คุณผู้อ่านคิดว่า เราสามารถประเมินความดีของคนเป็นคะแนนได้ไหมครับ?
ยกตัวอย่างเช่น ทิ้งขยะลงถัง +2 คะแนน พาคนแก่ข้ามถนน +8 คะแนน ซื้อข้าวให้แม่มีความกตัญญู+20 และในอีกแง่หนึ่ง ไม่จ่ายค่าโทรศัพท์ -8 ขับรถฝ่าไฟแดง -11 ติดสินบนเจ้าพนักงาน -25
…ทั้งหมดฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่อยู่ในเกมหรือหนังวิทยาศาสตร์อะไรสักเรื่องที่ตีค่าทุกอย่างออกมาเป็นตัวเลข แต่ระบบให้คะแนนเช่นนี้ กลับเป็น “ความจริง” ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะ
นี่คือเรื่องราวของ Social Credit System หรือ “ระบบเครดิตทางสังคม” ซึ่งตัดสินชีวิตคนนับล้านชีวิตภายในประเทศจีน…
ระบบเครดิตทางสังคมคืออะไร?
“ระบบเครดิตทางสังคม” หรือในภาษาจีนว่า “เช่อหุ่ยซินย่องถีซี่” (社会信用体系) เป็นระบบการให้คะแนนพฤติกรรมประชาชนจีน ผ่านการจับตาของรัฐบาลในทุกๆ ฝีก้าว ไม่ว่าจะที่ไหน เมื่อไหร่ ทั้งนอกบ้านในบ้านและบนโลกอินเตอร์เน็ต
ประชาชนบางคนจะมีบัตรสะสมคะแนน หรือ “บัตรความน่าเชื่อถือ” (trustworthy card) ติดตัวควบคู่กับแอปในโทรศัพท์
หากคุณทำความดี เช่น หยุดรถให้คนข้าม, ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย, ผ่อนเงินตรงเวลา ก็จะได้คะแนนเพิ่ม แต่ถ้าทำตัวไม่เหมาะสม เช่น เล่นเกมเยอะไป, คอมเมนต์ให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย, เชิดหนี้, หรือ จองร้านอาหารไว้แล้วไม่ไป แถมไม่โทรแคนเซิลโต๊ะ เหล่านี้จะทำให้โดนตัดคะแนน
ยิ่งคะแนนสูง ยิ่งมีสิทธิพิเศษมาก เช่น กู้เงินได้ง่าย, ได้เลื่อนขั้นเร็ว, เสียภาษีน้อยลง แต่ถ้าคะแนนต่ำ ก็จะเสียสิทธิหลายประการ เช่น ซื้อบัตรโดยสารสาธารณะไม่ได้, นั่งรถไฟชั้นดีไม่ได้, โดนแบนจากอินเตอร์เน็ต
…และที่ร้ายที่สุดคือ ในบางเมืองจะมีการขึ้นรูปประจานคนเครดิตต่ำด้วย
แนวคิดที่มาของระบบเครดิตทางสังคม
อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดของระบบเครดิตทางสังคมย้อนไปได้ตั้งแต่ราว 300 ปีเศษก่อนคริสตกาล เวลานั้นรัฐบุรุษและนักปฏิรูปแห่งรัฐฉินนาม “ซางยาง” ได้เสนอแนวคิด “การรักษากฎระเบียบ” และให้รางวัลแก่ผู้รักษากฎ ซึ่งมีการนำไปใช้ในระบบราชการ ทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น
ทางรัฐบาลจีนเริ่มคิดพัฒนาระบบคะแนนเครดิตทางสังคมในปี 2007 หลังเจอกับปัญหารุมเร้าในประเทศมากมาย เช่น คนไม่เคารพกฎหมาย, โกงกิน, ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ
แม้เศรษฐกิจจะโตจนเริ่มแข่งกับต่างประเทศได้ แต่รัฐบาลจีนรู้ดีว่าภาพลักษณ์ของคนประเทศตนในสายตาชาวโลก โดยเฉพาะเรื่องมารยาทสังคมนั้นยังแย่มาก จึงจำต้องคุมให้คนมีระเบียบผ่านการให้รางวัลและลงโทษ
การดำเนินการ
ระบบเครดิตทางสังคมของจีนเพิ่งผ่านขั้นทดลองใช้มาไม่นาน โดยระหว่างปี 2014 – 2020 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ทางการจีนร่วมกับอีก 47 หน่วยงาน เช่น คณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน, ธนาคารแห่งประเทศจีน, สภาบริหารภาษีแห่งรัฐ ฯลฯ ทดสอบและวางเค้าโครงเพื่อหาทางรวมระบบเครดิตทางสังคมให้เป็นหนึ่งเดียวอยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของรัฐ
…ขั้นต่อจากนี้ไปจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (2021 – 2025)
และขณะที่โปรแกรมของรัฐยังพัฒนาไม่เสร็จดีนั้น ผู้ให้บริการระบบคิดคะแนนเครดิตทางสังคมตั้งแต่ปี 2015 ถึงปัจจุบันจึงเป็นบริษัทเอกชนที่ทางการรับรองจำนวน 8 แห่ง ที่ดังๆ ได้แก่ “เครดิตเซซามี” (หรือเครดิตสีหม่า) ในเครืออาลีบาบา
ทั้งนี้บางท้องถิ่นอาจมีระเบียบย่อยๆ และมีระบบเก็บคะแนนประจำเมืองแยกไปอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่นที่ปักกิ่ง การส่งเสียงดังหรือกินอาหารบนรถไฟใต้ดิน อาจทำให้มีประวัติเสียในระบบเครดิต
ส่วนในเซี่ยงไฮ้ คนที่ไม่แยกขยะก่อนทิ้ง (ซึ่งผิดกฎของเมือง) นอกจากจะโดนลงบันทึกในระบบเครดิตแล้วยังต้องจ่ายค่าปรับด้วย
ผลของการใช้งานระบบเครดิต
ประชาชนจำนวนหนึ่งเห็นว่าระบบเครดิตมีประโยชน์ ผู้คนเคารพกฎหมายมากขึ้น ทั้งยังมีแรงจูงใจในการแข่งขันกันทำความดี เพื่อแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนยื่นให้ ถึงแม้ว่าจะต้องแลกกับการโดนเก็บข้อมูลก็ตาม แต่พวกเขาก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไร
แต่แน่นอนว่าในขณะเดียวกันก็มีคนที่ไม่ชอบระบบนี้เอาเสียเลย เพราะพวกเขามองว่า รัฐบาลมีสิทธิอะไรอะไรมาตัดสินความดีความชั่วของคนออกมาเป็นคะแนน? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เก็บไปนั้นครบถ้วนถูกต้อง?
การที่ภาครัฐมาควบคุมความประพฤติอย่างใกล้ชิดแบบนี้ ต่อให้บอกว่าเพื่อทำความดี แต่มันก็เหมือนการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลอยู่ดี
หลายครั้งมีผู้โดนตัดคะแนนอย่างไม่เป็นธรรมเพราะมีท่าทีขัดแย้งกับภาครัฐ
เช่นในปี 2013 “ลิ่วหู” นักข่าวจีนเขียนเรื่องการเซนเซอร์และการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ทำให้เขาโดนจับปรับและขึ้นบัญชีดำ นั่นทำให้ลิ่วเสียสิทธิ์หลายอย่าง เช่นการห้ามซื้อตัวเครื่องบินทั้งหมด, ห้ามกู้เงินซื้อที่อยู่อาศัย, และยังถูกห้ามขึ้นรถไฟบางสายด้วย
“ไม่มีเอกสาร ไม่มีหมาย ไม่มีคำอธิบายอะไรทั้งนั้น พวกเขาแค่ตัดผมออกจากสิทธิที่ผมเคยมี…” ลิ่วหูให้สัมภาษณ์กับสื่อรายหนึ่ง
“…แล้วสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ คุณทำอะไรไม่ได้ จะรายงานใครก็ไม่ได้ เหมือนหลงทางอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้”
จริงๆ แม้ทางทฤษฎีนั้นชื่อจะถูกลบจากบัญชีดำได้ด้วยการขึ้นศาล แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าจะได้รับความยุติธรรม
อีกคนหนึ่งที่โดนคือ “สวีเสี่ยวตง” นักสู้ MMA ที่ออกเดินทางต่อสู้เพื่อเปิดโปงปรมาจารย์กังฟูจอมปลอมไปทั่วจีน
ผู้คนจำนวนมากมองว่าสิ่งที่สวีทำเป็นการทำลายเกียรติภูมิชาวจีน ทั้งยังขัดกับนโยบายรัฐที่ต้องการฟื้นฟูอัตลักษณ์ประเทศ
มีครั้งหนึ่งเขาท้าคนระดับปรมาจารย์ แต่ยังไม่ทันสู้ก็โดนสั่งจ่ายค่าปรับและตัดคะแนน
สวีโดนริบสิทธิใช้บริการสาธารณะหลายอย่าง ไม่สามารถซื้อตั๋วรถไฟความเร็วสูงได้ ต้องนั่งรถไฟความเร็วต่ำไปสู้ ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า
ลิ่วหู กับ สวีเสี่ยวตง เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของคนไม่น้อยกว่า 23 ล้านคนที่โดนหักเครดิตไม่ให้เข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่พึงได้แต่แรก (สถิตินี้อ้างจาก The Guardian มาจากจำนวนครั้งที่ระบบการซื้อตั๋วรถไฟและระบบซื้อตั๋วเครื่องบินแบนคนไปในปี 2019)
…ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ในจำนวนนี้ มีสักกี่คนที่ทำไม่ถูกต้องจริงๆ และอีกกี่คนที่แค่ทำไม่ถูกใจ
สรุป
ความคิดตั้งต้นของจีนที่ต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพมากขึ้นไม่น้อยหน้าประเทศที่เจริญแล้วเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ
เพียงแต่วิธีการที่นำมาใช้ ได้แก่การแทรกแซงชีวิตประชาชน และแทรกแซงบริษัทเอกชนนับเป็นแนวทางการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ
ยิ่งในขณะนี้ที่รัฐบาลของสีจิ้นผิง ได้สร้างระเบียบใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ครอบคลุมทุกภาคส่วน แม้กระทั่งชีวิตส่วนตัว โดยอ้างว่าเป็นการทำให้ชาติมั่นคง
หลายอย่างทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาก เช่นการห้ามเล่นเกมหลายๆ ชั่วโมง, หรือห้ามชื่นชอบไอดอลชายหน้าหวานท่าทางตุ้งติ้ง
หลายคนมองว่าการห้ามเช่นนี้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพมากเกินไป จะทำลายเศรษฐกิจในระยะยาว
แต่ประเด็นที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดคือ หลายครั้งระบบนี้ได้ถูกนำมาใช้จัดการผู้เห็นต่างจากรัฐบาล
อีกทั้งการลงโทษต่อผู้มีเครดิตต่ำยังไม่มีบรรทัดฐานแน่นอน บางเมืองแค่โดนห้ามใช้บริการบางอย่าง แต่บางเมืองมีไปถึงขั้นประจาน ทำให้เห็นว่าระบบนี้ยังมีข้อบกพร่องที่ควรแก้ไขอยู่อีกมาก
…ซึ่งเราคงต้องมาติดตามดูว่า ระบบเครดิตทางสังคมมันจะพัฒนาไปไหนทางใด
และหากวันหนึ่งเราตกอยู่ใต้ระบบแบบนี้ เราควรจะรู้สึกอย่างไร?
0 Comment