ท่านผู้อ่านหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของ “เงินถุงแดง” ที่รัชกาลที่ 3 เก็บไว้ให้ใช้ไถ่บ้านเมือง และรัชกาลที่ 5 ใช้จ่ายเป็นค่าปฏิกรรมสงครามแก่ฝรั่งเศสในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 กันมาบ้าง

เวลาผ่านไป เมื่อมีผู้ไปค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ กลับไม่ปรากฏบันทึกเกี่ยวกับ “เงินถุงแดง” ก่อนยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองเลยเลย เรื่องราวทั้งหมด เป็นเรื่องที่พูดกันภายหลัง …นั่นจึงนำสู่คำถามที่ว่า มีการจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามจริงไหม? เงินที่ชำระเป็นเงินถุงแดงใช่หรือไม่? หรือเงินถุงแดงมีอยู่แต่แรกจริงหรือเปล่า?

…และถ้าหากมันเป็นเรื่องไม่จริง เหตุใดเราจึงเชื่อกันมาเช่นนี้?…

บทความนี้ จะพาท่านผู้อ่านไปค้นหาคำตอบของเรื่องราวดังกล่าว โดยจะเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 สืบต่อถึงรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งปัจจุบัน ข้อมูลในบทความนี้เรียบเรียงจากงานวิจัยของจากคุณอุ้ย – ธีรภัทร เจริญสุข อาจารย์และนักวิชาการอิสระนะครับ

ตามคำบรรยายหลักของตำนานเงินถุงแดงจะกล่าวกันประมาณว่า ในยุครัชกาลที่ 3 นั้น ไทยเคยมีความเชื่อว่าจีนเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ที่ควรค้าขายด้วย

แต่ต่อมาเมื่อปรากฏชัดว่าจีนนั้นนับวันจะเสื่อมลง ขณะ “ฝรั่ง” จะกลายเป็นมหาอำนาจของโลก รัชกาลที่ 3 จึงมีพระราชดำรัสว่า…

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดี ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสนำเรือบุกมาประชิดไทยหรือตอนนั้นคืออาณาจักรสยาม

เมื่อรบกันแล้วฝรั่งเศสมีชัย ก็เรียกร้องให้ไทยยกดินแดนและชำระค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมาก ตรงนี้มีคำบรรยายหลักจะบอกว่าเรายากจน ไม่มีเงินชำระค่าปฏิกรรมสงครามดังกล่าว แต่ไปได้ “เงินถุงแดง” ที่รัชกาลที่ 3 ค้าขายกับจีนและเก็บไว้ในกำปั่น (หีบเหล็ก) ข้างพระแท่น จนนำมาสามารถไถ่บ้านไถ่เมืองได้สำเร็จ

แต่ประเด็นคือจากหลักฐานช่วงรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 5 ไม่มีการระบุถึงเงินดังกล่าวเลย ไม่ว่าจะเอกสารของไทยหรือทางฝรั่งก็ตาม ทั้งๆ ที่ในสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 เจ้านายและขุนนางมักเขียนจดหมายส่งหากันมากมาย มีการบันทึกไว้อย่างดี…

…ดังนั้นจึงเป็นคำถามต่อมาว่า “ลูกแกะสยาม” รอดจาก “หมาป่าฝรั่งเศส” มาได้อย่างไร?

ต่อไปนี้จะเป็นการตอบ 3 ประเด็นที่ทับซ้อนกันอยู่ คือ

1) ไทยจ่ายเงินจริงหรือไม่?
2) เงินมาจากไหน?
3) เป็นเงินสกุลอะไร?

1) ไทยจ่ายเงินจริงหรือไม่?

อ้างจากหนังสือพิมพ์ เลอ มงด์ อิลุสเตร์ (Le Monde Illustre) ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน 1893 ระบุไว้ว่า ไทยจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้ฝรั่งเศสจำนวน 3 ล้านฟรังก์ (คำนวณจากความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการแล้ว เท่ากับประมาณ 554 ล้านบาทไทยในปัจจุบัน) ด้วยเงินเม็กซิกัน (Piastre Mexicaines) จำนวนมากถึง 8 แสนเหรียญ

ข้อความใกล้เคียงมีระบุในหนังสือ The People and Politics of the Far East ปี 1895 ของฝั่งอเมริกา

อย่างไรก็ตามค่าเงินที่บันทึกไว้ในหนังสือนี้ระบุว่าเป็นเงินดอลลาร์ (Silver Dollar) จำนวน 2.5 ล้านฟรังก์ และออกเป็นตั๋วแลกเงินที่ไซ่ง่อนอีก 5 แสนฟรังค์

แม้จะไม่ปรากฏยอดเงินหรือเอกสารรับเงินในเอกสารบันทึกของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในปี 1893 – 1902 แต่เรามียอดเงินที่เสียไปใกล้เคียงกันถูกบันทึกในงบประมาณรายจ่ายของไทยในปี ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436 หรือคือปีเหตุการณ์ ร.ศ. 112)

…ดังนั้นข้อสงสัยประการแรกจึงได้คำตอบชัดเจนว่า ไทยได้จ่ายเงินไถ่บ้านเมืองไปจริง…

ส่วนในการจะตอบคำถามที่ 2 ว่าเงินมาจากไหน เราต้องย้อนดูความเป็นไปได้ทั้งหมด ซึ่งก็จะเริ่มจากความเป็นไปได้เรื่องเงินถุงแดงของรัชกาลที่ 3 ก่อน…

รัชกาลที่ 4 เคยมีพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นอมรมนตรีซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ สรุปใจความได้ว่า

รัชกาลที่ 3 มีเงินมรดกให้พระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไปจำนวน 40,000 ชั่ง (คำนวณจากความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการแล้ว เท่ากับประมาณ 1,846 ล้านบาทในปัจจุบัน) แต่ได้มอบหมายให้นำเงิน 10,000 ชั่งไปบูรณะวัดที่คั่งค้างไว้ให้แล้วเสร็จ จึงเหลือ 30,000 ชั่ง (ราว 1,385 ล้านบาทในปัจจุบัน)

ในช่วงรัชกาลที่ 4 เกิดเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือมีการทำ “สัญญาเบาว์ริ่ง” ระหว่างอังกฤษและไทย

สัญญานี้ทำให้ไทยมีการเปิดเสรีการค้ามากขึ้น ทำให้การค้าเอกชนเจริญรุ่งเรือง โดย ร.4 เองมีโองการสนับสนุนให้พ่อค้าขุนนางรับเหรียญฝรั่งมาใช้ จากที่ตอนแรกยังไม่ได้ใช้แพร่หลาย

อย่างไรก็ตามการค้าเสรีนั้นต้องใช้เวลาพัฒนา สัญญาเบาว์ริ่งนี้เมื่อแรกทำได้ส่งผลให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง (เพราะไม่ผูกขาดเหมือนเก่า)

เมื่อประกอบกับการลงทุนพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก โดยเฉพาะการพัฒนากองทัพ ทำให้เมื่อสิ้นรัชสมัยร. 4 นั้นปรากฏว่าทางราชการเป็นหนี้อยู่ถึง 100,000 ชั่ง (ประมาณ 2,840 ล้านบาทในปัจจุบัน คำนวณเงินเฟ้อเพิ่มจากยุค ร.3)

โดยปรากฏผ่านหลักฐานของพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ที่มีถึง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรสว่า…

“…ในเวลาครึ่งปีต่อมา เงินภาษีอากรก็ลดเกือบหมดทุกอย่าง ลดลงไปเป็นลำดับ จนถึงปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. ๒๔๑๔) เงินแผ่นดินที่เคยได้อยู่ปีละ ๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ชั่งนั้น เหลือจำนวนอยู่ ๔๐,๐๐๐ ชั่ง แต่ไม่ได้ตัวเงินกี่มากน้อย แต่เงินเบี้ยหวัดปีละ ๑๑,๐๐๐ ชั่ง ก็วิ่งตาแตก ได้เงินในคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นของเจ้าหน้าที่วิ่งมาหาเป็นพื้น นอกนั้นก็ปล่อยค้าง ที่ได้เงินตัวจริงมีประมาณ ๒๐,๐๐๐ ชั่งเท่านั้น … เงินไม่พอจ่ายราชการต้องเป็นหนี้ตั้งแต่งานพระบรมศพมาจนปีมะแมนี้ (พ.ศ.๒๔๑๔) เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ ชั่ง เพราะเหตุเช่นนี้ หม่อมฉันจึงนิ่งอยู่ไม่ได้ จับจัดการคลังมหาสมบัติ…”

แต่เหตุนี้เองก็เป็นปัจจัยให้รัชกาลที่ 5 จ้างที่ปรึกษาตะวันตกเข้ามาในปี 1871 เพื่อปฎิรูปการคลัง การเก็บภาษี และเริ่มทำบัญชีอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 1892

หลังจากนั้น ไทยก็เก็บภาษีได้มากขึ้นและมีหลักฐานชัดเจนขึ้น…

ตั้งแต่ปี 1892 ไทยเก็บภาษีได้มากถึงปีละ 15.37 ล้านบาท (ประมาณ 5,458 ล้านบาทในปัจจุบัน) ส่วนมากมาจากอากรบ่อนเบี้ย อากรสุรา อากรฝิ่น อากรหวย (ปัจจุบันเรียก “ภาษีบาป”) รวมกันเป็นเงินมากถึงกว่าครึ่งของรายได้แผ่นดินทั้งหมด เรียกว่ามั่งคั่งร่ำรวยขึ้นเป็นอันมากอย่างพลิกฟ้าคว่ำดิน โดยไม่ต้องพึ่งระบบเจ้าภาษีนายอากรและการค้าผูกขาดแบบสมัยก่อนแล้ว

หากคิดเป็นชั่งตามแบบเดิม เงิน 15.37 ล้านบาท มีค่าเท่ากับ 1.9 แสนชั่ง มากกว่าเงินแผ่นดินที่เก็บได้ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งเก็บได้เพียงปีละ 2 หมื่นชั่งเกือบ 10 เท่า

แล้วเงินจำนวนนี้เท่ากับกี่ฟรังก์? ถ้าเราเปรียบเทียบกับเงินฟรังก์ฝรั่งเศสก่อนเปลี่ยนเป็นสกุลยูโรก็คงมากอยู่ แต่ฝรั่งเศส ณ ปี 1893 หรือ ร.ศ. 112 ไม่ได้ยิ่งใหญ่เพียงนั้น

ตั้งแต่ปี 1870 ประเทศยังไม่ฟื้นตัวดีจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (เยอรมันในปัจจุบัน) อีกยังเพิ่งล้มจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และตั้งสาธารณรัฐที่ 3 ได้ไม่นาน …ค่าเงินฟรังก์จึงมีเพียงครึ่งเดียวของเงินบาทเท่านั้นเอง

ดังนั้น ค่าปฏิกรรมสงคราม 3 ล้านฟรังก์ฝรั่งเศส ก็อาจเทียบได้กับเงินบาทประมาณ 1.56 ล้านบาท (หรือตามที่กล่าวว่าราว 554 ล้านบาทในปัจจุบัน) นับเป็นจำนวนเงิน 11% ของงบประมาณแผ่นดินในปี ร.ศ.112 ใกล้เคียงกับน้ำหนัก 23 ตันของเงินเหรียญที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ เลอ มงด์ อิลุสเตร์

หลังการจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงคราม และค่าใช้จ่ายในการรบแล้ว ไทยยังมีเงินคงคลังในปี 1894 เหลือถึง 7.6 ล้านบาท (ประมาณ 2,700 ล้านบาทในปัจจุบัน) ไม่ได้เข้าเนื้อหนักอย่างที่คิดกัน

…ถ้ารัชกาลที่ 5 มีเงินไปชำระค่าปฏิกรรมสงครามได้เองแล้ว เรื่องเงินถุงแดงมีที่มาอย่างไร?

อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่า “เงินถุงแดง” ไม่เคยปรากฏอยู่ในหลักฐานชิ้นใดๆ ระหว่างช่วงรัชกาลที่ 3 – 5 เลย จะมีกล่าวถึงครั้งแรกก็ใน “สาส์นสมเด็จ ภาค 13” จดหมายระหว่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ในปี 1938 (หรือ พ.ศ. 2481 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง)

ในจดหมายระบุว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ยินว่า รัชกาลที่ 3 นำเงินที่ค้าขายมาได้ใส่ถุงสีแดง เก็บไว้ในกำปั่นข้างพระแท่น แต่พระองค์ไม่ได้เห็นจริงๆ กับตัว และไม่ได้กล่าวด้วยว่านำเงินส่วนนี้ไปจ่ายให้ฝรั่งเศส

…อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดู สมัยนั้นหนึ่งบาทหนักประมาณ 15.2 กรัม ถ้ามีเงิน 30,000 ชั่ง ก็จะหนัก 36.48 ตัน

เงินจำนวนมากเพียงนั้นไม่น่าจะเก็บใส่ถุงแล้วใส่หีบวางไว้ข้างพระแท่นได้ จะต้องใส่เป็นโกดัง

เวลาผ่านไป ในปี 1985 ได้มีการตีพิมพ์ประชุมพระนิพนธ์ของ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งเป็นพระธิดาในสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มีข้อความว่า

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงเก็บเงินไว้ไถ่บ้านไถ่เมืองก็ได้ใช้จริงในคราวนี้ (เหตุ ร.ศ. 112) เจ้านายในวังเทเงินถวายกันจนเกลี้ยง ใส่ถุงขนออกจากในวังไปลงเรือ…

แต่ท่านก็ได้กำชับไว้ด้วยว่าเป็นเรื่องเล่าของคนเก่าแก่ในวัง มากกว่าจะเป็นหลักฐานชัดเจน

จนมาถึงปี 1997 (พ.ศ. 2540) ตอนนั้นเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้น หลายภาคส่วนล้มละลายเกือบทั้งประเทศ

หลวงตามหาบัวจากวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี จึงได้จัดตั้งโครงการ “ผ้าป่าช่วยชาติ” เพื่อระดมเงินและทองคำกอบกู้วิกฤตหนี้สินและเก็บเป็นเงินทุนสำรองของชาติ

ด้วยเหตุนี้ ตำนานเงินถุงแดงจึงได้รับการกลับมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง โดยลูกศิษย์หลวงตามหาบัวนำมาเปรียบเทียบกับการทำบุญครั้งนี้ ทำให้คนเกิดภาพจำขึ้นว่าเราเคยมี “เงินถุงแดง” ช่วยชาติจริงๆ

มาถึงคำถามสุดท้าย… แล้วไทยจ่ายเงินให้ฝรั่งเศสเป็นสกุลอะไร?

ในเอกสารของฝรั่งเศส ระบุว่าเป็น “เหรียญนกเม็กซิกัน” ซึ่งเป็นหนึ่งในเงินตราหลักของโลกยุคนั้นที่ได้รับการยอมรับ เม็กซิโกในสมัยนั้นเป็นประเทศใหญ่มีอิทธิพลทางการเงินเนื่องจากมีเหมืองเงิน

อย่างไรก็ตาม เหรียญเม็กซิกันนั้นเพิ่งการมีหมุนเวียนออกนอกประเทศในปี 1823 หลังเม็กซิโกเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ

ต่อมาเงินเหรียญเม็กซิโกกลายเป็นสกุลเงินหลักทางการค้าระหว่างประเทศข้ามแปซิฟิกหลังปี 1857 และถ้าใช้เงินสกุลนี้จริง คงเป็นรุ่นที่ผลิตขึ้นหลังปี 1875 หลังประเทศเม็กซิโกปฏิรูปการเงินและการผลิตเหรียญให้มีมาตรฐาน

คนสยามเริ่มรับเงินเหรียญนกเม็กซิโกผ่านการค้าส่งออกข้าวหลังพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 4 ให้รับเหรียญเงินฝรั่ง และมีการส่งออกข้าวอย่างเสรีหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง โดยยังมีการตอกพระราชลัญจกรเพื่อทำให้เหรียญฝรั่งมีค่าเป็นเงินบาทใช้แลกเปลี่ยนในประเทศด้วยส่วนหนึ่ง ก่อนที่จะทรงนำเข้าเครื่องทำเหรียญกษาปณ์จากอังกฤษมาผลิตเหรียญบาทไทยในภายหลัง

ภาษีของไทยหลักๆ มาจากภาษีหวย บ่อน สุรา ฝิ่น รวมถึงภาษีศุลกากรในการส่งออก นำเข้า การเก็บภาษีมาจากเจ้าของกิจการมากกว่าราษฎรทั่วไป การที่สามารถเก็บภาษีเป็นเหรียญนกเม็กซิโกซึ่งเป็นสกุลหลักในการค้าขายจึงเป็นเรื่องปกติ

หากอิงจากหนังสือ เลอ มงด์ อิลุสเตร์ ที่บอกว่าไทยจ่ายไป 8 แสนเหรียญ น้ำหนัก 23 ตัน ก็ตีเสียว่าเหรียญหนึ่งมีน้ำหนัก 27 กรัม ใกล้เคียงกับน้ำหนักของเงินเหรียญ 8 เรียลเม็กซิกัน ถือว่ามีความเป็นไปได้

..อย่างไรก็ตามหากอิงตำนานเงินถุงแดงของหม่อมเจ้าพูนพิศมัยซึ่งเป็นคำให้การเดียวที่พูดถึงเรื่องนี้ เงินถุงแดงนั้นจะต้องเป็นเหรียญทองของรัชกาลที่ 3 ที่ค้าขายส่วนตัวแล้วเก็บไว้ “ก่อน” ขึ้นครองราชย์แล้ว มันก็ไม่น่าจะเป็น “เหรียญนกเม็กซิกัน” เพราะ:

1) เป็นเงินที่ได้มาก่อนปี 1824 หรือปีที่ ร.3 ครองราชย์ ซึ่งตอนนั้นเงินสกุลนี้ยังไม่แพร่หลาย

2) เพิ่งมีประชุมพระบรมราชโองการ ร.4 บอกว่าให้รับเหรียญฝรั่ง เพราะพ่อค้า ขุนนาง ไม่ยอมรับเงินฝรั่งมาใช้ ตอน ร.3 ค้าสำเภากับจีน ก็ใช้เงินจีนมาก

ความน่าจะเป็นอีกอย่างของสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าปฏิกรรมสงคราม คือเป็นเงินสกุล “ดอลลาร์ช่องแคบ” (Straits Dollar) ของอังกฤษที่ผลิตในอินเดีย

ตรงกับข้อความหนังสือ The People and Politics of the Far East ปี 1895 ของอเมริการะบุไว้ว่าไทยได้จ่ายเงินดอลลาร์ไป โดยเงินดอลลาร์ช่องแคบเข้ามาพร้อมๆ กับเหรียญเงินเม็กซิกันภายหลังนี่เอง

จากการศึกษาเอกสารของที่ปรึกษาอังกฤษในไทยโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่า…

ในยุค ร.5 เงินของไทยที่นำมาใช้จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม รวมทั้งเงินสำรองต่างประเทศในการค้าขายนั้นได้มาจากการรับแลกเปลี่ยนเงินตราจากการค้าข้าว หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งก็เป็นข้อมูลสอดคล้องกัน (แปลว่าไม่น่ามาจากเงินเก็บยุค ร.3)

จากข้อมูลทั้งหมด พอสรุปได้ว่าไทยได้จ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝรั่งเศสจริง

ถึงแม้อาจไม่ใช่เงินถุงแดงของรัชกาลที่ 3 อย่างที่เชื่อกันแพร่หลาย แต่มาจากเงินภาษีที่รัชกาลที่ 5 ได้ปฏิรูประบบต่างๆ ในประเทศให้ทันสมัย

ด้วยพระปรีชาสามารถและการมองการณ์ไกลตรงจุดนี้ จึงได้ป้องกันไม่ให้ประเทศต้องมีหนี้สินอย่างที่เคยประสบมาตอนเริ่มต้นรัชกาล และมีส่วนช่วยทำให้ไทยรอดพ้นจากวิกฤตในร.ศ. 112

บทความนี้ตั้งใจเสนอข้อมูลทางวิชาการ ไม่มีเจตนาด้อยค่าความสามารถของรัชกาลที่ 3 ซึ่งยังมีเรื่องราวอื่นๆ ที่แสดงพระปรีชาสามารถอีกมากมาย

คุณอุ้ยยังบอกว่าเขาต้อนรับหลักฐานใหม่ๆ มาแก้ไขเนื้อหาที่เสนอหากมีหลักฐานเพิ่ม และผมอยากชี้ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ควรศึกษาไปตามหลักฐาน

เพราะหากเรายกตำนานที่ไม่จริงขึ้นมาแล้วหลงใหล ก็จะทำให้เข้าใจบริบทในประวัติศาสตร์ผิด และถึงที่สุดแล้วกลับด้อยค่าเรื่องอื่นๆ เหมือนกรณีนี้ที่การเชื่อว่าตำนานเงินถุงแดงมีจริง จะเป็นการด้อยค่าพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 5 ในการปฏิรูปการเงินของไทย และประชาชนทุกภาคส่วนผู้จ่ายภาษีอันเป็นที่มาของเงินนั้นนั่นเอง