกับม้า เพราะเป็นทั้งพาหนะ ใช้ลากจูง ใช้ต้อนสัตว์ หรือใช้เป็นอาหารก็ได้ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องแสดงสถานะและใช้เป็นเงินตราสำหรับแลกเปลี่ยนก็ได้อีกต่างหาก
ยังมีงานวิจัยระบุอีกว่าตั้งแต่ยุค 3,500 ปีก่อนโน้น วัฒนธรรมโบไท (Botai) ซึ่งอยู่ในคาซัคสถาน อาจเป็นวัฒนธรรมแรกสุดของโลกที่เอาม้าป่ามาเลี้ยง
ม้าของเอเชียกลางมีชื่อเสียงแต่โบราณว่าเป็นม้าที่มีความอดทน วิ่งได้ไกลและทนต่อพื้นที่สูงได้ ชาวจีนโบราณเองก็สนใจอยากได้ม้าประเภทนี้เพราะตัวสูงและแข็งแรงกว่า ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะสังคมเกษตรมีประสบการณ์ไม่พอหรือพื้นที่ทุ่งหญ้ากว้างให้เลี้ยงม้าได้เหมือนกับทุ่งหญ้าสเตปป์
สำหรับท่านที่อ่านวรรณกรรม “สามก๊ก” น่าจะพอจำชื่อ “ม้าเซ็กเธาว์” ที่เป็นสุดยอดม้าวิ่งได้วันละพันลี้ ในความเป็นจริงมันน่าจะเป็นม้าพันธุ์ “แอคเคิลเทคหรือแอคเคิลเทคี” (Akhal-teke) จากเติร์กเมนิสถาน ที่เวลาวิ่งแล้วจะมีเหงื่อสีโลหิตออกมาคล้ายกับคำบรรยายของม้าเซ็กเธาว์ ซึ่งเป็นผลมาจากปรสิตที่เกาะบนตัวม้านั่นเอง
ในวัฒนธรรมแบบชนเผ่าเร่ร่อนมีการกล่าวถึงความผูกพันกับม้าซึ่งมีการยกย่องในบทกวี โคลงกลอนและเรื่องเล่าต่างๆ ใน “มหากาพย์มานัส” ซึ่งเป็นวีรบุรุษประจำชาติคีร์กีซสถาน ได้บันทึกว่าการสูญเสียม้าเท่ากับความอับอายและไม่ต่างกับถูกประหารชีวิต หรือสุภาษิตที่ว่า รู้จักคนได้ผ่านพ่อ รู้จักแผ่นดินได้ผ่านม้า
วิถีชีวิตของชาวเอเชียกลางนั้นถึงขั้นที่ว่ามีการนำเด็กทารกไปนั่งม้าตั้งแต่ยังแบเบาะ และลักษณะความเป็นอยู่ก็ใช้ชีวิตแบบยุคเส้นทางสายไหมและเจงกิสข่านเรื่อยมา ขนาดยานพาหนะที่ใช้ม้าลากเทียมยังเพิ่งเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เท่านั้นเอง
เมื่อถึงยุคโซเวียต วิถีชีวิตแบบเร่ร่อนถูกพยายามบีบให้เป็นแบบเกษตรนารวม ยึดม้าและห้ามถือครองม้าเกินกำหนด อีกทั้งมีการนำรถมีเครื่องยนต์เข้ามาใช้แทน ผลทำให้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้รับผลกระทบไปช่วงหนึ่ง จนมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ประเพณีที่เกี่ยวกับม้าของชาวเอเชียกลางที่สืบทอดต่อมามีอยู่หลายอย่าง เริ่มต้นจากกีฬาขี่ม้าทางไกล (คล้ายๆ วิ่งมาราธอนสำหรับคน) ซึ่งใน “กีฬาชนเร่ร่อนโลก” (World Nomad Games) มีการแข่งขันประเภทหนึ่งคือแบบระยะทาง 80 กม. ซึ่งผู้ขี่จะต้องอาศัยความเข้าใจในม้าและพื้นที่แข่งขันเพื่อที่จะนำม้าเข้าเส้นชัยให้ได้ แต่บางที่แข่งกันเกิน 100 กม. ก็มี
ต่อมาเป็นกีฬา “ขี่ม้าโยนแพะ” ซึ่งมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น กกโบรู, กกปาร์, กุปการี, บุชคาชิ เป็นต้น กีฬาชนิดนี้เคยเล่าในโพสต์ก่อนๆ ไปแล้วนะครับ สรุปคือมันคล้ายๆ กับโปโลที่แข่งกันโยนซากแพะเข้าโกลอีกฝั่ง ปัจจุบันอยู่ในรายชื่อสำรองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกอีกด้วย
“เออร์เอนิช” (Er Enish) หรือแข่งมวยปล้ำบนหลังม้า ซึ่งมีท่าจับล็อกคู่แข่งหรือม้าฝั่งตรงข้าม หรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามตกจากหลังม้า แล้ววัดคะแนนรวมในตอนท้าย
“ไทอินเอ็นมี” (Tyiyn Enmei) เป็นการแข่งขันเก็บเหรียญที่ตกอยู่บนพื้นจากหลังม้าที่ควบมาด้วยความเร็วสูง แปลว่าผู้เข้าแข่งขันจะต้องคุมม้าเก่งมากๆ และมีคุณสมบัติทั้งความแข็งแรงและยืดหยุ่นเองด้วย ถ้าตอนที่ก้มเก็บเหรียญม้าวิ่งช้าเกินไปก็จะถูกตัดสิทธิ์อีก
และยังมีประเพณี “คัซคู” (Kyz Kuu) เป็นการละเล่นที่มักพบในงานแต่งงาน หลักๆ เป็นการแข่งม้ากันระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจะเตรียมพร้อมที่จุดเริ่มต้น ส่วนฝ่ายหญิงจะขี่ม้ามาก่อน เมื่อถึงจุดเริ่มต้นฝ่ายชายจะสามารถเริ่มควบม้าได้ ทั้งสองฝ่ายแข่งกันขี่ม้าไปจนถึงเส้นชัย หากฝ่ายชายไปถึงก่อนจะสามารถจุมพิตฝ่ายหญิงได้ แต่หากฝ่ายหญิงชนะจะสามารถเอาแส้มาเฆี่ยนฝ่ายชายได้ (แต่เล่นกันสนุกๆ นะ ไม่ได้ตีกันเลือดสาด)
นอกจากนี้ม้ายังสามารถใช้เป็นอาหารสำหรับคนท้องถิ่นได้ด้วย ทั้งเนื้อและนมม้า โดยสมัยก่อนลูกม้าถือเป็นอาหารสำหรับชนชั้นสูง และมักมีการกินเนื้อม้าในช่วงฤดูหนาวหรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ ส่วนนมม้านั้นปัจจุบันก็มีทั้งแบบสดๆ ดั้งเดิมกับแบบที่ทำบรรจุภัณฑ์วางขายในร้านค้ากันแล้ว
ความอินเรื่องม้าของชาวเอเชียกลางนั้นมีหลายระดับ แต่แฟนม้าตัวยงคนหนึ่งคือ “ซาปาร์มือรัต นียาซอฟ” อดีตผู้นำเผด็จการสุดแปลกแห่งเติร์กเมนิสถานที่อินจัดๆ ถึงกับออกกฎหมายให้จัดการประกวดม้าสวยงามทุกปี เขียนหนังสือเกี่ยวกับม้า และสร้างศูนย์พักผ่อนหย่อนใจสำหรับม้ามูลค่าร่วม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีทั้งสระว่ายน้ำและศูนย์แพทย์ แถมติดแอร์อีกต่างหาก
…เรียกได้ว่าม้าเป็นทุกอย่างแล้วจริงๆ สำหรับชาวเอเชียกลาง นี่คือวิถิชีวิตที่ผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างคนกับสัตว์จนแยกไม่ออกเลยทีเดียวครับ
#TWCCulture #TWCCentralAsia
0 Comment