เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวผู้ช่วย รมว. กลาโหมรัสเซียถูกปลดในข้อหาคอร์รัปชัน จึงมีการกะเก็งกันแล้วว่า รมว. กลาโหมจะโดนเด้งตาม

“เซอร์เกย์ ชอยกู” เป็นรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียมา 12 ปีแล้ว ส่วนตัวเขาเองไม่เคยรับราชการทหาร แต่เป็นวิศวกรโยธาที่ไต่เต้าขึ้นมาจากกระทรวงการบรรเทาภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติ โดยมีภาพลักษณ์สามารถส่งมอบความช่วยเหลือให้ประชาชนได้ในยามต้องการ

ชอยกูเติบโตขึ้นมาในสาธารณรัฐตูวาในไซบีเรีย และเข้าสู่การเมืองผ่านทางอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ถือเป็นคนนอกเพียงไม่กี่คนใน “วงใน” ของปูติน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยคนรู้จักจากสมัยปูตินอยู่ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและเพื่อนร่วมงานเคจีบี

ชอยกูเป็นเจ้ากระทรวงในตอนที่ปูตินเริ่มต้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2022 แต่หลังสงครามเข้าสู่ปีที่ 3 ได้แสดงออกมาชัดเจนว่ากระทรวงกลาโหมรัสเซียเต็มไปด้วยคอร์รัปชันและยังใช้ยุทธวิธี “คลื่นมนุษย์” เป็นหลักซึ่งบ่งบอกว่าฝึกทหารได้ไม่ค่อยดีเลย เขาถูกวิจารณ์ว่าไม่เข้าใจความเป็นไปของสงคราม โดยมีนักวิจารณ์คนสำคัญคือ “เยฟเกนี พรีโกจิน” อดีตหัวหน้ากองทหารรับจ้าง “วากเนอร์” ที่บอกว่าวากเนอร์ไม่ได้รับเสบียงและตัวเขาไร้ประสิทธิภาพ

ส่วนคนที่ปูตินแต่งตั้งมาเป็น รมว. กลาโหมคนใหม่นั้นก็ทำให้นักวิเคราะห์มองกันไปต่างๆ เช่นกัน เพราะเขาตั้งนักเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาแทน (แต่คนเก่าก็ไม่ใช่ทหารอาชีพอยู่แล้ว)

โดยคนๆ นั้นคือ “อันเดร เบลูซอฟ” จบการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ระดับเกียรตินิยม และถือว่ามีความใกล้ชิดกับปูติน เคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี

ผู้สังเกตการณ์บรรยายว่าเขามีแนวคิดต่อต้านตะวันตกมาก และสนับสนุนให้รัฐเพิ่มบทบาทในเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ไม่กี่คนที่สนับสนุนให้รัสเซียผนวกไครเมียในปี 2014 (หลังจากนั้นรัสเซียถูกคว่ำบาตรมายาวๆ) เขาไม่มีกลุ่มก๊วนพันธมิตรของตัวเองและภักดีต่อปูตินคนเดียว

เชื่อว่าเขาจะดำเนินการกวาดล้างกลุ่มของชอยกูในกระทรวงกลาโหมต่อไปในนามของการปราบคอร์รัปชันและอาจตั้งนักเศรษฐศาสตร์ตามแนวทางตัวเองขึ้นมาแทน ในขณะเดียวกันเขาจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยุทธวิธีซึ่งปล่อยให้บรรดานายทหารทำไป “เบลูซอฟจะสนใจกระทรวงกลาโหมเหมือนกับเป็นบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง และเขาจะบริหารแบบนั้น”

การตั้งนักเศรษฐศาสตร์มาคุมกลาโหมยังสะท้อนว่าปูตินต้องการรวมเศรษฐกิจกับการทหารเข้ากันให้มากขึ้น โดยล่าสุดงบกลาโหมของรัสเซียอยู่ที่ราว 6.7% ของจีดีพีซึ่งสูงระดับยุคโซเวียตอีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณว่าปูตินยอมรับว่าสงครามอาจต้องยืดเยื้อไปยาวๆ หลายปี และหันมาลงแข่งวัดสายป่านกับยูเครนโดยหวังว่ารัสเซียจะสามารถเอาชนะได้ด้วยการผลิตที่เหนือกว่า “เป้าหมายไม่ใช่สันติภาพ แต่เป็นสงครามที่มีประสิทธิภาพ” นักวิเคราะห์สรุป

สุดท้ายนี้นี่เป็นการสลับเก้าอี้ในวงในของปูติน โดยชอยกูจะไปรับตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมทหารแทน มีหน้าที่ควบคุมการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศ เรียกได้ว่าตำแหน่งก็สำคัญอยู่พอสมควร

เรื่องที่ย้อนแย้งเรื่องหนึ่งคือตอนที่พรีโกจินเรียกร้องให้ปลดชอยกูออกจากตำแหน่ง เขากลับเป็นฝ่ายถอยและเสียชีวิตในที่สุด ไม่ได้อยู่เห็นตอนที่ชอยกูถูกปลดออกจากตำแหน่งจริงๆ!

#TWCNews #TWCRussia #TWC_Cheeze