ในวันที่ 15 ส.ค. 2021 มีข่าวว่ารัฐบาลอัฟกันในกรุงคาบูลที่เป็นพวกนิยมตะวันตกถูกโค่นล้ม และอำนาจได้ตกอยู่ในมือกลุ่มตาลีบัน
…สื่อหลายสำนักตีข่าวว่านี่อาจซ้ำรอยเหตุ “ไซ่ง่อนแตก” ในสงครามเวียดนาม
ในบทความนี้จะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับกลุ่มตาลีบันอีกครั้ง และจะอธิบายสาเหตุว่าทำไมตาลีบันถึงชนะได้อย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา, และวิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดท่ามกลางความโกลาหล ตลอดจนสถานการณ์ในอนาคต
ตาลีบันเป็นใคร
ตาลีบัน (หรือบ้างสะกดเป็น ตอลีบาน) เป็นกลุ่มนักรบอิสลามที่ประกาศทำสงครามศาสนา (ญิฮาด) ในประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน
คำว่า “ตาลีบัน” ในภาษาปัชโต (ภาษาหลักภาษาหนึ่งของอัฟกานิสถานซึ่งชาวปัชตุนหรือปาทานใช้) แปลว่า “นักเรียน”
กลุ่มนี้มีที่มาจากนักเรียนศาสนาในปากีสถานที่ต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมอัฟกานิสถานให้เคร่งศาสนามากขึ้น
ผู้ก่อตั้งชื่อ นายโมฮัมมัด โอมาร์ เป็นครูสอนศาสนา ถือความคิดแบบอิสลามเคร่งตามสายเดียวบัน (Deoandi) จัดได้ว่าเป็นพวกที่ต้องการเปลี่ยนอิสลามให้กลับเป็นเหมือนยุคนบีมุฮัมมัด (Islamist Revivalism) สายหนึ่ง
ระหว่างปี 1996 ถึง 2001 ตาลีบันตั้งรัฐบาล ชื่อว่า “รัฐเอมิเรตส์อิสลามอัฟกานิสถาน” มี โมฮัมมัด โอมาร์ เป็นผู้นำคนแรก
ในช่วงนี้ตาลีบันออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ตามการตีความศาสนาอิสลามแบบของตัวเอง เช่นจำกัดสิทธิ์ผู้หญิง ควบคุมสิ่งบันเทิง ซึ่งอาจมองได้ว่าเคร่งยิ่งกว่าซาอุดีอาระเบียเสียอีก
…นอกจากนั้นตาลีบันยังกดขี่ศาสนาอื่น เช่นกดขี่ชาวชีอะห์และฮินดู และสั่งทำลายสถานที่ทางศาสนาและวัตถุมงคลมากมาย ดังกรณีการทำลายพระพุทธรูปแห่งบามียาน
ในช่วงนั้น มีประเทศที่รับรองตาลีบันเพียง 3 ประเทศ คือซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
ส่วนภายในประเทศมีกลุ่มต่อต้านตาลีบันอยู่มิได้ขาด โดยเฉพาะกลุ่มมูจาฮีดีนเดิมซึ่งเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่า “พันธมิตรฝ่ายเหนือ” ทำให้แม้แต่ในช่วงที่ตาลีบันเรืองอำนาจที่สุดก็ยังยึดพื้นที่ได้เพียง 90% ของประเทศ ไม่ครบทั้งหมด
รัฐบาลตาลีบันอยู่มาได้ 5 ปีก็ถูกโค่นในปี 2001 …เพราะ “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” ไปให้ที่พักพิงแก่ อุซามะห์ บิน ลาดิน (หรือเราจะเรียกตามความนิยมว่า “บินลาเดน”) และกลุ่มอัลกออิดะห์ (หรือเราจะเรียกตามความนิยมว่าอัลเคดา) ซึ่งอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุวินาศกรรม 9/11
…กลายเป็นมูลเหตุให้อเมริกาเข้าแทรกแซงประเทศอัฟกานิสถานเป็นเวลาต่อมาเกือบ 20 ปี…
กลุ่มตาลีบันต้องหลบหนีไปต่อสู้ในป่าเขา แต่ยังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องในอัฟกานิสถานและปากีสถาน พวกเขายังคงมีกำลังกล้าแข็งโดยเฉพาะในชนบท
ผู้นำคนปัจจุบันของตาลีบันชื่อ ฮิบาตุลเลาะห์ อัซคุนซาดา (Hibatullah Akhundzada) ซึ่งสืบตำแหน่งในปี 2016
เขาเป็นพวกเคร่งศาสนาและต่อมาได้เป็นประธานศาลอิสลามของตาลีบัน โดยที่ผ่านมาเขาเคยตัดสินลงโทษแบบอิสลามมาแล้ว เช่น ประหารชีวิตสาธารณะ และตัดแขนพวกลักขโมย
ในปี 2020 ตาลีบันบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐ (สมัยทรัมป์) ว่าสหรัฐจะถอนทหารออกทั้งหมด เพื่อแลกกับการที่ตาลีบันจะไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใดๆ ใช้อัฟกานิสถานเป็นฐาน และตาลีบันจะเจรจากับรัฐบาลอย่างสันติ
อย่างไรก็ตามหลังสหรัฐลดการช่วยเหลือรัฐบาลอัฟกันตั้งแต่ประมาณเดือน พ.ค. 2021 กลุ่มตาลีบันก็รีบฉวยโอกาสรีบตีชิงพื้นที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว และถ่วงเวลาไม่ยอมเจรจากับรัฐบาลอัฟกันให้ได้ผลยุติ จนสามารถยึดกรุงคาบูลได้ในเวลา 3 เดือนตามที่ปรากฏ …ทั้งนี้ตาลีบันระมัดระวังตัวมากไม่โจมตีทหารชาติตะวันตกอีก
ทำไมรัฐบาลอัฟกานิสถานถึงพ่ายแพ้เร็วเช่นนี้?
ในที่นี้มีคนวิเคราะห์ออกมาต่างๆ ได้แก่:
1) แผนการที่สหรัฐวางไว้ให้กับอัฟกานิสถานดูจะไม่มีความชัดเจน เพราะเป้าหมายหลักน่าจะเป็นการกวาดล้างกลุ่มอัลกออิอะห์และตัวบินลาเดนมากกว่า ซึ่งเป้าหมายนั้นบรรลุไปนานแล้ว
ทั้งนี้ไม่ควรลืมว่าสหรัฐเองใช่ว่าไม่ได้ช่วยเหลืออัฟกานิสถานเลย เพราะมีการทุ่มงบประมาณนับล้านล้านดอลลาร์ลงไปกับประเทศนี้ เช่นเดียวกับยังมีเงินช่วยเหลือจากสหประชาชาติอีกนับหมื่นล้านดอลลาร์
…แต่โครงการพัฒนาเหล่านี้มักไม่คำนึงถึงบริบทท้องถิ่น และเงินไม่ค่อยตกไปถึงมือประชาชนจริง…
นอกจากนี้สหรัฐยังเปลี่ยนไปใช้แผนสนับสนุนชนเผ่าต่างๆ มากขึ้นแทนการสนับสนุนรัฐบาลกลางที่คาบูล อาจทำให้รัฐบาลกลางอ่อนแอลงไปอีก
2) รัฐบาลอัฟกันมีปัญหาคอร์รัปชันที่ฝังแน่น ส่งผลทำให้ประชาชนเอาใจออกห่าง
ในเรื่องนี้นักวิเคราะห์หลายท่านชี้ตรงกันว่ามีที่มาจากตั้งแต่สมัยปี 2001 ที่อเมริกาเหลือทหารเอาไว้ดูแลเฉพาะเฉพาะกรุงคาบูลเมืองหลวง ทำให้ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานต้องยกตำแหน่งสำคัญๆ ให้ขุนศึกที่ฉ้อฉลเพื่อสร้างเสถียรภาพ
การคอร์รัปชันมักปรากฏออกมาในรูปการจ่ายสินบนให้ตำรวจ, การใช้จ่ายเงินของตะวันตกอย่างสุรุ่ยสุร่ายของรัฐบาล, และการเล่นพรรคพวกญาติมิตรในการตั้งคนดำรงตำแหน่งสำคัญ ผลทำให้ประชาชนมีทัศนะต่อรัฐบาลในแง่ลบ
3) กองทัพอัฟกันอ่อนแอ มีปัญหาเสียกำลังพลจากการหนีทัพและมีการคอร์รัปชันสูง
แม้มีข่าวว่าสหรัฐทุ่มงบให้กับการฝึกและติดอาวุธกองทัพอัฟกันแล้ว 88,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่กองทัพอัฟกันยังต้องพึ่งพานาโต้และสหรัฐอย่างมาก
โดยเฉพาะเรื่องการใช้ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและเครื่องบิน เพราะทหารอัฟกันนั้นยังขาดความสามารถอีกมาก มีหลายคนถึงขั้นอ่านหนังสือไม่ออก
แม้ว่าฝ่ายความมั่นคงอัฟกันระบุตัวเลขกำลังพล (ทุกเหล่าทัพรวมตำรวจ) ไว้ที่ 300,000 นาย แต่เอาเข้าจริงแม้แต่รัฐบาลเองก็ไม่รู้ว่าตัวเลขนี้จริงเท็จแค่ไหน หลังมีข่าวแดงว่านายทหารระดับสูงหลายคนตั้งเบิกงบให้แก่ทหารที่ตายไปแล้วเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าตนเอง…
ทหาร-ตำรวจยังมีปัญหาเรื่องขวัญกำลังใจ บางคนไม่ได้รับเงินเดือนมาหลายเดือน บางคนหนีทัพไปทำเกษตร บางคนถูกส่งไปยังพื้นที่ที่ไม่ใช่ชนเผ่าของตน แล้วผละหน้าที่เสียง่ายๆ
และเมื่อมีข่าวว่าตะวันตกถอนทหารออกไปแล้ว ทหารบางส่วนก็ยอมวางอาวุธหรือไม่ก็ขอเข้ากับตาลีบันแต่โดยดี
…สื่อสหรัฐเองยังพบว่าเพนตากอนมีความพยายามปกปิดปัญหาเหล่านี้ไว้ บอกแต่ข้อมูลสวยงาม เพราะเกรงว่าจะเสียการสนับสนุนจากประชาชนผู้เสียภาษี
…ทั้งหมดทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถานพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว เพราะเปรียบเสมือนเป็นไม้ที่ผุกร่อนมานานแล้ว…
สถานการณ์ล่าสุดในอัฟกานิสถาน
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2021 รัฐบาลอัฟกานิสถานถูกโค่นล้ม ประธานาธิบดี อัชราฟ กานี หนีออกนอกประเทศ กลุ่มตาลีบันบุกเข้ากรุงคาบูล หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลพยายาม “เจรจาถ่ายโอนอำนาจ” กับตาลีบัน แต่คาดว่าการเจรจาได้จบลงเมื่อประธานาธิบดีหนีไป
มีข่าวว่า หลายประเทศส่งทหารและอากาศยานไปช่วยอพยพคนของตนกลับ
โดยภาพที่ทางการสหรัฐใช้เฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายคนออกจากสถานทูต ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเมื่อครั้ง “กรุงไซ่ง่อนแตก” อันเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามเวียดนามเมื่อปี 1975
สื่อบางสำนักคาดว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของอัฟกานิสถาน น่าจะเป็นนายอับดุล กาห์นี บาราดาร์ (Abdul Ghani Baradar) หลังก่อนหน้านี้เขาทำตัวเป็น “ผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่น” ของตาลีบันในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์มาตลอด
เขาผู้นี้หนุนแนวทางเจรจา แต่ถูกทางการปากีสถานจับกุมเมื่อปี 2010 จนกระทั่งสหรัฐบีบให้ปล่อยตัวเขาในปี 2018 เพื่อให้เขาเป็นผู้แทนตาลีบันเจรจากับสหรัฐ
นอกจากนั้น เขาเป็นหัวหน้าสำนักงานฝ่ายการเมืองของตาลีบันและรับผิดชอบการเซ็นสัญญาถอนทหารอเมริกันที่กาตาร์
ตาลีบันยังได้แสดงภาพลักษณ์ “ลดความสุดโต่ง” ของตัวเอง โดยก่อนหน้านี้ได้เดินสายขอสวามิภักดิ์กับรัสเซียและจีน
ตาลีบันระบุว่าจะไม่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย (หลายประเทศรวมทั้งอเมริกา ไม่ถือตาลีบันเป็นกลุ่มก่อการร้าย) และประกาศไม่ยุ่งเรื่องมุสลิมอุยกูร์ และแสดงความต้องการเปิดรับเงินจีนให้เข้ามาในประเทศ
การลดความสุดโต่งนี้ไปถึงขั้นว่า ล่าสุดมีการประกาศว่าจะยังอนุญาตให้ผู้หญิงเรียนหนังสือและทำงานได้ และจะไม่แก้แค้นคนที่เคยให้ความร่วมมือกับ “ผู้รุกราน”
…นี่สะท้อนให้เห็นการเติบโตทางการเมืองของตาลีบันนั่นเอง…
สำหรับโจ ไบเดนที่ก่อนหน้านี้ยืนกรานมาตลอดว่าการถอนทหารสหรัฐเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ต้องเผชิญกับเสียงต่อต้านในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในขณะนี้ซึ่งรัฐบาลอัฟกันกำลังล่มสลายนั้น ประจวบเหมาะกับช่วงหยุดพักผ่อน long weekend ของเขาอยู่พอดี
…ต้องดูกันต่อไปว่าสถานการณ์จะมีผลต่อคะแนนนิยมของเขาอย่างไร
*** วิเคราะห์อนาคตอัฟกานิสถาน ***
1) ตาลีบันจะยังร่วมมือกับกลุ่มก่อการร้ายหรือไม่?
แม้ว่าตาลีบันสัญญากับทั้งอเมริกา รัสเซีย และ จีนว่าจะไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใดใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานโจมตีจนกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศทั้งสาม
แต่ข่าวนิกเกอิของญี่ปุ่นรายงานตั้งแต่ก่อนรัฐบาลคาบูลล้มแล้วว่า มีกลุ่มอัลกออิดะห์และพันธมิตรช่วยตาลีบันรบในปี 2021
ดังนั้นจึงมีข่าวว่ารัสเซียซ้อมรบกับกลุ่มประเทศเอเชียกลางเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์
เช่นเดียวกับที่จีนซ้อมรบกับรัสเซียในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย (แม้ว่าจะอยู่ไกลจากชายแดนอัฟกานิสถาน แต่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นไปเพื่อปรามการก่อการร้าย)
ปัจจุบันยังไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าตาลีบันจะปฏิบัติตามสัญญา…
2) จีนพร้อมแผ่อิทธิพลเข้ามาแทนอเมริกา
การต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างจีนกับอเมริกาทวีความร้อนแรงขึ้นทุกขณะ และหลายฝ่ายมองว่าการที่อเมริกาถอนทหารออกไปก็เพื่อไปทุ่มเทกับทะเลจีนใต้แทน
อนึ่งจีนมีท่าทีพร้อมลงทุนขนาดใหญ่ในภาคพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานของอัฟกานิสถาน นอกจากนั้นยังมีความสนใจในแหล่งธาตุหายาก (rare earth) ซึ่งมีความจำเป็นต่อการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์
ทั้งนี้ จีนเล็งเห็นความจำเป็นในการใช้อัฟกานิสถานเพื่อประกอบเส้นทางสายไหมใหม่เพื่อปิดล้อมอินเดีย ขณะเดียวกันตาลีบันรับปากจะให้การคุ้มครองธุรกิจและคนจีนเป็นอย่างดี
…นี่สะท้อนให้เห็นว่าจีนต้องการเข้าไปอย่าง “พ่อค้า” ไม่ใช่เข้าไปจัดการเปลี่ยนแปลงอัฟกานิสถานแบบโซเวียตหรืออเมริกาเมื่อกาลก่อน
ต้องดูกันต่อไปว่าการสละหมากอัฟกานิสถานตัวนี้ของอเมริกา และการเข้าไปรับช่วงต่อของจีน ใครจะได้หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน
3) หลายประเทศแสดงบทบาทในเวทีโลก
นอกจากจีนแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่แสดงบทบาทในเวทีโลกเกี่ยวกับเรื่องตาลีบัน…
รัสเซียยังต้องการเป็น “พี่ใหญ่” ในภูมิภาค โดยเตรียมจัดการประชุมฉุกเฉินคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ และต้องการดึงอิหร่านและอินเดียเข้ามาร่วมรักษาความสงบในอัฟกานิสถานด้วย (สังเกตว่าอินเดียกับจีนไม่ถูกกัน การนี้จึงเป็นไปได้ว่ารัสเซียอาจกำลังขัดขาจีนอยู่)
ทางด้านตุรกีนำโดยประธานาธิบดี เรเจป ไทยิป เออร์โดกัน เองก็แสดงความสนในเรื่องนี้ โดยต้องการดูแลความมั่นคงให้กับพื้นที่ และให้ความร่วมมือกับปากีสถานเพื่อป้องกันการไหลบ่าของผู้ลี้ภัย
ด้านปากีสถานเองมีข่าวว่าสนับสนุนตาลีบันมาช้านาน แต่มาถึงตอนนี้กลับมีปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยอัฟกันจำนวนมาก
…และเมื่อมีพวกสุดโต่งทางศาสนาขึ้นมาเป็นใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ต้องดูกันต่อไปว่าจะมีผลต่อการเมืองในประเทศปากีสถานด้วยหรือไม่
*** ชะตากรรมของคนอัฟกานิสถาน ***
พบว่าราคาอาหาร และเบอร์กา (ซึ่งเป็นเครื่องนุ่งห่มคลุมทั้งตัวของผู้หญิง) ถีบตัวสูงขึ้นมาก เพราะผู้หญิงต้องแย่งกันซื้อมาใส่เพื่อความอยู่รอด
หลายคนพยายามหนีออกนอกประเทศทางสนามบินคาบูล โดยเฉพาะบรรดานักศึกษาหญิง
ประชาชนจำนวนมากพยายามลี้ภัยเข้าไปในปากีสถาน แต่หลังมีผู้ขอลี้ภัยคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขณะรอคิวกลางแดดทำให้เกิดเหตุโกลาหล จนลงเอยด้วยการต้องใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม
ด้านสื่อสหรัฐมีการลงข่าวสภาพบ้านเมืองที่อยู่ในการควบคุมของตาลีบัน ณ ขณะนี้ โดยยกตัวอย่างเมืองคุนดุซที่ตาลีบันยึดได้เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2021
นายกเทศมนตรีคนใหม่ที่เป็นตาลีบันใช้การขู่ลงโทษข้าราชการที่หวาดกลัวจนไม่ยอมมาทำงานตามปกติ และประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลและไก่แช่แข็งที่ไม่ฮาลาล
จึงเห็นได้ว่าการปกครองใต้ตาลีบันคงจะเข้มงวดขึ้น แม้จะยังไม่ได้ทำอะไรรุนแรง แต่ไม่มีใครรู้ว่าจาก “ไม้นวม” จะเปลี่ยนเป็น “ไม้แข็ง” เมื่อไหร่
อนาคตอัฟกานิสถานยังคงมีความไม่แน่นอน คงต้องคอยติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด
0 Comment