ประวัติของ Pride Month และ จูดี้ การ์แลนด์

ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงยุค 60s การปฏิบัติตัวไม่ตรงกับเพศสภาพภายนอกของตัวเองเป็นเรื่องต้องห้าม กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมักถูกเหยียดหยาม โดนจับบำบัดเพราะแพทย์วินิจฉัยว่าป่วยทางจิต ถูกกดขี่รังแก ร้ายสุดคืออาจถูกส่งขังคุก พวกเขาจึงต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่แสดงออกตัวตน เก็บความทุกข์ไว้ภายใน

แต่แล้วกลับมีเหตุการณ์หนึ่งเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ไปโดยสิ้นเชิง ได้แก่ “การลุกฮือที่สโตนวอลล์” ในปี 1969 ซึ่งในเวลาต่อมาก่อให้เกิดการความเคลื่อนเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมทางเพศเรียกว่า “Pride” อันโด่งดังและทรงอิทธิพลจนปัจจุบัน

มีบางทฤษฏีเชื่อว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจมีที่มาประการหนึ่งจากศิลปินหญิงคนหนึ่งชื่อ “จูดี้ การ์แลนด์” ซึ่งดังจากบทสาวน้อยโดโรธี ในภาพยนตร์สำหรับเด็กชื่อ “พ่อมดแห่งออซ”

เหตุใดผู้หญิงอย่างเธอจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจของความเคลื่อนไหวของกลุ่มหลากหลายทางเพศได้ล่ะ?

เนื่องในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศหรือ Pride Month ผมได้เขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อให้เราร่วมกันแสวงหาคำตอบในบทตอนนี้ของประวัติศาสตร์กัน

บางคนรู้จัก จูดี้ การ์แลนด์ ในฐานะดาราดังจากภาพยนตร์คลาสสิคเช่น The Wizard of Oz, Meet Me in St. Louis, หรือ A Star is Born บ้างก็รู้จักในฐานะจากบทเพลงอมตะ ไม่ว่าจะเป็น Over the Rainbow, The Trolley Song, และ The Man That Got Away

…แต่สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว เธอคือหญิงสาวที่ทำให้พวกเขารู้สึก “ภูมิใจ” ในตนเอง…

การ์แลนด์ ชื่อเกิดคือ ฟราเซส เอเธล กัมม์ เกิดวันที่ 10 มิถุนายน 1922 ในครอบครัวนักแสดงละครเร่

เธอมีความสามารถทางการร้องและการแสดงโดดเด่นมาตั้งแต่เด็ก ถูกพาขึ้นเวทีเพื่อร้องเพลงกับพี่สาวสองคนของเธอตั้งแต่อายุสองขวบ พออายุสี่ขวบก็ต้องย้ายบ้านจากรัฐมิเนโซต้าทางเหนือไปรัฐแคลิฟอร์เนียทางใต้ เพราะมีข่าวลือหนาหูในละแวกนั้นว่าพ่อของเธอชอบคนเพศเดียวกัน

ในปี 1935 การ์แลนด์ได้เซ็นสัญญากับค่ายหนังยักษ์ใหญ่ Metro-Goldwyn-Mayer หรือ MGM (ที่มีสิงโตออกมาร้องก่อนเข้าหนังนั่นแหละ) แต่อนิจจาด้วยอายุ 13 จะเล่นบทเด็กก็ดูโตไป จะเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่ได้ แถมลุคของเธอยังใสๆ ซึ่งไม่ถูกจริตประชาชนยุคนั้น ที่นิยมคนสวยหยดมีเสน่ห์ชวนหลงใหล

ค่ายจึงหาทางออกหลายประการโดยบังคับให้เด็กสาวเป็นใน “สิ่งที่ขายได้” พวกเขาให้เธอใส่ฟันยางและที่ดันโพรงจมูกเพื่อปรับเปลี่ยนโครงหน้า, ให้รัดหน้าอก, สั่งงดอาหารจนผอมกว่าเกณฑ์, และให้กินยาลดความอ้วน …แต่ทำถึงขั้นนี้แล้ว ก็ยังมีคนดูถูกว่าเธอน่าเกลียดอยู่เสมอ

นอกจากนั้น การ์แลนด์ยังโดนผู้บริหาร MGM ลูอิส บี. เมเยอร์ ล่วงละเมิดทางเพศขณะถ่ายทำ The Wizard of Oz เขามักจะเข้ากองมาชื่นชมเสียงร้องเพลงของเธอ ว่าร้องออกมาจากหัวใจ แล้วขยำหน้าอกเธอเล่นโดยที่ไม่มีใครกล้าห้ามปราม

การ์แลนด์หาใช่เด็กไม่รู้ความ เมื่อเมเยอร์ทำซ้ำหนักเข้าเธอจึงรวบรวมความกล้าขอให้เขาอย่าทำแบบนี้กับเธออีก ทว่าเมเยอร์กลับร้องไห้แล้วลำเลิกบุญคุณเธอเสียยกใหญ่ ถามว่าทำไมถึงพูดกับคนที่รักเธอได้แบบนี้ แต่สุดท้ายเขาก็หยุดทำแบบนั้นไป

เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไปแล้ว การ์แลนด์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า “มหัศจรรย์จริงๆ ที่คนใหญ่คนโตซึ่งคบกับผู้หญิงไฮโซมามากมายจะทำตัวงี่เง่าขนาดนั้น” และ “ฉันคิดอยู่เสมอว่าโชคดีนะที่ตัวเองไม่ได้ร้องเพลงมาจากร่างกายส่วนอื่น”

ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว การ์แลนด์ยังโดนคณะกรรมการบริหารคนหนึ่งเรียกไปพบเพื่อขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย แม้เธอจะปฏิเสธไปอย่างสุภาพ แต่เขากลับโวยวายพร้อมข่มขู่ “ฟังนะ ก่อนแกจะไป ฉันจะบอกให้ …ฉันจะทำให้ชีวิตแกพัง ฉันทำได้จริงนะเว้ย ฉันจะทำลายแก!”

การ์แลนด์ได้แต่เก็บเรื่องนี้ไว้กับตัว เพราะยุคนั้นผู้หญิงเองก็ยังไม่มีสิทธิมีเสียงเท่าใดนัก หากพูดไปสังคมก็จะเข้าข้างผู้ชายก่อน แถมอีกฝ่ายเป็นคนใหญ่คนโตที่มีอิทธิพลระดับฮอลลีวู้ด เธอจึงเลือกยอมอดทน

…แม้ภายหลังการ์แลนด์จะประสบความสำเร็จจากหนังหลายเรื่อง แต่ประสบการณ์เลวร้ายที่ผ่านมา ทำให้เธอขาดความมั่นใจไปทั้งชีวิต

…เธอหวาดกลัวว่าคนจะไม่ยอมรับอยู่เสมอ บางครั้งถึงกับพึ่งเหล้าพึ่งยา เศร้าหมองทำร้ายตนเอง จนถึงกับพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง เพราะฝังใจว่าตนเป็น “ลูกเป็ดขี้เหร่” ที่มีแต่คนชัง

การ์แลนด์ทำงานไปจนอายุ 28 ปี ก็โดนไล่ออกจาก MGM เพราะเธอดื่มเหล้าหนัก ไม่มาทำงานตามนัดหมาย และใช้ยานอนหลับผสมมอร์ฟีน

แม้ภายหลัง ผลงานเรื่อง A Star is Born ของค่าย Warner Bros. จะพิสูจน์ฝีมือการแสดงของเธอ แต่รายได้ของเธอกลับไม่ดีนัก นอกจากนั้นการไม่ได้รับรางวัลออสการ์อย่างที่นักวิจารณ์คาด ทำให้เธอค่อยๆ หมดอนาคตบนจอเงินไปในที่สุด

แต่นั่นไม่ได้ทำให้เธอยอมแพ้จากวงการบันเทิง การ์แลนด์ผันตัวไปเป็นนักร้อง ออกแสดงคอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศหลายครั้ง ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีแฟนๆ ทุกเพศทุกวัยเข้ามาชมหญิงสาวอย่างคับคั่ง

ทั้งนี้เพราะเพลงของเธอแอบแฝงความบีบคั้นสะเทือนใจราวกับเข้าใจเรื่องราวของผู้ฟังทั้งหลาย

การ์แลนด์เองยังมีชื่อเสียงในการกล้าหยอกล้อกับแฟนๆ อย่างไม่ถือตัวระหว่างแสดงสด

ในที่สุดเธอก็ประสบความสำเร็จในสายนักร้อง เมื่อได้เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลแกรมมี่สาขาอัลบั้มแห่งปี จากอัลบั้มบันทึกแสดงสดที่คาร์เนกี้ฮอลล์ในปี 1961 และได้มีรายการเพลงเป็นของตัวเองชื่อ The Judy Garland Show ในปีเดียวกัน

ผู้คนมองว่าเธอเป็น “ผู้รอดชีวิต” จากการแข่งขันของสังคมที่พยายามจะกดเธอให้ต่ำ

ในด้านชีวิตส่วนตัว แม้การ์แลนด์จะมีข่าวคบกับชายหนุ่มมากมาย และแต่งงานไปถึง 5 ครั้ง แต่ก็มีหลักฐานว่าเธอคบกับผู้หญิงด้วยเช่นกัน…

สมัยที่ยังอยู่ใน MGM ค่ายหนังต้องการคุมพฤติกรรมเธอ จึงส่งหญิงสาวนาม เบตตี แอเชอร์ ซึ่งทำงานอยู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์มาคอยสอดส่อง แหล่งข่าวหลายแหล่งกล่าวว่า มิตรภาพของทั้งสองคนดูจะไปไกลกว่านั้น และมีผู้พบเห็นทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยๆ เดินจับมือถือแขนสนิทสนมกันเหมือนคู่รัก

นั่นอาจเป็นเหตุผลให้เธอเปิดกว้างต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือว่ายังเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกสังคมรังเกียจในยุคนั้น เธอมีเพื่อนใกล้ชิดเป็นเกย์ ชอบไปเที่ยวบาร์เกย์ และสามีคนที่ 2 กับสามีคนที่ 4 ของเธอ ยังถูกเปิดเผยในภายหลังว่าเป็นไบเซ็กชวล

จูดี้ การ์แลนด์ เสียชีวิตลงในวันที่ 22 มิถุนายน 1969 ด้วยอายุเพียง 47 ปี ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สาเหตุคือกินยานอนหลับเกินขนาด

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีเธอเริ่มมีสุขภาพกายใจแย่ลง มีการดื่มเหล้าหนักจนเมาขึ้นคอนเสิร์ตหลายครั้ง ซ้ำร้ายกว่านั้น ผู้จัดการใหม่ของการ์แลนด์ก็บริหารงานผิดพลาด ทำให้เธอเป็นหนี้ราว 500,000 เหรียญสหรัฐ ต้องทำงานใช้หนี้ตัวเป็นเกลียว ในขณะที่ชื่อเสียงถดถอยลงเรื่อยๆ

…แม้การ์แลนด์จะจากไปในช่วงที่ชีวิตกำลังตกต่ำ แต่การตายของเธอได้ส่งผลกระทบที่แม้กระทั่งตัวเธอเองก็อาจคาดไม่ถึง…

…นั่นคือมีแฟนๆ กลุ่มหลากหลายทางเพศมาไว้อาลัยแก่เธอเป็นจำนวนมาก…

แล้วทำไม จูดี้ การ์แลนด์ จึงมีอิทธิพลต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ขนาดนี้?

จากเรื่องที่เล่ามาจะเห็นได้ว่า นอกจากการ์แลนด์อาจเป็น LGBTQ+ คนหนึ่งแล้ว เธอยังโดนดูถูกจากรูปลักษณ์ภายนอก ถูกกดดันให้ต้องเป็นในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น เพื่อแสวงการยอมรับจากสังคม ซึ่งคล้ายกับชะตากรรมที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ

นายแพทย์ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อ BBC ในบทความ Why is Judy Garland the ultimate gay icon? ว่า สำหรับเกย์แล้ว ร่างกายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะบางคนถือว่ามันเป็นภาพแทนของความสำเร็จในกลุ่มเกย์ด้วยกัน และอาจรวมถึงในสังคมด้วย ทำให้พวกเขามีความกดดันมองว่าตัวเองน่ารังเกียจ และทำร้ายทรมานตัวเองต่างๆ ไม่ต่างอะไรกับการ์แลนด์ที่ต้องอยู่กับรูปลักษณ์ปรุงแต่งที่ผู้ใหญ่เห็นว่าสวยงาม ทั้งๆ ที่มันทำให้เจ้าของร่างกายเป็นทุกข์

จึงไม่แปลกที่นักวิชาการหลายท่านจะมองว่า ความเจ็บปวดดึงดูดทั้งการ์แลนด์กับกลุ่มหลากหลายทางเพศเข้าหากัน พวกเขาเข้าใจการถูกกดขี่ที่อีกฝ่ายประสบ และได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน