ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาคงเป็นวันที่ชายไทยหลายคนไม่อยากนึกถึง เพราะมันเป็น “ฤดูแห่งการเกณฑ์ทหาร” หลายคนอาจสมหวังดั่งใจได้ใบดำ หรือบางคนก็ร้องขอสมัครเป็นทหารตามความประสงค์ และรวมไปถึงเหล่าบุคคลที่ต้องผิดหวังเพราะจับได้ใบแดง
วันนี้ The Wild Chronicles จะพาไปเจาะลึกข้อดี – ข้อเสียของการเกณฑ์ทหาร รวมถึงประเด็นเผ็ดร้อนในสังคม ณ ปัจจุบันอย่าง “ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” กันครับ
*** การเกณฑ์ทหาร = หน้าที่ชายแท้ตามกฏหมาย ***
ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 7 ว่า “ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฏหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน”
ด้วยเหตุนี้ชายไทยทุกคนในวัยอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์จึงต้องได้รับการคัดเลือกด้วย “การจับใบดำใบแดง” เพื่อไปเป็น “ทหารกองประจำการ” หรือเราเรียกกันว่า “ทหารเกณฑ์” หรือ “พลทหาร” นั่นเอง
…และด้วยสถานะ “หน้าที่ตามกฏหมาย” ส่งผลให้ใครที่หนีทหาร ผู้นั้นจะต้องได้รับโทษตามกฏหมาย! … รวมถึงการขาดคุณสมบัติบางประการของการสมัครงานอีกด้วย หากยังไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องไปเกณฑ์ทหาร เนื่องจากชายไทยจำนวนมากเข้าเรียนเป็น “นักศึกษาวิชาทหาร” และผ่านการเรียนรักษาดินแดนครบ 3 ปี บุคคลเหล่านี้ก็รอดกันไปถ้วนหน้า
นอกจากนี้ยังมีกรณีได้รับการยกเว้น เช่น พิการ, พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือเหล่านักเรียนที่กำลังศึกษาต่อก็จะได้สิทธิ์ผ่อนผันต่อไปจนกว่าเรียนจบหรืออายุครบ 26 ปีได้ตามที่กฎหมายกำหนด
*** 4 กลุ่มอลเวง ***
โดยผู้ที่อายุครบตาม 21 ปีบริบูรณ์และไม่สามารถใช้สิทธิ์ผ่อนผันได้ จะถูกแบ่งออกเป็น 4 จำพวก
จำพวกที่ 1 – “ร่างกายสมบูรณ์ดี” คนกลุ่มนี้เหมาะสมสำหรับการเป็นทหาร เชิญไปนั่งเก้าอี้ทำใจเตรียมพร้อมจับใบดำใบแดงได้เลย ใครได้ใบแดงก็ต้องเข้ารับราชการทหาร 2 ปี
ส่วนคนไหนมีวุฒิการศึกษาป.ตรี (หรืออื่นๆ ตามเงื่อนไข) พี่ทหารจะให้คุณหยิบวุฒิเตรียมไว้เลย ถ้าคนไหนหยิบใบแดง ก็จะได้รับส่วนลดสุดพิเศษเป็นทหารเพียง 1 ปีเท่านั้น
จำพวกที่ 2 – “ไม่สมบูรณ์ดีแต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ” กลุ่มนี้คือกลุ่มปรารถนาของหลายคน โดยกลุ่มนี้มีเงื่อนไขว่า “ถ้าจำพวก 1 ไม่พอ” ถึงจะต้องไปจับใบดำใบแดง เรียกว่ารอดไป 99%
ซึ่งสำหรับLGBTQ+ นั้น ปัจจุบันสามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ที่โรงพยาบาลของทหาร ถ้าเป็นจริงจะได้รับการจัดอยู่ในจำพวกที่ 2 เช่นกัน ไม่ต้องไปเสี่ยงจับใบดำใบแดงครับ
…และแน่นอนว่าคนที่มีการเจอ จ่าย จบ พบสัสดีมาก่อนหน้าก็อาจจะมาอยู่ในจำพวกนี้เช่นกันครับ… อย่างไรก็ตาม กองทัพไทยได้ออกมาชี้แจงและยืนยันเสมอว่า “ไม่มีการทุจริตอย่างแน่นอน! ” และบุคคลที่ทำการเจอ จ่าย จบ หากตรวจสอบพบต้องได้รับการดำเนินคดี
…ย้ำอีกครั้ง! ถ้าตรวจสอบพบ จับแน่นอน…
จำพวกที่ 3 – “คนที่ไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารในขณะนั้นได้ เพราะป่วยและไม่สามารถรักษาให้หายได้ใน 30 วัน” ไม่ว่าจะเป็น ผ่าเข่า ข้อเท้าแตก และกระดูกสันหลังเคลื่อน …เพียงคุณถือใบรับรองแพทย์มาแจ้ง คุณจะได้รับสิทธิ์ในการผ่อนผันไปอีก 1 ปี ค่อยกลับมาใหม่ในปีหน้า…
แต่เดี๋ยวก่อน! หากคุณถูกจัดอยู่ในจำพวกนี้เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน …คุณจะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารไปเลยครับ…
จำพวกที่ 4 – “พิการ ทุพพลภาพ หรือ มีโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้” อันนี้ก็ตามนั้นเลยครับ รวมถึงกรณีน้ำหนักเกิน และในกรณีที่เป็นโรคที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คุณต้องไปขอใบรับรองแพทย์มาด้วยเช่นกัน
โดยเมื่อแบ่งตามกลุ่มแล้ว หน้าที่ของจำพวกที่ 1 คือ “ลุ้นคนสมัคร” เพราะถ้าสมัครเต็ม คุณจะรอดไปเลยทันที! แต่ถ้าไม่เต็มก็ถึงเวลากราบไหว้ทุกศาลเจ้าที่มี หยิบทุกของขลัง และสุ่มกาชาปองใบดำใบแดงได้เลยครับ
*** เป็น “ทหาร” ได้อะไรมากกว่าที่คิด ***
การเป็นทหารเกณฑ์นั้นมีข้อดีและสิทธิหลายอย่างที่หลายคนอาจจะหลงลืมไป จากข้อมูลของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน สิทธิของทหารเกณฑ์มีดังนี้
พวกเขาจะได้รับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่มค่าครองชีพ รวมมากถึง 10,000 บาท! รวมถึงได้รับเบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมตั้งแต่ 96 – 240 บาท และอุปกรณ์ส่วนตัวแบบครบครันตลอดเวลาอายุราชการ เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องนอน
อีกทั้งยังมีสิทธิที่จะได้รับความบันเทิงต่างๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชาจัดมาให้ เช่น ดูหนัง ตีปิงปอง เตะบอล และเล่นดนตรี รวมถึงสิทธิการรักษาพยาบาลฟรี และสิทธิส่งเสริมการศึกษานอกระบบให้สำเร็จการศึกษาสูงสุดถึงม.6 (เรียนฟรีนะครับ)
สำหรับคนไหนที่อยากเป็นทหารต่อ ก็อยู่ต่อได้ถึงอายุ 30 ปี พร้อมขึ้นเงินเดือนให้เพิ่มมากถึง 5% ต่อปีเลยทีเดียว
และสิทธิพิเศษในการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ (มีคะแนนพิเศษให้ด้วยนะ) ถ้าคุณสอบได้ คุณจะได้เรียนต่อ พร้อมจบออกมาเป็นทหารได้ตลอดชีวิต
ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงมองว่าการเป็นทหารเกณฑ์ มันคือ “โอกาสที่ดี” สำหรับพวกเขาในการต่อยอดหลายอย่างในชีวิต พวกเขาได้รับทั้งเงินเดือน การพัฒนาร่างกายให้แข็งแกร่ง รวมถึงอนาคตถ้าสอบคัดเลือกผ่าน พวกเขาอาจได้รับราชการทหารที่มีความมั่นคงไปทั้งชีวิต และมีหน้ามีตาในสังคม
นอกจากนี้การสมัครใจเป็นทหารยังทำให้ได้รับการลดเวลาอย่างมาก เช่น ถ้าจบปริญญาตรีก็จะรับราชการทหารเพียง 6 เดือน ถ้าไม่มีวุฒิก็รับราชการ 1 ปี ส่งผลให้ปัจจุบันยอดตัวเลขของผู้สมัครเยอะขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีที่ผ่านมา
*** 2 ปีที่หายไป ***
แม้การเกณฑ์ทหารจะมีข้อดีสำหรับบางคน แต่อย่างไรก็ตาม มันเปรียบเสมือน “ฝันร้าย” ของหลายคนเช่นกัน
การรับราชการทหารยาวนานถึง 2 ปี มันย่อมอาจหมายถึง “การสูญเสียโอกาส” ในชีวิต เนื่องจากคนที่มีงานทำอยู่แล้ว จะต้องถูกบังคับให้ออกจากงาน
…ซึ่งการเป็นทหาร ทำให้พวกเขาสูญเสียทั้งเงิน เวลา และตำแหน่งที่ควรจะได้รับในช่วงเวลาดังกล่าว…
หรือบางคนเป็นเสาหลักของบ้าน เขาต้องเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อต้องมาเป็นทหารแบบนี้ ครอบครัวของเขาต้องยากลำบากอย่างแน่นอน
ไม่เพียงแค่นั้น การเกณฑ์ทหารของไทยถูกระบุจากหลายฝ่ายว่า “นี่ไม่ใช่การรับใช้ชาติ แต่นี่คือการรับใช้นาย” พวกเขาถูกเกณฑ์ไปเพื่อทำทุกอย่างที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำ เช่น ตัดหญ้า เลี้ยงไก่ ล้างคอกไก่ เฝ้าบ้าน แม้กระทั่งการซักกางเกงในให้ผู้บังคับบัญชาและคุณนาย
อีกทั้งยังมีเรื่องของความปลอดภัยภายในค่ายที่ไร้มาตรฐาน เช่น การถูกสั่งซ้อมและทำร้ายร่างกาย ถูกรุ่นพี่กดขี่ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวอย่างต่อเนื่องทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต
…โดยตรวจสอบและค้นหาความจริง ตามหาผู้กระทำผิดมาลงโทษแทบไม่ได้…
*** คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ ***
“ถ้าไม่อยากเป็นทหาร ทำไมไม่เรียน รด.”, “เพราะไม่รู้จักเตรียมพร้อม ก็ต้องรับสภาพให้ได้สิ ” นี่คงเป็นประโยคคำถามยอดฮิตที่คนที่ไม่อยากเกณฑ์ทหารอาจเคยได้ยิน และมันเป็นคำถามที่ดูไม่ต้องการคำตอบอย่างแรง
มันเป็นจริงที่ว่า “แค่เรียน รด.” ก็ไม่ต้องเกณฑ์ทหารแล้ว …อย่างไรก็ตาม การเข้าเรียนเป็นนักศึกษาวิชาทหาร มันไม่ได้ง่ายหรือเป็นไปได้สำหรับทุกคนขนาดนั้น…
การเรียนเป็นนักศึกษาวิชาทหารจำเป็นต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐานในการสมัครเรียน เช่น ต้องจบการศึกษาในระดับม.3 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า ซึ่งตรงนี้ไม่ได้ยากนัก เนื่องจากไทยมี “การศึกษาภาคบังคับ” ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. ๒๕๔๕
อีกคุณสมบัติคือพวกเขาต้องผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ดังนี้
– ลุกนั่ง 34 ครั้ง / 2 นาที
– ดันพื้น 22 ครั้ง / 2นาที
– วิ่ง 800 เมตร / 3 นาที 15 วินาที
ซึ่งในกรณีการวิ่งถือว่ายากประมาณนึง ซึ่งถ้าใครไม่สามารถทำตามนี้ได้ทั้งหมด คุณก็จะอดเรียนรด. แต่…บางพื้นที่ถึงจะวิ่งเกินเวลาก็ได้เรียนนะครับ ขึ้นอยู่กับคนที่สมัครเรียนด้วย สุดท้ายมันหยวนๆ ได้อยู่ดี
คุณสมบัติที่กล่าวมาอาจมองว่า “มันก็ยังไม่ได้ยากอะไรนี่” ยิ่งกับการทดสอบสมรรถภาพ หากพยายามฝึกซ้อมเรื่อยๆ ยังไงก็ทดสอบผ่าน
อย่างไรก็ดี นี่คือการ “สมัครเข้าเรียน” และมันมีปัจจัยที่ทุกคนไม่ได้มีเท่ากันอย่าง “เงิน” เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการสมัครเข้าเรียนนักศึกษาวิชาทหาร มันไม่ได้ฟรี!
เมื่อสอบผ่านทุกสิ่งได้ทั้งหมด คุณต้องจ่ายค่าบำรุงการศึกษา รวมถึงค่าชุด ค่ารองเท้า และอื่นๆ ที่ต้องใช้ในการเรียน รวมประมาณ 2,000 – 3,000 บาท …และนี่เป็นเฉพาะ “ค่าแรกเข้า” ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ระหว่างเรียน เช่น ค่าเดินทางไปเรียน ค่าตัดผม เป็นต้น
ซึ่งจำนวนเงินตรงนี้ มันลำบากมากพอสำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำ และภาระรายจ่ายมากมาย พวกเขาไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ส่วนนี้ได้
มันจึงเปรียบเสมือน “การปิดประตู” ของการเรียนรด. แล้ว “เปิดประตู” ก้าวเดินไปจับใบดำใบแดงแบบอัตโนมัติ
*** มันถึงวันที่ควรค่าแก่การเปลี่ยนแปลง? ***
ก่อนอื่นต้องกล่าวก่อนเลยว่า “การยกเลิกเกณฑ์ทหาร” ไม่ใช่ “การยกเลิกทหาร” แต่อย่างใด …มันคนละอย่างกันโดยสิ้นเชิง…
กระแสสังคมในปัจจุบันต้องการให้กองทัพไทยเปลี่ยนจาก “การบังคับเกณฑ์ทหาร” มาเป็น “ระบบสมัครใจ 100%” เนื่องจากมีมุมมองว่าไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องเกณฑ์ทหารไปทำอะไรสำคัญในตอนนี้ อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาการเสียโอกาสของชายไทยหลายคนอีกด้วย
เมื่อปรับเป็นการสมัครใจทั้งหมด จากนั้นเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการให้กับทหารเหล่านั้นมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการสมัครเป็นทหารมากยิ่งขึ้น
…เมื่อได้ “คนมีใจรัก” ไปฝึก ประสิทธิภาพของทหารเหล่านั้นอาจจะดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ได้…
นอกจากนี้ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่สูงลิบลิ่วในทุกปี รวมถึงประเด็นการรัฐประหารที่เคยเกิดขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ไทย หากมีการเปลี่ยนแปลงแล้วผลลัพธ์ออกมาในทิศทางที่ดี ภาพลักษณ์ของกองทัพไทยก็จะดีขึ้นอีกด้วย
อีกทั้งพระราชบัญญัติรับราชการทหารที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ถูกร่างออกมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งหลายฝ่ายก็เล็งเห็นว่ามันควรมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
กระแสแห่งความหวังชายไทยเปล่งประกายขึ้นอย่างมากในช่วงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคอื่นๆ ได้ชูนโยบาย “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” ขึ้นมาเป็นนโยบายหลัก ซึ่งถือเป็นความท้าทายทางการเมืองครั้งใหญ่ตั้งแต่มีการบังคับเกณฑ์ทหารครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5
…กราฟแห่งความหวังพุ่งขึ้นไปอีก เมื่อพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยชนะผลการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ…
อย่างไรก็ตาม ด้วยซิกเนเจอร์การเมืองไทย พรรคก้าวไกลโดนเตะกระเด็นจากแก๊งค์ตกไปฝ่ายค้าน ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยต้องเล็งเห็นผลประโยชน์ของบ้านเมือง และทำการจับมือกับพรรคต่างๆ แบบไม่เลือกข้าง ทำให้ตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้สำเร็จ
การที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำรัฐบาล ทำให้ชายไทยทั่วประเทศยังคงมีความหวังอยู่ เพราะการยกเลิกเกณฑ์ทหารยังคงเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเน้นย้ำเสมอในช่วงหาเสียง
รวมถึงนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่โพสต์ในแอคเคาต์ส่วนตัวของตนเองผ่านแอปพลิเคชั่น X ช่วงหาเสียงว่า “การเกณฑ์ทหารด้วยความสมัครใจ เป็นหนึ่งในนโยบายที่ผมมักพูดอยู่เสมอครับ เพราะทหารควรเป็นอาชีพที่น่ายกย่องและน่านับถือ ผมอยากให้ผู้คนกลับมาเชิดชู และศรัทธาอีกครั้ง นโยบายที่ผมต้องการทำไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารให้เป็นระบบสมัครใจ แต่ยังเป็นการพัฒนาทักษะด้วยหลักสูตรที่ทันสมัย สร้างอาชีพให้กับบุคคลที่ต้องการอย่างทัดเทียมนานาชาติ”
นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้ง “สุทิน คลังแสง” พลเรือนคนแรกที่ไม่ได้เป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้นั่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยคุณสุทินได้มีการพูดคุยกับผู้นำเหล่าทัพหลังดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 2 วัน
ซึ่งหลังการพูดคุยเขากล่าวว่าจะปรับการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 อีกทั้งจะมีการปรับจำนวนนายพลให้ลดลงอีกด้วย …โอโห้ นี่มันแสงสว่างของแทร่…
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวก็เลือนลางหายไป ก่อนจะได้บทสรุปออกมาว่าการยกเลิกเกณฑ์ทหารไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 50(5) ที่บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่รับราชการตามที่กฏหมายบัญญัติ”
แต่ทางรัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนให้ “ลดจำนวนการเกณฑ์ทหาร” ลงเรื่อยๆ ในทุกปี เพื่อให้ในที่สุด “การเกณฑ์ทหารแบบบังคับ” จะต้องหายไปอย่างแน่นอน
…เป็นอันว่าการเกณฑ์ทหารของชายไทยยังคงต้องดำเนินต่อไปเช่นเดิม…
ล่าสุดในปี 2567 จำนวนผู้สมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารยังคงเพิ่มขึ้นแบบในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การจับใบดำใบแดงน้อยลงไปด้วย
โดยสุทิน คลังแสง (ว่าที่อดีต) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงออกมาบอกว่า ยอดสมัครใจเกณฑ์ทหารยังต่ำกว่าเป้าที่ต้องการ จะพัฒนาให้ทุกอย่างดียิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดผู้สมัครในปีหน้า
…เพื่อนำไปสู่การยกเลิกการเกณฑ์ทหารในอนาคตอันใกล้นี้… ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้
อีกฟากฝั่งฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลก็ยังคงยื่นญัตติเกี่ยวกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เพื่อให้เข้าพิจารณาในสภาต่อไป …แต่ยังขาดลายเซ็นสำคัญอยู่ เรื่องนี้เลยต้องชะลอก่อน…
สุดท้ายแล้วบทสรุปของเรื่องราวนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป แล้วมุมมองของท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดว่าการบังคับเกณฑ์ทหารควรที่จะ “ไปต่อ” หรือ “ยุติ” แต่เพียงเท่านี้?
0 Comment