ในวัฒนธรรมอาหารของชาวเปอร์เซียมีอยู่เมนูหนึ่งที่มีความโดดเด่นและชาวเปอร์เซียเองต่างก็รับประทานกันมาอย่างเนิ่นนานนั่นก็คือ “ขนมปังซานกัค” (Sangak Bread) หรือ “ขนมปังกรวด” ชื่ออาจจะฟังดูแปลก แต่จริง ๆ มันมีที่มาจากคำว่า “Sangak” ในภาษาเปอร์เซีย หมายถึง “ก้อนกรวด”
Burhan-i Qati พจนานุกรมภาษาเปอร์เซียที่รวบรวมในช่วงศตวรรษที่ 17 กล่าวถึงซานกัคว่าเป็นขนมปังที่อบอยู่บนกรวดหินร้อน ๆ โดยชาวเปอร์เซียมักทำขนมปังซานกัคในฤดูหนาวและช่วงเดือนรอมฎอน (Ramadan)
เชื่อกันว่าขนมปังชนิดนี้เกิดขึ้นก่อนที่เปอร์เซียจะถูกอาณาจักรอิสลามเข้ายึดครองพื้นที่ ในเวลานั้นมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์ซัสซานิดกำลังประชวร แพทย์จึงสั่งให้อบขนมปังบนทรายและกรวดร้อน ๆ เพื่อใช้รักษาอาการของพระองค์
นอกจากนี้หนังสือประจำปีของคณะกรรมการร้านเบเกอรี่ในกรุงเตหะรานปี 1947 ได้เขียนประวัติของขนมปังชานกัคเอาไว้ว่า ในสมัยราชวงศ์ซาฟาวิด พระเจ้าชาห์ อับบาส ทรงต้องการให้ประชาชนมีอาหารการกินที่ดีและแก้ปัญหาเสบียงที่ไม่เพียงพอในกองทัพจึงรับสั่งให้ชีคห์ บาไฮ (Sheikh-e Bahaei) นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ของเปอร์เซียในการคิดหาวีธีแก้ไข ดังนั้นชีคห์ บาไฮจึงประดิษฐ์เตาอบหินที่มีกรวดหินร้อน ๆ อยู่ด้านใน เพื่อที่จะสามารถอบขนมปังซานกัคออกมาได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและกองทหาร
ส่วนวิธีการทำขนมปังซานกัคจะนวดแป้งให้มีลักษณะแบนแล้วค่อยรีดแป้งเป็นแผ่นยาว ๆ จากนั้นเอาไปอบในเตาที่มีกรวดหินร้อน ๆ ปัจจุบันชาวอิหร่านมักทานขนมปังซานกัคควบคู่กับอาหารในทุกมื้อ เช่น ทานคู่กับอาหารจำพวกแกงอย่างแกงมะเขือ แกงทับทิม หรือทานคู่กับชีสสดโรยด้วยวอลนัตและผัก
0 Comment