ครั้งหนึ่ง… เธอถูกตราหน้าว่า “โง่”
ครั้งหนึ่ง… เธอถูกตราหน้าว่า “มีอารมณ์อ่อนไหว”
ครั้งหนึ่ง… เธอถูกกักขังด้วยบทบาท “นางฟ้าในบ้าน”
ครั้งหนึ่ง… เธอไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

…นั่นเพียงเพราะ เธอเป็นผู้หญิง…

ในอดีตบทบาทหน้าที่ในครอบครัวชาวยุโรป และอีกหลายชนชาติถูกแบ่งด้วยเพศอย่างชัดเจน ผู้ชายทำงานนอกบ้านหาเงินเป็นเสาหลักครอบครัว และมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้ง ส่วนผู้หญิงจะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เลี้ยงลูก เป็นเมียและแม่ที่ดี

แต่แล้วในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือเหล่าผู้หญิงได้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิการเลือกตั้งของพวกเธอ!

เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร? และนำไปสู่อะไร? มาหาคำตอบในบทความนี้กันนะครับ

เกริ่นกล่าวเล่าถึงหญิง

ในอดีตนั้นเด็กผู้หญิงยุโรปในครอบครัวชนชั้นกลางถึงชั้นสูงมักถูกสอนให้รู้จักการเป็น “กุลสตรี” ทั้งสอนให้รู้จักการเย็บปักถักร้อย การเข้าสังคม การแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ ตลอดจนการมีกิริยามารยาท และการวางตัวให้สง่างาม ทั้งหมดนี้จะต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

ผู้หญิงไม่มีสิทธิเข้าเรียนในหลักสูตรสามัญ บ้านที่มีฐานะจะจ้างครูมาสอนเอง และวิชาที่สอนนั้นก็มักเป็นวิชาสำหรับการดูแลบ้านเรือนดังกล่าว

เป้าหมายหลักของพวกเธอ คือ การทำให้ตัวเองมีคุณค่าพอที่จะแต่งงานกับชายผู้มีฐานะทางสังคม และชาติตระกูลทัดเทียมกัน จากนั้นบทบาทของเธอก็จะเปลี่ยนเป็นเมียและแม่ที่ดี เป็นคุณผู้หญิงของบ้าน คอยปกปักษ์และคอยรับใช้ให้ผู้อาศัยมีความสุขสบายสบาย

ข้างบนคือเวอร์ชันที่ดีแล้ว ส่วนผู้หญิงชนชั้นล่างนั้นจะต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ และยังคงต้องทำหน้าที่เมียและแม่ที่ดีแก่สามีและลูก ๆ ของเธอ

ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 19 สตรียังไม่มีสิทธิถือครองทรัพย์สินใด ๆ แม้แต่สินทรัพย์นั้นเธอเป็นคนหามาเองก็ตาม รวมถึงไม่มีสิทธิในการฟ้องหย่ากับสามีและไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

ปฐมบทแห่งการเรียกร้องสิทธิ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดขบวนการชาร์ทิสต์นำโดยชนชั้นกรรมาชีพที่ต้องการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันในสังคมขึ้นในอังกฤษ การเรียกร้องของขบวนการนี้ก่อให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายข้อในภายหลัง เช่น ผู้ชายทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งเมื่ออายุ 21 ปีบริบูรณ์ หรือการเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งเป็นการออกเสียงลับอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน

…แต่ผู้หญิงยังไม่ได้รับสิทธินั้น…

“ทำไมอิสตรีถึงปกครองอังกฤษได้ แต่พวกเธอกลับนั่งในสภาไม่ได้”

ในยุคนั้นมีคำถามอันโด่งดังที่ตั้งโดย จอห์น สจวต มิลล์ (John Stuart Mill) นักปรัชญาแนวเสรีนิยมและประโยชน์นิยม (Utilitarianism)

เขาถามว่าในขณะที่ผู้คนเชื่อว่า “ผู้หญิง” เช่น สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียสามารถปกครองอังกฤษได้แล้วไซร้ แต่เหตุใดจึงไม่เชื่อให้มนุษย์เพศเดียวกัน มีสิทธิทำเรื่องง่ายกว่านั้น เช่น การเลือกตั้ง

สิ่งนี้เป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปลดแอกสตรีจากค่านิยมที่เหยียบย่ำพวกเธอ รวมถึงสนับสนุนให้สตรีมีสิทธิทางการเมือง และสิทธิอื่น ๆ เช่น สิทธิทางการศึกษา

ข้อเรียกของมิลล์สอดรับกับขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี (Feminism) ที่กำลังเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งอยู่ ถึงแม้จะถูกคัดค้านจากผู้ชาย

เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งแก่สตรีอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มซัฟฟราจิสต์ (Suffragist) และ กลุ่มซัฟฟราเจตต์ (Suffragette) ทั้งสองชื่อมาจากคำว่า Suffrage ที่แปลว่าสิทธิเลือกตั้ง

ความแตกต่างคือ ซัฟฟราจิสต์ เน้นการต่อสู้อย่างสันติ การทำกิจกรรม ส่วน ซัฟฟราเจตต์ เน้นการต่อสู้เชิงรุก การใช้ความรุนแรง

Suffragist 

กลุ่มซัฟฟราจิสต์ (Suffragist) จัดตั้งโดยมิลลิเซนต์ ฟอว์เซ็ตต์ (Millicent Garrett Fawcett) สตรีผู้ได้รับการศึกษาอย่างดีจากครูที่ครอบครัวจัดหาให้ ต่อมาเธอแต่งงานกับสมาชิกสภาคนหนึ่ง ทำให้ได้รับแรงบันดาลใจในการผลักดันเรื่องสิทธิเลือกตั้ง ล็อบบี้ แก้กฎหมายให้เอื้อต่อสตรีมากขึ้นแต่ล้มเหลว

Suffragette 

กลุ่มซัฟฟราเจตต์ (Suffragette) นำโดยเอ็มมิลีน แพงค์เฮิร์สต์ (Emmeline Pankhurst) เติบโตในครอบครัวที่หัวรุนแรงทางการเมือง ต่อมาเธอแต่งงานกับทนายความผู้สนับสนุนสิทธิสตรี เธอจึงได้รับอิทธิพลทางความคิดจากสามี

ส่วนชื่อกลุ่มซัฟฟราเจตต์มาจากคำดูถูกเหยียดหยามของนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง ต่อมากลับนำมาใช้เรียกกันอย่างแพร่หลาย โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นหญิงชนชั้นแรงงาน ก่อตั้งขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20

ต่อมาการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีของกลุ่มซัฟฟราจิสต์ล้มเหลวในการผลักดันสิทธิเลือกตั้ง กลุ่มซัฟฟราเจตต์จึงใช้วิธีการแข็งข้อ พวกสมาชิกกลุ่มได้พยายามเรียกร้องให้สังคมสนใจปัญหาของพวกเธอ โดยการออกไปทำลายกระจกร้านค้า เผาทำลายตู้ไปรษณีย์ ฯลฯ

ผู้หญิงสมองเล็กกว่าผู้ชาย

เพื่อตอบโต้ความคิดที่ว่าผู้หญิงควรได้เลือกตั้ง ผู้ชายกลุ่มหนึ่งจึงรวมตัวกันเป็น “สันนิบาตชาย” เพื่อขัดขวางสิทธิเลือกตั้งของสตรี (Men’s League for Opposing Women’s Suffrage) องค์กรนี้เกิดในปีค.ศ. 1909 เพื่อต่อต้านการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มซัฟฟราจิสต์และกลุ่มซัฟฟราเจตต์

ทั้งหมดถูกอ้างโดยงานวิจัยยุคนั้น (ที่ค่อนข้างมโนว่า) …เนื่องจากผู้หญิงมีสมองเล็กกว่าผู้ชาย (เพราะ in general แล้วตัวเล็กกว่า) ทำให้พวกเธอโง่กว่า พวกเธอจึงไม่ควรเรียนหนังสือ เพราะจะทำให้สมองเธอใช้งานหนักเกินไป ด้วยเหตุนี้การเป็นแม่และเมียนั้นคือสิ่งประเสริฐที่สุด!

ในกระบวนการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธินั้นยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้หญิงด้วยกันเอง บอกว่าเธอเหล่านั้นโง่และมีอารมณ์อ่อนไหวเกินกว่าที่จะเลือกตั้งได้ กลุ่มต่อต้านผู้หญิงที่อยากเลือกตั้งได้ทำการ “ล่าแม่มด” พวกเธอ และทำโปสเตอร์โจมตีหลายเวอร์ชัน อาทิ:

1) โปสเตอร์อธิบายกลุ่มซัฟฟราเจตต์ว่าเป็นแค่หญิงแก่แร้งทึ้ง

2)โปสเตอร์ภาพหากผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง สามีก็ขาดคนคอยจัดแจงเสื้อผ้า

3)โปสเตอร์ภาพผู้หญิงเมื่อคุยเรื่องการเมืองก็มีแต่จิกทึ้งผม ตบตีกันเท่านั้น

4)โปสเตอร์ภาพหากผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง ก็จะละทิ้งหน้าที่ที่ควรกระทำ

5)โปสเตอร์ภาพเมื่อผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง จะส่งผลกระทบร้ายแรงตามมา เช่น อัตราการตายของเด็กแรกเกิดสูงขึ้น เด็กขาดการศึกษา ควรแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการไม่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิง

Herbert Henry Asquith 

นายกรัฐมนตรีแอสควิท (Herbert Henry Asquith) เคยให้สัญญาแก่ซัฟฟราเจตต์ว่าจะมอบสิทธิเลือกตั้งแก่สตรีหากตนชนะการเลือกตั้ง ซัฟฟราเจตต์จึงหยุดประท้วงพร้อมกับหันมาสนับสนุนแอสควิท

เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรี แอสควิทก็ยื่นกฎหมายเรื่องนี้แก่สภาแต่กลับมีปัญหาติดขัดเสียก่อน สิทธิเลือกตั้งของสตรีจึงถูกปัดตกไป

ซัฟฟราเจตต์มองว่านายกรัฐมนตรีนั้นผิดสัญญาที่เคยตกลงไว้ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงชุมนุมประท้วงหน้ารัฐสภาและพยายามเข้าสภาสามัญในปีค.ศ. 1910

ในการประท้วงครั้งนี้พวกซัฟฟราเจตต์ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทุบตี ทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศพวกเธอ และหลายคนถูกจับเข้าคุก

เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นบทตอนอันดำมืดของการเรียกร้องสิทธิสตรีต่อมาถูกจดจำในชื่อ “Black Friday” ที่แม้แต่หญิงพิการ, คนชรา, และเด็กสาวก็ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายอย่างป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรม เมื่อเห็นว่าสู้แรงไม่ได้ เหล่าสตรีนักประท้วงที่ถูกจับกุมหันไปอดอาหารประท้วง

…แต่ทว่ารัฐก็โต้ตอบพวกเธอด้วยการบังคับกรอกอาหาร!

พวกเขาให้อาหารพวกเธอผ่านสายยางผ่านปากหรือจมูกเข้าคอตรงสู่กระเพาะอาหาร อาหารส่วนใหญ่จะเป็นไข่ดิบ เหล้า นม ฯลฯ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ฟันหัก อาเจียน หรือหากเจาะสายยางไม่ถูกหลอดอาหาร อาจเข้าปอดได้เช่นกัน

การปราบปรามเหล่านี้ทำให้การเคลื่อนไหวดำเนินไปด้วยความยากลำบาก หลายคนย่อท้อ เพราะทนถูกกดขี่ไม่ได้ แต่ก็สู้ต่อไปอย่างกล้าหาญ

ในการแข่งม้าที่จัดขึ้นในอังกฤษ วันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1913 ขณะที่ม้าของพระเจ้าจอร์จที่ 5 (George V) กำลังวิ่งอยู่ในสนาม ก็มีผู้หญิงชื่อ เอมิลี เดวิสัน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มซัฟฟราเจตต์ ออกจากรั้วกั้นเข้าไปยืนประจันหน้ากับม้าของพระเจ้าจอร์จที่ 5

ทันใดนั้นเองเธอถูกม้าวิ่งเข้าใส่ด้วยความเร็วจนล้มลงไม่ได้สติ! อาจเป็นเพราะเธอไม่รู้ว่าม้านั้นวิ่งเร็วแค่ไหน

…หรือเธอทำไปเพื่อให้คนหันมาสนใจในสิ่งที่พวกเธอกำลังเรียกร้อง

ทว่าเหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตระหนกตกใจกับผู้คนภายในงานเป็นอย่างมาก!

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีจดหมายหลายร้อยฉบับส่งเข้ามาในโรงพยาบาลที่เดวิสันพักรักษาตัวอยู่ เนื้อหาส่วนใหญ่ล้วนไปในทางโจมตี, ต่อว่า, เหยียดหยามการกระทำของเธอ กล่าวหาว่าการกระทำของนางเดวิสันนั้นไร้มารยาทอย่างร้ายแรง หรือถึงขั้นไล่ให้ไปตาย…

เมื่อนางเดวิสันเสียชีวิตหลังเกิดเหตุเพียง 4 วัน กลุ่มซัฟฟราเจตต์ได้จัดพิธีไว้อาลัยและแห่ศพของเธอตามถนนสายต่าง ๆ ในลอนดอน โดยมีคนเข้าร่วมงานหลายหมื่นคน ทั้งที่จำนวนสมาชิกซัฟฟราเจตต์มีเพียงสองถึงสามพันคนเท่านั้น

มีคนเปรียบเทียบการตายของเดวิสัน ว่าเธออาจถือเป็นมรณสักขี (ผู้ตายเพื่อความเชื่อ) แห่งขบวนการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งสตรีก็ว่าได้ การเสียชีวิตของเธอนั้นได้จุดประกายให้คนต่างตระหนักถึงสิ่งที่ซัฟฟราเจตต์เรียกร้องมาตลอด

แต่สิทธิเลือกตั้งก็ยังไม่เกิดขึ้น…

สิทธิเลือกตั้งมาเกิดขึ้นจริง ๆ เมื่ออังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนนั้นเหล่าผู้ชายต้องออกรบ กิจการงานต่าง ๆ จึงถูกโอนมาให้ผู้หญิงเป็นผู้จัดการ

และก็เป็นที่ชัดเจนว่าผู้หญิงสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ไม่แตกต่างจากผู้ชาย เมื่อสงครามสิ้นสุดในปีค.ศ. 1918 สภาจึงออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีบริบูรณ์มีสิทธิในการเลือกตั้ง (ตอนนี้ผู้ชายมีสิทธิตั้งแต่อายุ 21 ปี)

หลังจากนั้นอังกฤษก็มีนักการเมืองหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์อังกฤษชื่อ มิลลิเซนต์ ฟอว์เซ็ตต์ หรือผู้นำขบวนการซัฟฟราจิสต์ และอีกสิบปีให้หลังจึงอนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกันกับผู้ชายในที่สุด

การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่ควรได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย มีการสูญเสียเกิดขึ้น และอาจไม่ได้ในทันทีทันใด

อย่างไรก็ตามสิ่งที่พวกเธอเหล่านั้นต่อสู้กันมา ทำให้เราในทุกวันนี้มีสิทธิมีเสียงอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นก้าวหนึ่งสู่การพัฒนาทางสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยนั่นเอง