มัวร์ (Moors) คือใคร? นี่คงเป็นคำถามที่ใครหลายคนสงสัย...หากได้อ่านประวัติศาสตร์ยุโรปที่กล่าวถึงชาวมัวร์

ภาพชาวมัวร์ (Moors)

หรือบทละครชื่อดังเรื่อง "โอเทลโล" (Othello) ของวิลเลียม เชกสเปียร์ที่กล่าวถึงตัวเอกชาวมัวร์ ซึ่งทำให้ชาวมัวร์ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของความชั่วร้าย

หากความเป็นจริงแล้ว มัวร์คือใครกันแน่? แล้วพวกเขามีที่มาอย่างไร และทำไมถูกเรียกว่า มัวร์?

ทาง The Wild Chronicles จะมาอธิบายเกี่ยวกับ “มัวร์” กันครับ…

มัวร์ (Moors) คือใคร?

“มัวร์” (Moor) เป็นคำที่ชาวคริสต์ในยุโรปใช้เรียกชาวมุสลิมทั่วไป ซึ่งแต่เดิมมีความหมายถึงชาวมุสลิมเบอร์เบอร์จากแอฟริกาเหนือ และในยุคกลาง มีความหมายครอบคลุมถึงชาวมุสลิมจากแอฟริกาเหนือ คาบสมุทรไอบีเรีย ซิซิลี และมอลตาในยุคกลาง จนกลายเป็นคำเรียกถึงชาวมุสลิม ซึ่งคล้ายคลึงกับคำว่า “แขก” ของไทยที่ใช้เรียกผู้ที่มาจากแดนไกลทั้งหลายจากอินเดีย มลายู และตะวันออกกลาง…

ชาวมัวร์เล่นหมากรุกกับชาวยุโรป

สาเหตุที่ชาวยุโรปเรียกชาวมุสลิมเชื้อสายเบอร์เบอร์ว่า “มัวร์” เป็นเพราะว่า ชาวเบอร์เบอร์เหล่านี้อาศัยอยู่บนพื้นที่แอฟริกาเหนือที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน โดยชาวโรมันเรียกพื้นที่ในปกครองแห่งนี้ว่า “มอริเตเนีย” (Mauritania) จึงทำให้ชาวยุโรปนิยมเรียกชาวมุสลิมจากพื้นที่ดังกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า “มัวร์”

ดินแดนมอริเตเนีย (Mauritania) ต้นกำเนิดชาวมัวร์
ดินแดนมอริเตเนีย

โดยรากของคำว่า “มัวร์” นั้นไม่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่า คำๆ นี้สามารถสืบย้อนไปถึงคำว่า “มอฮูริน” (Mahurin) ในภาษาฟินิเชียนที่แปลว่า “ชาวตะวันตก” ซึ่งได้กลายเป็นคำว่า “มอรัส” (Maurus) ในภาษาละติน ซึ่งชาวโรมันใช้เรียกชาวเบอร์เบอร์และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่มอริเตเนีย

ต่อมาราวๆ กลางศตวรรษที่ 7 กองทัพอาหรับมุสลิมได้เข้ามามีอำนาจในแอฟริกาเหนือ และทำให้ชาวเบอร์เบอร์หันมานับถือศาสนาอิสลาม

กองทัพอาหรับมุสลิม

และในปี 711 ชาวมุสลิมจากแอฟริกาเหนือก็สามารถยึดคาบสมุทรไอบีเรีย (ปัจจุบันคือสเปนและโปรตุเกส) โดยดินแดนอิสลามแห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ ชาวมุสลิมยังสามารถยึดครองเกาะซิซิลี และมอลตาได้อีกด้วย

Moors-Arab Land

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความแข็งแกร่งของรัฐมุสลิมลดน้อยลง ชาวคริสเตียนที่ไม่พอใจการปกครองของชาวมัวร์ จึงสามารถขับไล่ชาวมัวร์ออกจากยุโรปไปได้ในช่วงศตวรรษที่ 15 และทำให้ชาวมัวร์ไม่อาจรุกคืบไปยังยุโรปได้อีกเลย

สงครามเรกองกิสตา (Reconquista)

ศรีษะของชาวมัวร์ - สัญลักษณ์แห่งชัยชนะ

เพื่อยกย่องถึงชัยชนะเหนือชาวมุสลิม แคว้นอารากอนได้นำรูปศีรษะของชาวมัวร์มาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ขับไล่ชาวมัวร์ในสเปน และกลายเป็นสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรซาร์ดิเนียและคอร์ซิกา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแคว้นอารากอน จนมาเป็นตราสัญลักษณ์ของดินแดนทั้งสองในปัจจุบัน

ธงคอร์ซิกา
ธงซาร์ดิเนีย

นอกจากนี้ ศรีษะของชาวมัวร์ยังไปปรากฎบนตราประจำตระกูลและตราประจำเมืองในพื้นที่ต่างๆ ทั่วยุโรป รวมไปถึงตราประจำตัวของพระสันตปาปาเบเนดิกต์ที่ 16

ตราประจำตัวของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16

ความหมายของ "มัวร์" ที่เปลี่ยนแปลงไป

 หากคำว่า “มัวร์” ก็ได้กลายเป็นคำเรียกเหมารวมชาวมุสลิมโดยชาวยุโรปไปเสียแล้ว นอกจากนี้ คำว่า “มัวร์” ยังถูกใช้เรียกคนผิวสี เพราะถือว่าชาวมัวร์มีมีผิวคล้ำกว่าชาวยุโรป และคนผิวดำส่วนมากที่ได้ติดต่อกับยุโรปนิยมนับถือศาสนาอิสลาม

ในตอนนั้น คำว่า “มัวร์” จึงมีหมายความถึงชาวมุสลิมหรือคนที่มีผิวสีเข้ม ซึ่งทำให้บางครั้ง ชาวยุโรปจะแยกแยะเป็นคำว่า “ชาวมัวร์ผิวดำ” กับ “ชาวมัวร์ผิวขาว”

ชาวมัวร์ผิวดำ (Black Moors))

ภาพจำของชาวมัวร์ในสายตาคนยุโรป คือ ชาวมุสลิมและคนผิวดำซึ่งเป็นตัวแทนของการค้าระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย และแอฟริกา แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่น่าเกลียด มีนิสัยโหดร้าย หมกหมุ่นเรื่องเพศ อิจฉาริษยา เจ้าเล่ห์ ทรยศ และถูกเชื่อมโยงกับบาปและความชั่วร้าย

นี่จึงทำให้เมื่อวิลเลียม เชกสเปียร์ นักเขียนชาวอังกฤษชื่อดัง แต่งบทละครเรื่องโอเทลโล (Othello) ก็ได้สร้างภาพของ “โอเทลโล” ตัวเอกของเรื่องเป็นชาวมัวร์ผิวดำ ซึ่งมีความสามารถทางการทหารจนได้เป็นแม่ทัพของแคว้นเวนิส แต่ก็ถูกพรรณนาว่าเป็นคนแปลกประหลาด เจ้าชู้ และไม่น่าไว้วางใจ ถือเป็น”ชาวมัวร์หื่นกาม” ที่ได้แต่งงานกับผู้หญิงผิวขาว

โอเทลโล (Othello)

นอกจากนั้น ชาวยุโรปยังนำคำว่ามัวร์ไปเรียกชาวมุสลิมในพื้นที่อาณานิคม โดยชาวโปรตุเกสได้เรียกชาวมุสลิมในศรีลังกาว่า ” ซีลอนมัวร์ ” และเรียกคนมุสลิมในอินเดียว่า ” อินเดียนมัวร์ “

อินเดียนมัวร์
ซีลอนมัวร์

ส่วนสเปนก็ได้เรียกชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์ทางตอนใต้บริเวณเกาะมินดาเนาว่า “ชาวโมโร ” ซึ่งคำเรียกมัวร์ในภาษาสเปน และกลายเป็นชื่อที่ชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์นำมาเรียกตนเองและใช้เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม 

ธงของชาวมุสลิมโมโร

ในไทยก็มีการใช้คำว่า “มัวร์” ด้วยเช่นกัน โดยในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการเรียกชาวมุสลิมจากตะวันออกลาง, แอฟริกาเหนือ, เปอร์เซีย, ตุรกี, อินเดีย, รวมไปถึงลูกครึ่งอินเดีย-เปอร์เซีย ว่า “แขกมัวร์” ตามฝรั่ง ซึ่งกลุ่มแขกมัวร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาถือเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญและมีบทบาทเป็นอย่างมากในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งเข้ามาค้าขาย และรับราชการทั้งทางฝ่ายทหารและพลเรือน

แขกมัวร์ในอยุธยา

"มัวร์" ในปัจจุบัน

ถึงแม้คำว่า “มัวร์” จะไม่ได้เป็นคำเรียกเชื้อชาติอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ก็มีความหมายในเชิงเหมารวม ซึ่งทำให้ลดทอนรายละเอียดทางชาติพันธุ์ จึงทำให้เมื่อมนุษย์มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางชาติพันธุ์วรรณาที่ลึกซึ้งและเข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น ผู้คนในยุคใหม่ก็เลยเลิกพูดเหมารวมชาวมุสลิมว่า “มัวร์” จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามทำให้ความหมายของคำแคบลง จนทำให้คำว่า “มัวร์” กลายเป็นเพียงชื่อเรียกชาวมุสลิมในแอฟริกาเหนือและยุโรปบนหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นชื่อเรียกสถาปัตยกรรมแบบมัวร์ (Moorish Artitechture) สถาปัตยกรรมแบบอิสลามผสมเบอร์เบอร์ที่ปรากฏในโมร็อกโกและสเปนตอนใต้ ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่น คือ ซุ้มประตูลักษณะโค้งคล้ายเกือกม้า (Horseshoe arch)

สถาปัตยกรรมแบบมัวร์ (Moorish Artitechture)

หากคำว่า “มัวร์” ยังคงหลงเหลืออีกบ้างในปัจจุบัน อย่างเช่น “โมโรสและคริสเตียโนส” (Moros y Cristianos) อาหารคิวบาที่ทำจากข้าวและถั่ว ซึ่งชื่ออาหารจานนี้อ้างอิงถึงการปกครองของชาวมุสลิมในคาบสมุทรไอบีเรีย โดยให้ความหมายว่า ถั่วคือชาวมุสลิม และข้าวคือชาวคริสต์

โมโรสและคริสเตียโนส” (Moros y Cristianos) อาหารคิวบาที่ทำจากข้าวและถั่ว

หรือเทศกาลโมโรสและคริสเตียโนส (Moros y Cristianos) ซึ่งจัดขึ้นในเมืองต่างๆ ของสเปน อเมริกากลางและอเมริกาใต้ รวมไปถึงฟิลิปปินส์ เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ระหว่างชาวมัวร์และคริสเตียนในช่วงเวลาที่เรียกว่า “เรกองกิสตา” (Reconquista) ซึ่งชาวคริสเตียนสามารถเอาชนะชาวมัวร์และพิชิตดินแดนสเปนคืนมาจากอำนาจของมุสลิม

เทศกาลโมโรสและคริสเตียโนส (Moros y Cristianos)

นี่จึงแสดงให้เห็นว่า “มัวร์” ได้กลายเป็นร่องรอยหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นอำนาจของศาสนาอิสลามที่เคยรุกคืบไปถึงยุโรป แต่มันกลายเป็นคำเรียกชาวมุสลิมแบบเหมารวมตามบริบทในตอนนั้น ที่คนในปัจจุบันก็ได้เลิกใช้ไปแล้ว

ร่องรอยของอารยธรรมและศิลปะ “มัวร์” ที่ทิ้งมรดกให้เราให้เห็นอย่างชัดเจนได้ จึงมีเพียงสถาปัตยกรรมแบบมัวร์ (Moorish Artitechture) ซึ่งไปปรากฏให้เห็นในประเทศโมร็อกโก ประเทศต้นกำเนิด โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ สถาปัตยกรรมทั้งหลายในมาราเกช, เม็กเนส, เฟซ, และราบัต

…จบลงไปแล้วครับ ประวัติศาสตร์ของ “มัวร์” (Moors) แบบสรุปเข้าใจง่าย หวังว่าท่านผู้อ่านจะชื่นชอบบทความนี้กันนะครับ…

และหากใครสนใจไปเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมแบบมัวร์ และซึมซับความเป็นโมร็อกโกขนานแท้ที่ 4 เมืองนี้…

ตอนนี้เรามี “ทัวร์โมร็อกโก” (Morocco) โดยเราจะพาท่านไปสัมผัสประสบการณ์สุดคุ้มค่าและประทับใจที่แดนดินถิ่นตะวันตก

รับประสบการณ์ที่แตกต่าง และสัมผัสบรรยากาศแบบใหม่ที่อาจไม่เคยลิ้มลอง หากท่านใดสนใจขอโปรแกรม สามารถติดต่อได้ทาง inbox หรือแอด LINE OA ได้ที่ @thewildchronicles (พิมพ์ @ ด้านหน้า) และพิมพ์ว่า “สนใจทัวร์โมร็อกโก” ได้เลยนะครับ หรือกดปุ่ม “จองทัวร์” ได้เลยครับ

ทัวร์โมร็อกโก (Grand Morocco: of dusk and dune)

ประวัติศาสตร์โมร็อกโก (History of Morocco) – สรุปเข้าใจง่าย

“ราชินีโจรสลัดแห่งโมร็อกโก” – ซัยยิดะห์ อัล ฮูร์รา