ในประวัติศาสตร์โลกของเรามีหลายอาณาจักรแห่งหนึ่งที่มีปณิธานในการ “ปกครองโลก” และได้เข้าใกล้สิ่งนั้น
วันนี้เราจะมาพูดถึงอาณาจักรแรกที่เริ่มมีความคิดดังกล่าว และอาจจะถือว่าเข้าใกล้เป้าหมายนั้นมากที่สุด นั่นไม่ใช่อังกฤษในสมัยวิคตอเรีย หรือมองโกลในสมัยเจงกิสข่าน …แต่เป็นอาณาจักรที่เก่าแก่กว่านั้นมาก
ในช่วงที่จักรวรรดิเปอร์เซียยิ่งใหญ่ขึ้นมาประมาณ 500 ปี ก่อนคริสตกาลนั้น พวกเขาเคยกินขยายอาณาเขตกลืนไปถึงกรีซและอียิปต์ทางตะวันตก และไปถึงลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดียทางตะวันออก ในยุคพีกนั้นประมาณว่าปกครองประชากรร้อยละ 45 ของโลกสมัยนั้น
…อาศัยสิ่งนี้พวกเขาเคยตั้งปณิธานอันยิ่งใหญ่ว่าจะรวบรวมโลกทั้งใบให้อยู่ภายใต้อาณาจักรเดียวกัน…
ปณิธานนั้นถูกสะท้อนมาจาก “เมืองหลวงทางพิธีกรรม” ที่ชื่อว่า “เปอร์ซีโปลิส” และ “ประตูแห่งประชาชาติ” ที่สร้างไว้เพื่อประกาศศักดาของจักรวรรดิเปอร์เซียอันเรืองโรจน์
ในบทความนี้จะนำทุกท่านมาชมสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้กันครับ
ชาวเปอร์เซีย (หรืออิหร่าน) เดิมเป็นชนเผ่าเร่ร่อนจากที่ราบสูงตะวันออกกลาง แต่ต่อมามีจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่คือพระเจ้าไซรัสมหาราช (ครองราชย์ปี 559–530 ก่อนคริสตกาล) ที่สามารถพิชิตจักรวรรดิมีเดียน ลิเดียและบาลิโลเนียใหม่ลงได้ อนึ่งขอเรียนว่าอาณาจักรเหล่านี้สืบต่อมาจากสุเมเรียนซึ่งนับถือกันแพร่หลายว่าเป็นอารยธรรมที่พัฒนาตัวอักษรเป็นแห่งแรกของโลก
พระเจ้าไซรัสสถาปนาจักรวรรดิอะคีเมนิด (ตั้งชื่อตามวงศ์ของพระองค์) หรือจักรวรรดิเปอร์เซียที่ 1 ขึ้น จักรวรรดินี้รุ่งเรืองเป็นอย่างมาก สามารถแผ่ขยายอาณาเขตไปได้ทางตะวันตกจรดกรีซและอียิปต์ และทางตะวันออกจรดลุ่มแม่น้ำสินธุ หรือตีเป็นตัวเลขคร่าวๆ ก็มีพื้นที่ 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังเคยมีการประมาณว่าประชากรในอะคีเมนิดคิดเป็นร้อยละ 45 ของประชากรโลกในสมัยนั้นเลยทีเดียว
อะคีเมนิดยังผู้บุกเบิกคอนเซป “จักรวรรดิระดับโลก” ที่ปกครองโดยไม่แบ่งแยกชาติศาสนา คือไม่ว่าคุณจะเป็นคนเผ่าไหน ชาติพันธุ์ไหน นับถือศาสนาอะไร หากอยู่ในเขตเปอร์เซีย คุณก็คือชาวเปอร์เซีย และควรภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของตน
แม้ว่าพวกเขาจะตั้งเมืองหลวงที่กรุงบาบิโลนเพราะเป็นเมืองสำคัญในแถบตะวันออกกลางมาช้านาน แต่จริงๆ อะคีเมนิดยังมีเมืองหลวงอีกแห่งหนึ่งซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็น “เมืองลับแล” สำหรับคนนอกอยู่ นั่นก็คือ เปอร์ซีโปลิส ที่เรากำลังพูดถึงในบทความนี้
ชื่อเมืองมาจากคำสองคำ คือ “เปอร์ซีส” แปลว่าชาวเปอร์เซีย “โปลิส” แปลว่าเมืองในภาษากรีก รวมกันจึงแปลว่า “เมืองของชาวเปอร์เซีย” นั่นเอง
สำหรับที่มาของเมืองนี้มีการเล่าว่า ช่วงที่จักรวรรดิอะคีเมนิดมีการเปลี่ยนรัชกาลระหว่างพระเจ้าแคมไบซิสที่ 2 (Cambyses II) มาเป็นดาริอุสที่ 1 นั้นเกิดเหตุวุ่นวายจากปัญหาแย่งชิงราชสมบัติ
กล่าวคือน้องชายของแคมไบซิสชื่อ บาร์ดิยา (Bardiya) ได้ชิงราชสมบัติมาจากพี่ตนเอง แต่ดาริอุสซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์อีกสายหนึ่ง ได้ก็การปฏิวัติซ้อนจนได้บัลลังก์มา หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าดาริอุสที่ 1 ยังต้องคอยปราบปรามกบฏในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไม่ยอมรับการสืบราชสมบัติครั้งนั้น ตำหนิว่าดาริอุสมิใช่เชื้อพระวงศ์สายตรง
…อย่างไรก็ตามพระเจ้าดาริอุสนี้เอง จะได้ขึ้นเป็นหนึ่งในจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเปอร์เซีย…
ชื่อว่าพระองค์ทรงเลือกพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงเก่าและศูนย์กลางอำนาจอื่น ๆ สร้าง “เปอร์ซีโปลิส” ขึ้น เป็นฐานบัญชาการ และเมืองหลวงทางพิธีกรรม
โดยพิธีกรรมนี้มีชื่อว่า “นาวรูซ” คำว่า นาวรูซ เป็นคำเดียวกับคำว่า นวโรจน์ ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “แสงใหม่” (ชาวเปอร์เซียกับชาวอารยันในอินเดียเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน) มันเป็นงานฉลองการผ่านพ้นฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิประมาณเดือนมีนาคม
ซึ่งสัญลักษณ์จะเป็นภาพสิงโตกัดวัว และสังเกตว่ามีต้นไม้อยู่หลังสิงโตนะครับ นี่เป็นการบ่งบอกว่ามีการเปลี่ยนฤดูแล้ว (สิงโตคือจักรราศีที่บ่งถึงความร้อน กัดวัวที่เป็นสัญลักษณ์ของความหนาว) เมื่อฆ่าวัวแล้วพืชผลก็จะกลับมาเจริญงอกงามอีกครั้ง
การก่อสร้างมีการเจาะตีนเขาฝั่งตะวันออกใช้เป็นที่รองรับน้ำฝน และตัดภูเขาบางส่วนใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้าง ตามด้วยการปรับพื้นที่ให้ราบด้วยการถมดิน และหินและยึดเข้าด้วยกันด้วยคลิปโลหะ ส่วนอาคารใช้หินปูนและอิฐจากดินเหนียว
ในเมืองแห่งนั้นมีการก่อสร้างขั้นบันได (terrace) และยกพื้น (platform) ซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 125,000 ตารางเมตร สูง 20 เมตร ด้านบนมีอาคารสภา พระราชวัง และเรือนรับรองต่าง ๆ
จากฐานขั้นบันไดสู่ประตูวังมีการสร้างทางบันได (stairway) นับเป็นความล้ำหน้าทางวิศวกรรมในยุคนั้นเพราะมีความสมมาตรและขั้นบันไดกว้างจนสามารถขี่ม้าขึ้นลงได้
กำแพงด้านนอกของวังอปาดานา (Apadana) ยังมีรูปที่น่าประทับใจมาก คือมีการแกะสลักรูป 23 ประชาชาติ เช่น อาระเบีย อาร์มีเนีย อัสซีเรีย บาบิโลเนีย อียิปต์ อินเดีย ที่เดินทางเข้ามาถวายบรรณาการแด่จักรพรรดิเปอร์เซียในโอกาสนาวรูซ หรือวันขึ้นปีใหม่ของเปอร์เซีย เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิ
ต่อมาพระเจ้าเซอร์ซีสที่ 1 และจักรพรรดิในสมัยหลังทรงเป็นผู้ต่อเติมความอลังการของพื้นที่แห่งนี้มากขึ้นไปอีก โดยก่อสร้าง “ประตูแห่งทุกประชาชาติ” (Gate of all nations) ก่อนเข้าถึงวัง
ประตูแห่งประชาชาตินี้เป็นทางผ่านไปสู่พระราชวังสำหรับให้คนชาติในอาณัติมาถวายบรรณาการ ตัวอาคารเป็นห้องขนาดใหญ่ มีกำแพงสามด้าน คือฝั่งตะวันออก ตะวันตกและใต้ มีประตูหินขนาดใหญ่ด้านละ 1 บาน มีรูปปั้นขนาดยักษ์ 4 ตัวอยู่ฝั่งตะวันออกและตะวันตก บนรูปปั้นมีจารึกถึง 3 ภาษา คือ ภาษาเอลาไมต์ (เป็นอารยธรรมโบราณของอิหร่าน) ภาษาเปอร์เซียและภาษาบาบิโลเนียหรืออัคคาเดีย
จารึกนั้นเขียนว่า
“พระอหุระมาซดะผู้ยิ่งใหญ่ พระเจ้าผู้สร้างโลก ผู้สร้างสวรรค์ ผู้สร้างมนุษยชาติ ผู้สร้างความสุขแก่มวลมนุษย์ ผู้ยกให้เซอร์ซีสเป็นกษัตริย์ กษัตริย์ของคนหลากหลาย เจ้าของคนหลากหลาย ข้าฯ คือเซอร์ซีส มหาราชา ราชาแห่งราชัน ราชาแห่งแผ่นดินต่างๆ กษัตริย์ของคนหลากหลาย กษัตริย์ของแผ่นดินกว้างไกลนี้ โอรสแห่งกษัตริย์ดาริอุช วงศ์อะคีเมนิด กษัตริย์เซอร์ซีสตรัสว่า: ด้วยพระกรุณาของพระอหุระมาซดะ ข้าฯ สร้างประตูแห่งทุกประชาชาตินี้ สิ่งสวยงามอื่นอีกมากถูกสร้างขึ้นในเปอร์เซีย ข้าฯ สร้างทั้งหมดและพระบิดาของข้าฯ ด้วยเช่นกัน ทุกสร้างที่เราสร้างขึ้นดูสวยงามนี้ เราสร้างขึ้นด้วยพระกรุณาของพระอหุระมาซดะ กษัตริย์เซอร์ซีสตรัสว่า: ขอพระอหุระมาซดะทรงคุ้มครองข้าฯ และอาณาจักรของข้าฯ และสิ่งใดก็ตามที่ข้าฯ สร้างขึ้นเช่นเดียวกับสิ่งที่พระบิดาข้าฯ สร้างขึ้นด้วย”
เมื่อคณะราชทูตเดินผ่านประตูนี้แล้ว พวกเขาก็จะไปต่อยังห้องโถงที่มีม้านั่งยาวสำหรับให้ทูตนั่งรอเข้าเฝ้า ซึ่งการออกแบบทั้งรูปแกะสลักประชาชาติต่าง ๆ รวมถึงประตูแห่งประชาชาตินี้เอง ที่สะท้อนให้เห็นมุมมองของจักรพรรดิอะคีเมนิดสมัยนั้นว่าต้องการใช้เมืองนี้ให้ผู้คนจากทุกสารทิศมาเข้าเฝ้าจักรพรรดิเปอร์เซียนั่นเอง
การสลักจารึกหลายภาษายังเป็นเครื่องสะท้อนความต้องการรวมโลกเป็นหนึ่งเดียว พูดง่าย ๆ ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นคนชาติใดภาษาใด แต่เมื่อคุณอยู่ในจักรวรรดิเปอร์เซีย คุณคือชาวเปอร์เซียที่น่าภาคภูมิใจ และมีเปอร์ซีโปลิสแห่งนี้เป็น “เมืองหลวง”
ในสมัยหลังจากนั้นยังมีการก่อสร้างเปอร์ซีโปลิสเพิ่มเติมหลายประการ โดยนักประวัติศาสตร์ระบุว่ามีกำแพงอยู่ 3 ชั้น ชั้นแรกอยู่รอบยกพื้นมีความสูง 7 เมตร ชั้นที่สองมีความสูง 14 เมตร และชั้นนอกสุดมีกำแพงสูง 27 เมตร ทั้งหมดเชื่อว่ามีหอคอยและทหารประจำอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่นๆ ที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นสุสานหลวง คอกม้าและที่พักของรถม้าศึก ที่ตั้งของทหารรักษาพระองค์อิมมอร์ทัล (Immortal) อันมีชื่อเสียง และบ้านพักของช่างฝีมือ
จากข้อมูลเท่าที่มีนับว่าเมืองนี้นับว่ามีความยิ่งใหญ่มากจริง ๆ …
แต่นับว่าน่าเสียดายที่เมืองนี้ถูกทำลายไปในการศึกสงครามสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งทำการเผาและปล้นสะดมเปอร์ซีโปลิส ผู้บุกรุกต้องตะลึงกับความร่ำรวยของสถานที่แห่งนี้จนมีนักประวัติศาสตร์โรมันสมัยหลังอ้างว่าในครั้งนั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงใช้ล่อ 20,000 ตัว และอูฐอีก 5,000 ตัวขนสมบัติกลับมาตุภูมิเลยทีเดียว
ปัจจุบันเมืองเปอร์ซีโปลิสมีสถานะเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกตั้งแต่ปี 1979 คงเหลือเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าเคยมีอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคหนึ่งตั้งอยู่ที่นี่นี่เอง
0 Comment