ตั้งแต่จำความได้ ประโยค “สีชมพูเป็นของผู้หญิง” ก็คล้ายอยู่ในการรับรู้ของคนทั่วไป ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นเหมือนกันทั้งโลก…

หลายคนจึงแคลงใจ ผู้หญิงชอบสีอื่นแล้วจะทำไม ผู้ชายชอบสีชมพูมันผิดตรงไหน ใครเป็นคนกำหนดนิยามเหล่านี้ขึ้นมา?

วันนี้เราจะไปค้นหาคำตอบด้วยกันว่า ความคิดกล่าวมันมีที่มาจากไหน และตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่ ทั้งในมุมมองของฝั่งตะวันตกและตะวันออกนะครับ

นักประวัติศาสตร์ โจ บี. เปาเลตตี แห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้หลายร้อยปีมาแล้ว ผู้ใหญ่นิยมให้เด็กใส่ชุดยาวสีขาวถึง 6 ขวบเหมือนๆ กันหมด เพราะเชื่อกันว่า ถ้าแต่งตัวผิดแปลก ลูกจะโตขึ้นมาผิดผี และสีขาวก็ทำความสะอาดง่ายดี

ส่วนความเชื่อเรื่องสีชมพูสำหรับเด็กผู้หญิง และสีฟ้าสำหรับเด็กผู้ชาย เพิ่งจะมีในยุคศตวรรษที่ 20 นี่เอง

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือกระแสการใช้สีพาสเทลสำหรับเด็ก เริ่มตั้งไข่ต้นในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งคนสมัยนั้นมองสีชมพูแตกต่างจากตอนนี้โดยสิ้นเชิง…

อิงจากบทความ “Pink or Blue” ในวารสาร Earnshaw’s Infants’ Department ฉบับมิถุนายน 1918 มีข้อความกล่าวว่า

“โดยทั่วไปคนยอมรับกันว่าสีชมพูเป็นของเด็กผู้ชาย ส่วนสีฟ้าเป็นของเด็กผู้หญิง เหตุผลก็คือสีชมพูดูเด็ดขาดและเข้มแข็งกว่า จึงเหมาะสำหรับเด็กชาย ขณะที่สีฟ้านุ่มนวลและเอียดอ่อนกว่า มันสวยกว่าเลยเหมาะกับผู้หญิง”

ต่อมาในปี 1927 นิตยสาร Times ได้สำรวจและตีพิมพ์สถิติออกมาว่า ห้างร้านชั้นนำในอเมริกาเห็นว่าสีไหนเหมาะกับเพศของเด็ก ผลปรากฏคือผลว่า “สีชมพูเหมาะกับผู้ชาย” เฉือนชนะไปเล็กน้อย

สอดคล้องกับความเห็นของ วาเลอรี สตีล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งสถาบันแฟชั่นเทคโนโลยี นิวยอร์ก เธอมองว่าก่อนหน้านี้คนส่วนมากก็ไม่ได้มาคิดเรื่องสีหรอก แต่เพราะผู้ผลิตเสื้อผ้าหันมาลงโฆษณา โปรโมทว่าสีนั้นดี สีนี้เหมาะสม คนเลยคล้อยตามและเริ่มคิดจริงจัง

แล้วเหตุใดกระแสจึงพลิก โลกกลับนิยามสีชมพูเข้ากับผู้หญิงไปได้?

สตีลตั้งทฤษฎีว่า จุดเปลี่ยนคือยุค 20s นี่เอง เมื่อมหาเศรษฐี เฮนรี ฮันทิงตัน ซื้อผลงานภาพวาดสีน้ำมันยุคศตวรรษที่ 18 นาม The Blue Boy (เด็กหนุ่มในชุดสีน้ำเงิน) และ Pinkie (เด็กสาวในชุดสีชมพู) มาจากอังกฤษ

…ปกติเวลาฮัททิงตันซื้ออะไร สื่ออเมริกาให้ความสนใจมากเป็นทุนเดิม จนเกิดเทรนด์ใหม่ขึ้นมา

ทว่าทางเปาเลตตีมองว่า กระแสสีชมพูสำหรับเด็กผู้หญิง น่าจะเริ่มต้นจากยุโรป เจาะจงคือฝรั่งเศส

แม้สมัยนั้นสีชมพูจะฮิตสำหรับคนฝรั่งเศสทุกเพศทุกวัย แต่ตามธรรมเนียมดั้งเดิมมักนิยมให้เด็กหญิงสวมชุดสีชมพู เด็กชายสวมชุดสีฟ้ามากกว่า …ซึ่งช่วงศตวรรษที่ 20 แฟชั่นฝรั่งเศสได้รับความนิยมไปทั่ว พ่อแม่ผู้ปกครองจึงจับบุตรหลานมาแต่งกายตามความฮิตยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในวงวิชาการว่าจุดเริ่มต้นเป็นอย่างไรแน่ เพราะมักมีผู้เสนอทฤษฎีใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ

ยิ่งไปกว่านั้น สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แมรี “มามี” ไอเซนฮาวร์ ภริยาของประธานาธิบดี ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ ยังชอบสีชมพูมาก

คราวสามีย้ายครอบครัวเข้าอาศัยในทำเนียบขาว ขณะดำรงตำแหน่งช่วงปี 1953 – 1961 มามีก็ตกแต่งบ้านใหม่ด้วยสีชมพู จนมีชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่า “วังชมพู”

แน่นอนว่าเวลาออกงาน เธอก็สวมชุดสีชมพูด้วย พอสื่อลงข่าวมาก คนก็ยิ่งมีภาพจำสีชมพูเข้ากับผู้หญิงฝังลึกกว่าเดิม

นอกจากนั้นยังเกิดเทรนด์ตกแต่งบ้านด้วยสีชมพูที่เรียกว่า “สีชมพูมามี” (Mamie Pink) อีกต่างหาก ซึ่งไม่ใช่แค่ในห้องรับแขกหรือห้องนอน แต่รวมถึงห้องครัวและห้องน้ำด้วย (เอ่อ…)

กระนั้นแล้ว กระแสนี้กลับถูกต่อต้านอย่างแรงตั้งแต่ช่วงกลางยุค 60s เป็นต้นมา เมื่อผู้หญิงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม

พวกเธอต่อต้านแฟชั่น ต่อต้านความเป็นหญิง จึงให้ความนิยมลุคที่เข้ากับเพศไหนก็ได้ ซึ่งลามไปถึงของใช้เด็กด้วย เปาเลตตีพบข้อมูลจากแคตาล็อกช่วงปี 70s ของห้างใหญ่แห่งหนึ่ง ปรากฏว่าไม่มีชุดเด็กสีชมพูขายเลยสองปีเต็มๆ

เปาเลตตีเสริมด้วยว่า ช่วงนั้นเฟมินิสต์จำนวนหนึ่งมองว่าเหตุที่เด็กๆ โตขึ้นเป็นหญิงสาวที่ทำอาชีพด้อยกว่าชายเพราะ “พวกเธอสวมเสื้อผ้าหวานเกินไป”

ถ้าแต่งตัวเด็กหญิงให้เหมือนเด็กชายไซร้ พวกเขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระ เลือกทำอะไรได้มากขึ้น

กระแสเสื้อผ้าไม่ระบุเพศฮิตมาจนกระทั่งช่วงปี 1985 ขณะนั้นเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ทำให้สามารถตรวจทราบเพศเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้

พอพ่อแม่รู้แล้วว่าลูกเป็นหญิงหรือชายก็อยากซื้อของมาเตรียมไว้ให้เข้ากับลูก …เมื่อเป็นเช่นนี้กระแสการผลิตของสีชมพูสำหรับเด็กหญิงเลยกลับมา ตั้งแต่ชุด ผ้าอ้อม รถเข็น คาร์ซีต ของเล่น ฯลฯ

ส่วนเฟมินิสต์ยุค 80s ก็ไม่ได้เหยียดเสื้อผ้าฟรุ้งฟริ้งแบบนักเคลื่อนไหวยุคก่อน และนิยมซื้อของสีชมพูให้ลูกด้วย พวกเธอคิดประมาณว่า ถ้าอยากให้ลูกเป็นหมอ จะเป็นหมอแบบหวานๆ ก็ไม่เห็นจะผิดอะไร

สำหรับฝั่งเอเชีย เริ่มแรกเราก็ไม่ได้กำหนดนิยามสีอะไรเข้ากับเพศไหน วัฒนธรรมจีนมองว่าสีชมพูเป็นแค่เฉดหนึ่งของสีแดง กระทั่งฝรั่งเข้ามาค้าขาย แล้วขอให้ช่างทำเครื่องดินเผาลายสีชมพู คนจีนถึงแยกออกมาเป็นสี “หยางไฉ่” (洋彩) ซึ่งแปลว่า “สีต่างชาติ” ส่วนทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของอินเดีย คนไม่ว่าเพศใดก็สวมผ้าชมพูได้ อีกเทพเจ้าที่มีวรกายสีชมพู ก็มีปรากฏทั้งชายหญิง เช่นพระพิฆเนศ พระลักษมี เป็นต้น

แต่มีเทพเจ้ากายชมพูองค์หนึ่งอาจทำให้คนไทยผูกความเชื่อเรื่องสีชมพูเข้ากับผู้ชาย… นั่นคือพระอังคาร

ตามความเชื่อเรื่อง “เทวดานพเคราะห์” ของฮินดู มีเทวดา 9 องค์คอยคุ้มครองมนุษย์ ได้แก่สุริยเทพ (พระอาทิตย์) และเทพบริวาร 8 องค์ ได้แก่พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ

…เทพแต่ละองค์ก็มีสีกายต่างกันไป ตามสีประจำวันที่เราคุ้นเคยกันนี่เอง เพราะเมื่อคนไทยโบราณรับเอาความเชื่อฮินดูเข้ามาผสมในวัฒนธรรม ก็ตั้งชื่อวันและกำหนดสีตามเทพที่ปกป้องคุ้มครองวันนั้นๆ

เหตุที่พระอังคารมีวรกายสีชมพูนั้น มีเรื่องเล่าการกำเนิดมากมายหลายเวอร์ชั่น แต่เรื่องที่นิยมที่สุดคือ พระอิศวรสร้างพระอังคารขึ้นจากกระบือ 8 ตัวบดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีชมพู พรมด้วยน้ำอมฤต ปรากฏขึ้นเป็นบุรุษผิวชมพู ทรงมหิงสาหรือกระบือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้)

พระอังคารเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม อารมณ์มุทะลุ ใจร้อน ชอบใช้กำลัง แต่ก็มีด้านดีคือขยัน อดทน และกล้าหาญ

ตรงจุดนี้มีเรื่องน่าสนใจว่า ตามโหราศาสตร์เฮเลนิสติกของกรีก-โรมัน ก็มองว่าเทพสงคราม เอรีส หรือ มาร์ส ก็ประจำอยู่วันอังคารเช่นกัน

ดังนั้นตามความเชื่อไทยเดิมแต่โบราณ แม้สีชมพูจะเกี่ยวพันกับวันมากกว่าบุคคล แต่ก็ถือว่าเอียงไปทางสีผู้ชาย

ชุดมหาดเล็กรักษาพระองค์ก็มีกองพันที่เครื่องแต่งกายสีบานเย็น หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า (ร.5) ซึ่งพระราชสมภพในวันอังคาร ก็มีพระปรมาภิไธยใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์

…นี่เป็นเหตุผลที่เวลาต่อมา คณะกรรมการสโมสรนิสิตฯ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงให้สีชมพูเป็นสีประจำสถาบันด้วย…

ส่วนเหตุที่ไทยเราและเอเชียโดยรอบหันมามองว่าสีชมพูเหมาะสมกับผู้หญิง ก็มีปัจจัยมาจากอิทธิพลตะวันตกนั่นเอง

ปัจจุบันภาษาจีนเรียกสีชมพูว่า “เฝิ่นหง” (粉红) หรือ “เฝิ่นเซ่อ” (粉色) หมายถึงแป้งผัดหน้าซึ่งมีสีชมพู ข้าวของเครื่องใช้หรืออะไรก็ตามในมุมมอง “คาวาอี้” ของญี่ปุ่น ก็มักจะเป็นสีชมพู

เวลาผันผ่านจนยุคปัจจุบัน มุมมองความเท่าเทียมทางเพศขยายออกไป ไม่ได้จำกัดเพียงหญิงชาย สีเองก็เช่นกัน …ผู้หญิงอยากใส่ชุดสีอะไรก็ได้ ผู้ชายเองก็ใส่สีชมพูกันมากขึ้น แบรนด์ต่างๆ หันมาทำเสื้อเชิ้ตเสื้อโปโลสำหรับผู้ชายเป็นสีชมพูก็มักขายดี แสดงให้เห็นพลวัตทางสังคมก็เปลี่ยนแปลงไป

แม้เรายังมีชุดความคิดเรื่องสีชมพูเป็นของผู้หญิงอยู่ แต่มุมมองต่อสีของสังคมก็เปลี่ยนไปอยู่เสมอ เหมือนความเชื่อเรื่องความสวยงาม, อาหารอร่อย, หรือรสนิยมทางเพศ เช่นที่ผู้ชายจีนเคยเชื่อว่าผู้หญิงเท้าเล็กแปลว่าสวย หรือผู้ชายกรีกเคยชอบร่วมเพศกับเด็กหนุ่ม

เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์แล้ว จะพบว่าเรื่องเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามสถานที่และกาลเวลา

…ไม่มีอะไรเป็นจริงจังสักสิ่งเดียว…