สิ่งที่เกิดขึ้นหลังสงครามยูเครนเมื่อต้นปี 2022 คือ การคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซียของชาติตะวันตก และการถอนทุนของบริษัทข้ามชาติอีกหลายบริษัท ทั้งหมดเพื่อประท้วงปูตินให้หยุดทำสงครามนี้เสียที
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ปรากฏภายนอกคือรัสเซียยังคงทำสงครามต่อไป ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของรัสเซียหลายอย่างยังดูดี ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินรูเบิล ยอดการส่งออกสินค้าพลังงานที่ได้รับการพยุง หรืออัตราเงินเฟ้อลดลง จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า การคว่ำบาตรรัสเซียครั้งนี้ได้ผลจริงหรือ? หรือชาติตะวันตกเองนั่นแหละที่จะต้องเดือดร้อนจากปัญหาสินค้าแพง เพราะไม่ได้พึ่งทรัพยากรพื้นฐานจากรัสเซีย?
แน่นอนบางคนอาจจะคิดไปอย่างนั้น แต่การตัดรัสเซียออกจากระบบธนาคารโลก หรือการห้ามใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ และการที่บริษัทต่างๆ ที่แห่ออกนอกประเทศไปนั้น ไม่สะเทือนต่อเศรษฐกิจรัสเซียจริงหรือ? สรุปแล้วการคว่ำบาตรเป็นวิธีที่ได้ผลในการยุติสงครามจริงหรือไม่? เพราะพ้นจากวิธีนี้ ก็น่ากลัวจะมีแต่การใช้ “สงครามเพื่อยุติสงคราม” แล้ว
บทความนี้จะพยายามหาคำตอบนี้กันครับ
การคว่ำบาตรได้ผลหรือไม่?
มีเรื่องตลกร้ายอย่างหนึ่งของการพูดคุยเรื่องการคว่ำบาตรรัสเซีย คือ ในตอนแรกเก็งกันว่ายูเครนจะแพ้สงครามในไม่กี่วัน และเศรษฐกิจรัสเซียก็จะถูกการคว่ำบาตรเล่นงานจนพังพินาศจากภายใน
…แต่ความจริงกลับตาลปัตรเสียอย่างนั้น ปรากฏว่ายูเครนไม่ได้แพ้สงคราม แต่เศรษฐกิจรัสเซียก็ยังไม่พัง…
ถ้าผู้นำตะวันตกหวังให้การคว่ำบาตรนี้กดดันปูตินให้ยอมยุติสงคราม คำตอบออกมาแน่นอนแล้วว่า “ไม่ได้ผล” แต่ถ้าถามว่าการคว่ำบาตรจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจรัสเซียแย่ลงหรือไม่? เท่าที่ผมหาคำตอบดูแล้ว ก็ต้องตอบว่าใช่ แต่อาจจะไม่เท่ากับที่หลายคนหวังไว้
การคว่ำบาตรครั้งนี้ต่างจากการคว่ำบาตรครั้งก่อนๆ ที่พยายามเล่นงานเฉพาะชนชั้นนำรัสเซีย แต่รอบนี้หว่านแหเลยครับ …สังคมรัสเซียได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เชื่อว่าตีเป็นตัวเลขความเสียหายประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า อ้าว รัสเซียก็ยังส่งออกสินค้าพลังงาน มีค่าเงินแข็ง และคนทั่วไปก็ยังดูใช้ชีวิตกันปกติอยู่เลยนี่ ฟังโฆษณาชวนเชื่อตะวันตกมากเกินไปหรือเปล่า
…ผมขอให้ทุกท่านอ่านรายละเอียดต่อไปนี้นะครับ
ความเชื่อเกี่ยวกับการคว่ำบาตรรัสเซีย
ถึงแม้การคว่ำบาตรจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ถึงกระนั้นเศรษฐกิจรัสเซียก็ห่างไกลจากคำว่า “อยู่รอดอย่างเข้มแข็ง” อย่างที่พยายามมีการโฆษณาออกมา ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายต่อ “ความเชื่อ” ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตรรัสเซีย
[ความเชื่อที่ 1 รัสเซียสามารถขายน้ำมันและแก๊สธรรมชาติให้ชาติเอเชียแทนลูกค้าใหญ่ยุโรปได้]
ประเด็นเรื่องสินค้าพลังงานเป็นประเด็นที่ปูตินชอบหยิบยกขึ้นมาอวดอ้างว่าเศรษฐกิจรัสเซียยังสตรองไม่ง้อลูกค้ารายเก่า ๆ แต่การลดการซื้อทั้งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติรัสเซียนี้ส่งผลกระทบต่อรัสเซียมากเหมือนกัน เพราะถึงแม้ในปัจจุบันที่ยุโรปยังไม่ได้แบนอย่างสมบูรณ์ แต่การหาลูกค้าซื้อสินค้าพลังงานแทนยุโรปยังหาได้ยาก
สาเหตุเพราะแก๊สธรรมชาติที่รัสเซียส่งออกนั้นส่วนใหญ่ขนส่งทางท่อ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ส่งออกในรูปแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) ทางเรือได้ เพราะฉะนั้นกว่าจะหาลูกค้ารายใหม่แทนยุโรปได้ก็ต้องมีการต่อท่อส่งเสียก่อน ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้จะมีข่าวว่ารัสเซียกับจีนเซ็นสัญญาซื้อแก๊สธรรมชาติรัสเซียไปเมื่อต้นปี 2022 แล้วนั้น แต่พบว่าปริมาณยังน้อยกว่าสัญญากับยุโรปถึง 18 เท่า
นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แม้ว่าหลายประเทศยังไม่แบนสินค้าพลังงานรัสเซีย แต่ก็ใช้วิธี “กดราคา” แทน อย่างจีนกับอินเดียที่ต่อราคาน้ำมันรัสเซียลงร้อยละ 35 จากราคาตลาดโลก (เทียบกับช่วงปกติที่มีการต่อรองกันไม่เกินร้อยละ 5)
การนี้จึงดูเหมือนว่ารัสเซียจะต้องการโลก มากกว่าโลกต้องการรัสเซีย…
[ความเชื่อที่ 2 รัสเซียสามารถนำเข้าสินค้าจากเอเชียแทนชาติตะวันตกได้]
การคว่ำบาตรและการถอนทุนของบริษัทตะวันตกทำให้เศรษฐกิจรัสเซียที่พึ่งพาการนำเข้าถึงร้อยละ 20 ประสบปัญหา โดยตัวเลขยอดนำเข้าสินค้าในช่วงหลังของรัสเซียลดงถึงร้อยละ 50 ซึ่งเป็นพวกสินค้าที่ใช้ป้อนโรงงาน จำพวกชิ้นส่วนและเทคโนโลยีต่าง ๆ
ปูตินคงคาดว่าจะพึ่งพาการนำเข้าจากจีนได้ แต่จากตัวเลขของศุลกากรจีนพบว่ายอดส่งออกจากจีนไปรัสเซียลดลงกว่าร้อยละ 50 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี แถมยอดการส่งออกนี้ยังคิดเป็นแค่ 1 ใน 7 ของยอดส่งออกจากจีนไปสหรัฐ จึงดูเหมือนว่าจีนคงเกรงกระทบต่อตลาดสหรัฐซึ่งเป็นตลาดใหญ่กว่ารัสเซีย…
[ความเชื่อที่ 3 การบริโภคภายในประเทศของรัสเซียยังเป็นปกติ]
ภาพข่าวที่ออกมาจากสื่อรัสเซีย แสดงว่าชีวิตประจำวันของชาวรัสเซียไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อย่างเช่น เมื่อแมคโดนัลด์ถอนตัวออกไป ก็เกิดแบรนด์ฟาสฟู้ดของรัสเซียขึ้นมาแทนที่ แบบนี้แปลว่าชาวรัสเซียไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากหรือเปล่า?
อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูตัวเลขทางเศรษฐกิจ จะพบว่าเงินเฟ้อของรัสเซียอาจพุ่งสูงขึ้นไปแตะร้อยละ 40-60 เนื่องจากสินค้าขาดแคลน (เป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากสินค้ามีน้อยกว่าเงินตรา) อธิบายให้เห็นภาพคือยอดขายรถยนต์ต่างประเทศที่ลดลงถึงร้อยละ 95 เช่นเดียวกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI), รายจ่ายซื้อสินค้าปลีกของผู้บริโภค, ยอดขายอีคอมเมิร์ซ, และอัตราการใช้บริการในร้านเดียวกันทั้งหมดล้วนลดลง ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าคนรัสเซียและธุรกิจต่างๆ กำลังใช้จ่ายน้อยลง
อาจมีคนมาแย้งว่ารัสเซียมีสินค้าหลายอย่างที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ คนรัสเซียไม่ได้เดือดร้อนเท่าไหร่หรอก
…ซึ่งผมจะพูดถึงประเด็นนี้อีกทีนะครับ
[ความเชื่อที่ 4 การถอนตัวของธุรกิจตะวันตกมีการรายงานเกินจริง]
การคว่ำบาตรทำให้มีธุรกิจทั่วโลกแห่ถอนตัวออกไปจากรัสเซียกว่า 1,000 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นถึงร้อยละ 40 ของจีดีพีรัสเซีย ตัวเลขนี้เท่ากับยอดการลงทุนต่างประเทศในรัสเซียกว่า 3 ทศวรรษ ธุรกิจเหล่านี้มีการจ้างงานคนรัสเซียถึง 5 ล้านคนซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12 ของกำลังแรงงานรัสเซีย นี่ยังไม่รวมถึงแรงงานฝีมือรัสเซียที่ “สมองไหล” แห่ออกนอกประเทศถึงกว่า 500,000 คน ทั้งหมดมีข้อมูลยืนยัน
…สิ่งเหล่านี้น้อยหรือ?
[ความเชื่อที่ 5 รัสเซียยังมีเงินคงคลังอยู่มาก]
ก่อนสงครามยูเครน รัสเซียได้ตุนเงินสำรองระหว่างประเทศถึง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปูตินคงคิดว่าเพียงพอรับมาตรการคว่ำบาตรได้ แต่ในไม่กี่วันรัฐบาลตะวันตกก็อายัดทรัพย์สินของรัฐบาลรัสเซียไปถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แถมเงินสำรองที่เหลืออยู่ของรัสเซียก็กำลังหายไปอย่างรวดเร็ว โดย 3 เดือนใช้เงินสำรองไปแล้ว 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในเรื่องนี้รัฐมนตรีคลังรัสเซียเคยเสนอว่าจะดึงเงินจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (คล้ายๆ กับกองทุนบำเหน็จบำนาญ) มาโปะการขาดดุลงบประมาณ แต่ปูตินได้เบรกไว้ สิ่งเหล่านี้ส่อชัดอยู่แล้วว่ารัฐบาลรัสเซียกำลังประสบปัญหาหมุนเงินไม่ทัน ถ้าไม่ทำอะไรเพิ่ม เงินคงคลังก็จะหมดไปเรื่อย ๆ
[ความเชื่อที่ 6 เงินรูเบิลรัสเซียแข็งแกร่งที่สุดในโลก]
อันนี้เป็นอีกโฆษณาชวนเชื่อฝั่งรัสเซียที่เราได้ยินกันบ่อยในช่วงนี้ สาเหตุที่บอกว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อนั้นเป็นเพราะตัวเลขค่าเงินรูเบิลรัสเซียที่แข็งค่าขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากมาตรการควบคุมการไหลออกของทุนอย่างโหด และเกิดอุปสงค์เทียมจากการให้ซื้อสินค้าพลังงานของรัสเซียด้วยเงินรูเบิลเท่านั้น
อธิบายให้ละเอียดขึ้น คือรัสเซียมีมาตรการให้ผู้ส่งออกต้องแลกเงินสกุลต่างประเทศร้อยละ 80 ให้เป็นเงินรูเบิล, ชาวต่างชาติห้ามขายหุ้นและพันธบัตรรัสเซีย, และห้ามโอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง
ภายใน 5 – 6 วันแรกหลังเกิดสงคราม ธนาคารกลางรัสเซียยังให้เงินกู้แก่ธนาคารพาณิชย์รัสเซียเป็นเงินถึง 4.4 ล้านล้านรูเบิล (ประมาณร้อยละ 3.4 ของจีดีพี) เพื่อพยายามรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน
มาตรการเหล่านี้ถือว่าเด็ดขาดก็จริง แต่คำถามที่แท้จริงคือมาตรการเหล่านี้จะใช้ได้นานถึงไหน?
จนถึงตอนนี้ธนาคารรัสเซียเองยังยอมรับว่าอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการนั้นเป็นตัวเลขตามนโยบายเท่านั้น เพราะแท้จริงมีปริมาณการซื้อขายเงินรูเบิลต่ำลงมากเมื่อเทียบกับก่อนสงคราม แต่แน่นอนว่าไม่ได้สะท้อนอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการซื้อขายในตลาดมืดอีก
…ทั้งหมดนี้ดูเหมือนว่ารัสเซียไม่ได้ต้องการให้เงินรูเบิลรัสเซียทำหน้าที่เป็นเงิน แต่เป็นสินค้าที่ตั้งราคาโชว์ไว้เฉยๆ มากกว่า…
ค่าเงินรูเบิลในขณะนี้ยังเป็นตัวบ่งบอกว่ารัสเซียกำลังถูกโดดเดี่ยวจากเศรษฐกิจโลก และอุปสงค์ในประเทศที่หดลงอย่างมาก และอันที่จริงยิ่งค่าเงินแข็งยิ่งทำให้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ยากขึ้นด้วยซ้ำ
สิ่งที่กำลังทำร้ายเศรษฐกิจรัสเซีย คือ การห้ามนำเข้า
การปล่อยให้รัสเซียสามารถส่งออกสินค้าพลังงานซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญได้ต่อไป ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียยังคงมีรายได้ในส่วนนี้ ซึ่งถือว่าเป็นกอบเป็นกำ เพราะทางการรัสเซียเปิดเผยว่าพวกเขามีบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึง 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน 5 เดือนแรกของปี 2022 หรือมากกว่าช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน 3.4 เท่า สาเหตุก็เนื่องจากราคาสินค้าพลังงานที่ส่งออกไปได้
เรื่องนี้ทำให้ดูเหมือนว่าการคว่ำบาตรของตะวันตกไม่ได้ผล โดยที่รัสเซียดูจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย
…อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์ชี้ว่าสิ่งที่ “เข้าเป้า” ในการคว่ำบาตรของตะวันตกแล้วคือการห้ามรัสเซียนำเข้าสินค้าสำคัญ
สิ่งที่น่าสังเกตคือ รัสเซียหยุดเผยแพร่สถิติการค้าขายต่างประเทศ (ซึ่งก็ไม่จำเป็นเลยถ้ารัสเซียมีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น ทำไมต้องปิดข้อมูลนี้?)
จากข้อมูลภาษี VAT ที่เก็บได้ ประมาณกันว่ามูลค่าการนำเข้าของรัสเซียอาจลดลงแล้วอย่างน้อย 2.3 เท่า ซึ่งเรื่องนี้สำคัญเพราะเศรษฐกิจรัสเซียจำเป็นต้องพึ่งพาชิ้นส่วนและเทคโนโลยีจากตะวันตกที่ต้องนำเข้าหลายอย่าง
อย่างภาคที่มีสัดส่วนการนำเข้าเกินร้อยละ 50 มีตั้งแต่ยารักษาโรค การผลิตรถยนต์ สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กโทรนิกส์และคอมพิวเตอร์
ส่วนอุตสาหกรรมโลหะ เคมีและกระดาษก็ต้องพึ่งพาการนำเข้ามาก ซึ่งเกินร้อยละ 30 ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าจากอียู สหรัฐและแคนาดา (ซึ่งคว่ำบาตรรัสเซีย)
…ผลคือรถยนต์รัสเซียขายได้น้อยลง 5-6 เท่าแล้วเมื่อเทียบกับปีก่อน รถยนต์ที่ผลิตในตอนนี้ไม่มีถุงลมนิรภัย เกียร์อัตโนมัติ (AT) และแอร์แล้ว ทำให้มีรถยนต์สไตล์โซเวียตกำลังจะกลับมา ซึ่งรถยนต์พวกนี้มักมีรูปลักษณ์ที่ไม่ทันสมัย และมีปัญหาเรื่องคุณภาพ เช่น บางยี่ห้อมีตัวรถทำจากเยื่อไม้ ใยฝ้ายกับยางไม้ผสมกัน
…อุตสาหกรรมอาวุธของรัสเซียขาดเครื่องยนต์ ไมโครโปรเซสเซอร์ ระบบส่งข้อมูล และระบบภาพแสงและความร้อน ทำให้การผลิตช้าลง
…อุตสาหกรรมต่อเรือและเครื่องบินของรัสเซียขาดเครื่องยนต์และชิ้นส่วน และเริ่มมีรายงานแล้วว่าสายการบินรัสเซียจำเป็นต้องรื้อเครื่องเก่าๆ เพื่อใช้ชิ้นส่วนแทน
ที่ผ่านมายุโรปและรัสเซียพึ่งพากันแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ขณะที่ยุโรปพึ่งพารัสเซียในด้านพลังงาน เรายังกล่าวได้ว่าสินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่รัสเซียต้องพึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าใครพึ่งใครอยู่ฝ่ายเดียว
การตัดขาดจากสินค้าตะวันตกจะทำให้ช่องว่างทางเทคโนโลยีของรัสเซียกับตะวันตกยิ่งถ่างออก ทำให้ต้องหันไปผลิตสินค้าที่เรียบง่ายและล้าสมัยกว่า…
แม้โครงสร้างทางเศรษฐกิจรัสเซียจะยังพอพยุงเศรษฐกิจรัสเซียต่อไปได้ แต่ในระยะยาวเศรษฐกิจจะต้องซบเซาแน่นอน
การปรับตัว “New Normal” สำหรับชาวรัสเซีย
ปูตินบอกนักธุรกิจรัสเซียว่า “พวกตะวันตกไม่มีแผนที่จะเลิกกดดันรัสเซียทางเศรษฐกิจ” และเศรษฐกิจรัสเซียทุกภาคส่วนจะต้อง “สร้างแผนระยะยาวที่อาศัยโอกาสในประเทศ”
…ทั้งนี้ปูตินย่อมคาดเดาผลจากการคว่ำบาตรของตะวันตกได้นานแล้ว เพราะตั้งแต่การยึดไครเมียในปี 2014 เป็นต้นมา เขาก็เตรียมรับการคว่ำบาตรจากตะวันตกเอาไว้อย่างดี โดยใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “ป้อมปราการรัสเซีย” (Fortress Russia)
รัสเซียพยายามสร้างระบบบัตรชำระเงินที่เรียกว่า “มีร์” (Mir) รองรับการคว่ำบาตรธนาคาร ซึ่งมียอดการใช้งานบัตร 113 ล้านใบในปี 2021 (เพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านใบในปี 2016) อย่างไรก็ตาม มีธนาคารที่เข้าร่วมระบบนี้เพียง 400 แห่ง มักตั้งอยู่รัฐที่รัสเซียมีอิทธิพล เทียบกับระบบ SWIFT ที่มีผู้เข้าร่วมถึง 11,000 แห่ง
ทางการรัสเซียพยายามผลิตสินค้าทดแทนบริษัทแพ็กเกจอาหาร เครื่องครัว โคคาโคลาและแม็กโดนัลด์ของตะวันตก แต่ก็เริ่มมีข่าวประสบปัญหาแล้ว
อีกปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนตกงานจำนวนมาก เพราะตามที่บอกว่าแรงงานร้อยละ 12 ของประเทศถูกจ้างโดยบริษัทตะวันตก คาดว่าอัตราการว่างงานรัสเซียอาจอยู่ระหว่างร้อยละ 8-25 แล้วแต่อุตสาหกรรม (แต่ทางการรัสเซียพยายามปิดบังตัวเลขนี้โดยการให้ควักเงินทุนของธุรกิจออกมาจ่ายต่อ) ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าแรงที่ลดลงเนื่องจากธุรกิจต้องปิดกิจการหรือต้องลดเวลาทำงาน
กรุงมอสโกพยายามรับมือปัญหาคนตกงานด้วยโครงการฝึกอาชีพและจ้างคนตกงานเหล่านี้ให้มา “ทำประโยชน์” เช่น จัดการกับเอกสารราชการ อย่างพาสปอร์ตและสูติบัตร โดยมีการกันงบไว้ 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้รองรับตำแหน่งงาน 200,000 ตำแหน่ง อีกวิธีการหนึ่งคือรัฐวิสาหกิจพยายามแจกจ่ายที่ดินเพื่อให้คนงานเพาะปลูกกินเอง…
เฉพาะการตัดการเข้าถึงตลาดทุนตะวันตก ก็ทำให้รัสเซียเสียเงินลงทุนที่ควรจะได้รับถึงปีละ 30,000 – 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัสเซียลดลงไปคิดเป็นร้อยละ 10-15 ของจีดีพี ถ้ารัสเซียคิดจะอยู่โดดเดี่ยวยาว ๆ ก็ต้องทนรับผลกระทบตรงนี้ให้ได้
เมื่อมัวหมองมิตรมองเหมือนหมูหมา
จากที่กล่าวมา ท่านคงเห็นว่ารัสเซียมีความจำเป็นต้องหาแหล่งนำเข้าสินค้าใหม่อย่างเร่งด่วน โดยประเทศแรกๆ ที่รัสเซียคงกำลังมองหาอยู่ คือ จีน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสมาชิกในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย หรือแม้แต่บางประเทศในสหภาพยุโรปที่มีการบังคับใช้กฎหมายศุลกากรไม่ค่อยเข้มงวด
…สิ่งที่ปูตินกำลังมองหาคือธุรกิจที่ช่วยดำเนินการตามช่องโหว่ของการคว่ำบาตรให้…
กลเม็ดหนึ่งที่ใช้กันบ่อยคือการขนส่งระหว่างเรือต่อเรือ เช่น การที่เรือสินค้ารัสเซียส่งมอบสินค้าให้เรือสินค้าประเทศอื่น แล้วค่อยไปขายต่อในท่าของตะวันตก มีการใช้วิธีนี้เพิ่มขึ้นมากหลังสงครามยูเครน และการปกปิดแหล่งที่มาของสินค้าบางชนิดก็ทำได้ไม่ยากด้วย แต่รัสเซียก็ยังคงต้องเสียผลประโยชน์จากการต้องจ่ายค่าดำเนินการให้กับประเทศหรือธุรกิจอื่นที่รับดำเนินการให้นั่นเอง
…ทีนี้ก็มาถึงประเด็นใหญ่ แล้วจีนจะช่วยรัสเซียหรือไม่? เพียงใด?
แม้ข้อมูลจะมีขัดแย้งกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ชี้ไปในทางที่ว่าจีนไม่ได้ช่วยรัสเซียมากขนาดนั้น
การนำเข้าจากจีนทดแทนการนำเข้าจากตะวันตกได้ไม่ถึงครึ่ง ระบบบัตรเครดิตยูเนียนเพย์ของจีนยังเข้ามาแทนมาสเตอร์การ์ดและวีซ่าไม่ได้ และเครื่องบินรัสเซียก็ลงจอดที่สนามบินจีนไม่ได้เพราะเกรงว่าจะโดนยึดเครื่องในนามของบริษัทตะวันตกที่ให้เช่า
บริษัทใหญ่ของจีน เช่น หัวเว่ยและเสี่ยวมี่ถอนตัวออกจากรัสเซียอย่างเงียบ ๆ และการลงทุนในโครงการเข็มขัดและเส้นทางของจีนในรัสเซียก็เป็น 0 ในปีนี้
สื่ออีโคโนมิกไทมส์ของอินเดียยังระบุว่า ผู้แทนรัสเซียพยายามขอให้จีนยืนยันภาวะหุ้นส่วน “ไร้ขีดจำกัด” ระหว่าง 2 ประเทศ และกดดันให้รัฐบาลจีนสนับสนุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ค่อยได้ผลนัก
ทางการจีนยังมีการเปลี่ยนตัวเล่อ อี้ว์เฉิง (Le Yucheng) รัฐมนตรีช่วยฯ ต่างประเทศ ออก โดยเล่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียและแสดงท่าทีสนับสนุนรัสเซีย ท่าทีดังกล่าวอาจเป็นการแสดงออกว่าจีนไม่ต้องการดูใกล้ชิดกับรัสเซียมากเกินไป รวมทั้งชี้ว่ากระทรวงการต่างประเทศจีนต้องการจัดการความสัมพันธ์กับสหรัฐและสหภาพยุโรปให้ดียิ่งขึ้น
ด้านรัฐมนตรีกลาโหมจีนกล่าวว่าจีนจะไม่ให้การช่วยเหลือทางทหารต่อรัสเซียในสงครามยูเครน เพราะทั้ง 2 ประเทศไม่ใช่พันธมิตรทางทหารกัน และจะไม่มุ่งเป้าไปยังประเทศที่สาม
ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ จีนก็บอกรัสเซียว่า สงครามต้องยุติลงก่อน จึงจะช่วยให้รัสเซียรับมือกับการคว่ำบาตรได้ดียิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นการสื่อให้เห็นทางเลือกที่ลำบากของจีน ทางหนึ่งจีนอาจต้องการช่วยเหลือหุ้นส่วนที่สำคัญ แต่อีกทางหนึ่งจีนก็ไม่อยากเสี่ยงโดนหางเลขไปด้วย
…นอกจากนี้ หากมองปัจจัยเรื่องอำนาจอย่างเดียว การที่รัสเซียอ่อนแอลงย่อมมีผลดีต่อจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่อยู่ใกล้เคียงกัน……
บทส่งท้าย
จากเนื้อหาตามสื่อต่างๆ ที่ผมรวบรวมมานี้ ผมคงต้องบอกว่า เศรษฐกิจรัสเซียยัง “ไปต่อได้” หลังถูกตะวันตกคว่ำบาตร …แต่การบอกว่าเศรษฐกิจรัสเซีย “ไปต่อได้” นี้จะไปแบบเจ็บน้อยหรือเจ็บมากนี่อีกเรื่องหนึ่ง
…เศรษฐกิจรัสเซียคล้ายภูเขาสูงมหาสมุทรใหญ่ มิใช่จะโค่นล่มโดยง่าย
…การบั่นทอนนี้จะไม่ได้ทำให้รัสเซียอ่อนแอจนโจมตียูเครนไม่ได้ พวกเขาย่อมมีกำลังรณรงค์สงครามไปอีกหลายปี…
มันจะไม่ใช่มีดที่จะสังหารรัสเซียให้ตาย หรือเป็นหมัดฮุกที่ทำให้กองเชียร์ยูเครนสะใจ
…แต่มันจะเป็นเหมือนยาพิษที่กัดกร่อนไปเรื่อย ๆ…
…แม้ความยิ่งใหญ่ไพศาลของรัสเซียทำให้พวกเขายากจะถูกโค่นล้ม แต่การรักษาสถานะมหาอำนาจท่ามกลางการแข่งขันกับจีน และอเมริกานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผลงานสิบกว่าปีของปูตินที่คนรัสเซียนิยมเขามาก คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจรัสเซียและการพารัสเซียให้ “เลื่อนชั้น” กลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้งหลังแผ่วลงไปในยุคเยลต์ซิน แต่ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป เผลอๆ ตัวเขาเองนั่นแหละจะกลายเป็นผู้ทำลายเศรษฐกิจรัสเซียและรัสเซียให้ “ตกชั้น” กลายเป็นประเทศ “เกือบ” มหาอำนาจอีกครั้ง…
0 Comment