21 กันยายนนี้ “วันไหว้พระจันทร์” ประจำปีก็จะเวียนมาบรรจบอีกครั้ง… คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยเริ่มเตรียมตัวซื้อของไหว้สำคัญสำหรับเทศกาล ได้แก่ “ขนมไหว้พระจันทร์” ส่วนคนอื่นๆ ก็รับรู้วันฉลองได้จากโฆษณาขนมดังกล่าวที่ปรากฏขึ้นมาตามสื่อต่างๆ จนสังเกตได้
แต่เคยสงสัยไหมครับ ขนมไหว้พระจันทร์มีที่มาจากไหน? แล้วเราไหว้พระจันทร์ไปทำไม? …บทความนี้เราจะไปดูด้วยกันตั้งแต่ที่มาที่ไปของเทศกาล, ความสำคัญของขนมไหว้พระจันทร์ เรื่อยไปจนถึงรูปแบบของขนมและการฉลองในปัจจุบัน
ทำไมเราไหว้พระจันทร์
“การไหว้พระจันทร์” มีที่มาจากเทศกาลฉลองการเก็บเกี่ยวกลางฤดูใบไม้ร่วง (ฤดูสารท) บ้างเชื่อว่าเทศกาลนี้มีมาแต่สมัยราชวงศ์ซาง ราว 1,600 – 1,046 ปีก่อนคริสตกาล บ้างก็เชื่อว่าเริ่มต้นในยุคราชวงศ์โจว ประมาณ 1,045 – 221 ปีก่อนคริสตกาล
แต่ไม่ว่าการฉลองจะเริ่มตอนไหน ใจความของมันก็เหมือนกัน คือ องค์พระจักรพรรดิจะถวายของบูชาพระจันทร์ในวันเพ็ญเดือนแปด
เหตุที่ว่าทำไมต้องเป็นวันเพ็ญเดือนแปด อ. ถาวร สิกขโกศล นักวิชาการอิสระในด้านจีน อดีตอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุหนึ่งคนจีนมองพระจันทร์เดือนแปดว่ามีความสวยงามมากที่สุดในรอบปี
ส่วนอีกเหตุก็มีที่มาจากเรื่องราวของเทพีแห่งดวงจันทร์นาม “ฉางเอ๋อ”
เรื่องของฉางเอ๋อมีหลายฉบับ รายละเอียดแตกต่างกันไป แต่โดยสรุปแล้ว ฉางเอ๋อแต่ก่อนเป็นคนธรรมดา มีสามีชื่อ “โฮ่วอี้” เป็นยอดนักธนู (บ้างฉบับก็ว่าเป็นราชาด้วย) ซึ่งได้ช่วยเหลือมนุษยชาติไว้ด้วยการยิงพระอาทิตย์ที่แผดเผาโลก 10 ดวงให้เหลือดวงเดียว
โฮ่วอี้ได้ของตอบแทนมาเป็นยาอายุวัฒนะ อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นอมตะ ก็ต้องไปอยู่อีกภพหนึ่ง และทั้งคู่ไม่อยากจากกัน จึงเก็บยานั้นไว้…
ตำนานหนึ่งกล่าวว่า ศิษย์คนหนึ่งของโฮ่วอี้ต้องการยาอายุวัฒนะมาเป็นของตัวเอง อาศัยช่วงโฮ่วอี้ไม่อยู่ พยายามขโมยมันมา ฉางเอ๋อเลยชิงกินมันเข้าไป เพื่อไม่ให้ยาตกในมือคนชั่ว
พอฉางเอ๋อเป็นอมตะ ก็ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า กลายเป็นเทพีแห่งดวงจันทร์ ด้านโฮ่วอี้มองจันทร์เดือนแปดแล้วคิดถึงภรรยา จึงทำของเซ่นไหว้พระจันทร์
ส่วนอีกตำนานหนึ่งบอกว่า ฉางเอ๋อกินยาเข้าไปเพราะโฮ่วอี้หลงมัวเมาในอำนาจหลังมีคนนับหน้าถือตาเป็นวีรบุรุษ อีกฝ่ายจะได้ไม่ก่อกรรมทำชั่วอีก แล้วก็ไปสู่ภพสวรรค์ สถิตบนดวงจันทร์แต่นั้นเป็นต้นมา
ด้านโฮ่วอี้ช้ำใจ จึงเสียชีวิตลงในเวลาไม่นาน ชาวบ้านซาบซึ้งในการเสียสละของฉางเอ๋อ จึงจัดไหว้พระจันทร์เป็นการขอบคุณ
เทศกาลไหว้พระจันทร์อาจถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมในแถบเอเชีย มีทั้งแบบที่พัฒนากลายเป็นของตนเองอย่าง “เทศกาลชมจันทร์” (ทสึกิมิ) ของญี่ปุ่น หรือ “เทศกาลชูซ็อก” ฉลองการเก็บเกี่ยวในคืนเดือนเพ็ญของเกาหลี
อีกแบบคือที่รับมาโดยตรงจากคนจีนโพ้นทะเลแล้วนำมาปรับเปลี่ยนเพียงบางส่วน เช่นในไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน ฯลฯ
ที่มาและความสำคัญของขนมไหว้พระจันทร์
สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้ ไม่พ้น “ขนมไหว้พระจันทร์” หรือ “เยว่ปิง” (月餅) ที่ไม่ว่าจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีนหรือสายไหนๆ จะร่วมฉลองหรือไม่ ส่วนมากก็รู้จักและเคยลองกินมาแล้ว
บางตำนานว่า นี่เป็นขนมที่โฮ่วอี้ทำให้ฉางเอ๋อ บ้างก็ว่า ขนมไหว้พระจันทร์ มีที่มาจากขนมที่พ่อค้าชาวทิเบตทำมามอบพระเจ้าถังเกาจู่แห่งราชวงศ์ถัง หลังส่งกำลังไปกำราบเผ่าซงหนูนอกด่านได้สำเร็จ
พระเจ้าถังเกาจู่ได้แบ่งขนมให้แม่ทัพกับขุนนาง และพอดีวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนแปด พระเจ้าถังเกาจู่ที่กำลังมีความสุข จึงบอกให้ชวนพระจันทร์มากินขนมด้วย …จากนั้นจึงมีการใช้ขนมไหว้พระจันทร์เฉลิมฉลองเป็นต้นมา
แต่เรื่องเล่าที่ดังที่สุด และหลายคนอาจจะได้ยินมาแล้ว คือเรื่องที่เกิดในเหตุการณ์ “ปฏิวัติราชวงศ์หยวน”
ราชวงศ์หยวนนี้เป็นชาวมองโกล สถาปนาขึ้นโดยกุบไลข่าน หลานเจงกิสข่าน …ชาวมองโกลกดขี่คนจีนหรือชาวฮั่นที่อยู่มาแต่เดิมอย่างหนัก ทำให้ประชาชนไม่พอใจ
ช่วงนั้นมีกลุ่มต่อต้านเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือกลุ่มของ “จูหยวนจาง” ซึ่งเตรียมการนัดหมายลุกฮือในวันไหว้พระจันทร์
จูหยวนจางได้ออกอุบายทำขนมฉลองเทศกาลแจกจ่ายชาวจีนโดยมีข้อความแทรกไว้ พอคนกินขนม ก็จะเห็นข้อความดังกล่าว ทำให้รวมกำลังชาวจีนได้เป็นอันมากโดยชาวมองโกลไม่ทราบ
สุดท้ายราชวงศ์หยวนก็ถูกโค่นในที่สุด จูหยวนจางได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง และคนก็กินขนมไหว้พระจันทร์เพื่อเฉลิมฉลองสืบมา
ขนมไหว้พระจันทร์นั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของจีน บางที่อาจแป้งนุ่ม บ้างอาจแป้งร่วนคล้ายขนมเปี๊ย แต่หลักๆ แล้วก็เป็นขนมที่มีไส้ด้านใน ห่อด้วยแป้ง ซึ่งประทับตัวอักษรมงคลไว้ด้านบน โดยไส้ในหลักๆ แล้วก็จะมี…
– เม็ดบัว หมายถึง ความบริสุทธิ์ ความสงบ อายุยืน
– พุทราจีน หมายถึง ความหวัง ความร่ำรวย
– โหงวยิ้ง หรือ ธัญพืชมงคล 5 อย่าง ซึ่งมักเป็นถั่วหรือเมล็ดพืชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เมล็ดฟักทอง, งา, ถั่วลิสง ฯลฯ โดยบางมณฑลอาจมีการเพิ่มไส้พิเศษลงไป เช่น แฮม, รากบัว เป็นต้น
การไหว้พระจันทร์ในไทย
เมื่อชาวจีนเดินทางมาสู่เมืองไทย ก็ได้นำธรรมเนียมของตนติดตัวมาด้วย เกิดเป็นวัฒนธรรมย่อยในไทยขึ้น
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุว่า ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีชาวจีนอพยพมาไทยจำนวนมาก เทศกาลจีนต่างๆ ที่มีการปฏิบัติในไทยอยู่แล้วเซ่นไหว้พระจันทร์ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นไปด้วย
แต่ก่อนตอนนั้น วันไหว้พระจันทร์ถือว่าเป็นเทศกาลสำคัญไม่แพ้ตรุษจีนหรือสารทจีน มีการตกแต่งด้วยโคมไฟสวยงามยิ่งใหญ่
ชาวไทยเชื้อสายจีนจะมีการไหว้ 3 ครั้งในวันไหว้พระจันทร์ ได้แก่ตอนเช้า, ตอนสาย-เที่ยง และตอนกลางคืน
เช้าจะเป็นการไหว้ตี่จู้หรือเจ้าที่ประจำบ้านด้วยผลไม้ ส่วนช่วงสาย-เที่ยง จะไหว้บรรพบุรุษแบบสารทจีน แต่ใช้ขนมไหว้พระจันทร์แทนขนมเข่ง ส่วนตอนกลางคืนค่อยเป็นการไหว้พระจันทร์จริงๆ
ภายหลัง ความสำคัญของเทศกาลไหว้พระจันทร์ในไทย โดยเฉพาะในเมืองกรุงน้อยลงไปกว่าแต่ก่อน การประดับประดาไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการเช่นตรุษจีนอีก การไหว้เองสำหรับคนส่วนใหญ่ก็ลดเหลือเพียงไหว้พระจันทร์ตอนกลางคืน
…แต่สิ่งหนึ่งที่ยังฮิตอยู่เสมอหรืออาจมากขึ้นด้วยซ้ำคือขนมไหว้พระจันทร์นี่เอง…
ขนมไหว้พระจันทร์ของไทยนั้น มีที่มาจากแบบกวางตุ้ง แป้งหนาแต่นิ่ม และมีไส้แน่น โดยไส้ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยคือ ไส้ทุเรียนกวน
เชื่อกันว่าขนมไหว้พระจันทร์ไส้นี้ มาจากที่คนสมัยก่อนต้องการถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน จึงนำทุเรียนไปกวน ต่อมาก็นำไปทำไส้ขนมต่างๆ รวมถึงขนมไหว้พระจันทร์
จากนั้นเป็นต้นมา ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียนกวนก็กลายเป็นไส้ยอดฮิตสุดคลาสสิคประจำประเทศไทยที่หลายๆ จนหลายคนเข้าใจว่าเป็นของต้นตำรับจากจีนด้วยซ้ำ
ความเปลี่ยนแปลงของขนมไหว้พระจันทร์ในปัจจุบัน
อย่างที่เห็นได้ว่า ขนมไหว้พระจันทร์ถูกปรับให้เข้ากับท้องถิ่นนั้นๆ ตั้งแต่คนจีนย้ายไปตั้งรกรากใหม่ๆ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจอะไร ที่ขนมไหว้พระจันทร์ในปัจจุบันจะมีความหลากหลายจนเปรียบได้ว่าเป็นการประชันความคิดสร้างสรรค์ของคนจีนโพ้นทะเลยุคใหม่ ไม่ว่าจะในประเทศไหนๆ
เช่นที่ฮ่องกง ก็มีการทำไส้คัสตาร์ดหรือไข่เค็มลาวาขึ้นมา หรือที่ไต้หวัน ก็มีการนำของขึ้นชื่ออย่างสับปะรดกวนมาทำไส้เช่นกัน
นอกจากนี้ก็ยังมีไส้ใหม่ๆ เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ส้ม, ไส้ช็อกโกแลต, ไส้ชาเขียว, ไส้มะม่วง, ไส้ครีมชีส และอีกมากมายจนนับไม่หมด
นอกจากนี้ แบรนด์ต่างๆ ยังเข้ามาร่วมทำขนมไหว้พระจันทร์ในแบบของตนเอง ผสมผสานสินค้าเดิมของตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมจีน เพื่อดึงดูดตลาดคนเชื้อสายจีนยุคใหม่ๆ และคนอื่นๆ ที่สนใจกินขนมตามเทศกาล
ดังนั้นเราจึงเห็นขนมไหว้พระจันทร์ในแบบของ McDonald’s, Starbucks, Harrods, Gucci ฯลฯ หรือแม้กระทั่งขนมไหว้พระจันทร์ลาย The Avengers ก็มีเช่นกัน
สรุป
ขนมไหว้พระจันทร์และเทศกาลไหว้พระจันทร์นั้นล้วนมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน แม้ปัจจุบันจะถูกลดความสำคัญลงไปจากเดิมโดยเฉพาะในไทยเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
…อาจเป็นเพราะความเร่งรีบจนไม่มีเวลาชมความงามของพระจันทร์เช่นในอดีต หรืออาจเป็นเพราะคนเรามองพระจันทร์เป็นเพียงดาวบริวารของโลกตามหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ที่สถิตของเทพีแห่งดวงจันทร์อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม คนเชื้อสายจีนตามประเทศต่างๆ ยังพยายามสืบทอดวัฒนธรรมนี้อยู่ โดยปรับเปลี่ยนพิธีการให้เข้ากับยุคสมัยและความสะดวก ปรับขนมไหว้พระจันทร์ที่แต่ก่อนใช้เพียงไหว้ มาเป็นขนมที่ใครๆ ก็เข้าถึงและลิ้มรสได้ ไม่จำต้องเป็นแค่คนเชื้อจีน เพื่อให้ธรรมเนียมการทำขนมชนิดนี้คงอยู่ต่อไป
ซึ่งต้องถือว่าการตัดสินใจเช่นนี้เป็นเรื่องดี เพราะหากวัฒนธรรมยังมีการพัฒนาให้ทันสมัย แม้บริบทบางอย่างอาจเปลี่ยนไป แต่มันก็จะไม่ตกยุค และมีการส่งต่อไปได้อีกหลายรุ่น เพราะไม่มีใครรู้สึกว่าเชยนั่นเอง
0 Comment