*** รีวิวจากคุณ Rath Panyowat ***

ช่วงวันที่ 28 ก.ค. ถึง 8 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา ผมไปเที่ยวอิหร่านมาครับ อยากไปมานานแล้ว พอดีเห็นทัวร์ของ Wild Chronicles ขึ้นมาบน Facebook พอดี ติดตามทางเพจมานาน รู้สึกว่าเป็นเพจที่ความรู้เรื่องตะวันออกกลางค่อนข้างแน่น คิดว่าไปเที่ยวกับทางเพจน่าจะน่าสนใจ ก็เลยกดจองไปเลยครับ

จริง ๆ ทัวร์ไม่ได้ยาวขนาดนี้ ความพีคคือ ผมไม่ทราบว่าปกติที่เขาเที่ยวกันมันคือทัวร์อิหร่านคลาสสิคลงไปทางตอนกลางของประเทศ แต่ทัวร์ที่ซื้อเป็นทัวร์ไปอิหร่านทางเหนือ ซึ่งเน้นธรรมชาติและคนละทางกันเลย แต่ไหน ๆ ก็จะไปแล้ว ก็เลยอยู่ต่อเองต่ออีก 5 วันแล้วไปทางอิหร่านคลาสสิคไปด้วยเลยครับ

*** 28 ก.ค. 66: เดินทางถึงเตหะราน ***

วันนี้ไม่มีอะไรมากครับ เดินทางไปถึงดึกๆ กว่าจะผ่านเกทกว่าจะไปถึงโรงแรม Rexan Hotel ซึ่งถึงแม้จะอยู่ตรงข้ามสนามบิน ก็ตีสองกว่า ๆ เก็บของอาบน้ำ กว่าจะเสร็จก็ตีสามกว่า ๆ ก็เลยนอนเลยครับ

ในแง่การเดินทาง ตอนขาไปผมบินกับ Mahan Air อากาศร้อนมาก เหมือนระบบปรับอากาศเสีย เปิดฮีตเตอร์แรงไป แล้วก็ร้อนอย่างนั้นตลอดทริป คือนอนไม่หลับเลยครับบนเครื่อง ขากลับไม่ถึงกับร้อนมากแต่ก็ไม่เย็นอยู่ดี อาหารโอเค แต่ระบบต่างๆ บนเครื่องไม่ค่อยดี สรุปคือไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ครับสายการบินนี้

*** 29 ก.ค. 66: ชาลูส – แรมซาร์ ***
วันนี้เป็นการเดินทางออกจากเตหะราน ขึ้นเหนือไปทางเมืองชาลูส (Chalus) จากนั้นไปต่อจนถึงเมืองแรมซาร์ (Ramsar) ระหว่างทางจะต้องผ่านเทือกเขาแอลโบร์ซ (Alborz) โดยเส้นทางที่ชื่อว่าถนนชาลูส (Chalus Road) หรือ Road 59 ซึ่งเป็นถนนที่ชาวอิหร่านนิยมไปโร้ดทริปกัน เนื่องจากมีความสวยงามของเทือกเขาดังกล่าว ระหว่างทางมีเขื่อนคาราจ (Karaj dam) ซึ่งก็แวะชมได้

…ก็สวยดีครับ แต่ว่าก็ไม่ได้มีอะไรเท่าไหร่… จากนั้นนั่งรถกันต่อยาวๆ บนถนนชาลูสครับ บรรยากาศรอบๆ ก็จะเป็นภูเขาประมาณนี้แหละครับ ช่วงออกจากเตหะรานมาจะเป็นเขาค่อนข้างแห้ง มีต้นไม้เป็นหย่อมๆ แต่พอผ่านเขาไปแล้วจะเขียวแบบเหมือนคนละประเทศ

ที่อิหร่านนี่คนนิยมซื้อรถสีขาวกันครับ ผมว่าน่าจะราว 80% อีก 15% เป็นสีดำ ที่เหลือเป็นสีอื่น ผมถามเขาว่าทำไมมีแต่สีขาว ถามแต่ละคนก็ได้คำตอบไม่ค่อยเหมือนกัน แต่เท่าที่ฟังเหตุผลดูจะเป็นว่า 1) ไม่ร้อน 2) ซื้อง่ายขายคล่อง 3) เขาผลิตมาแต่สีนี้

อันนี้ต้องเข้าใจพื้นเพเล็กน้อยว่าเขาโดนตะวันตกคว่ำบาตรมานาน หลายๆ อย่างก็ต้องผลิตเอง รถก็เช่นกันครับ แต่ในปีหลังๆ เหมือนจะเริ่มนำเข้ามาแล้วนะครับ

*** 30 ก.ค. 66 แรมซาร์ ปราสาทรุดข่าน หมู่บ้านมาซูเลห์ ***

วันนี้ฝนตกทั้งวันเลยครับ เราเริ่มต้นวันด้วยการเที่ยวในตัวเมืองแรมซาร์ครับ

เริ่มจากการไปที่ถนนคาสิโน (Casino Boulevard) ซึ่งเป็นถนนที่สร้างเพื่อไปที่บ่อนคาสิโนที่ตั้งใจว่าจะเปิดให้บริการในสมัยกษัตริย์พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (กษัตริย์องค์สุดท้าย) ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายได้เปิดไหมนะครับ แต่หลังการปฏิวัติอิสลามเหมือนคาสิโนทุกแห่งก็ปิดหมดครับ ถนนนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็นถนนครู หรือ teacher boulevard ไป

พิพิธภัณฑ์พระราชวังแรมซาร์ (Ramsar Palace Museum) พิพิธภัณฑ์นี้เดิมเป็นพระราชวังมาก่อน เข้าใจว่าเป็นแนวบ้านพักตากอากาศของกษัตริย์ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกษัตริย์พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวีแล้ว (พระบิดาของกษัตริย์องค์สุดท้าย) กษัตริย์โมฮัมหมัด เรซาเองก็ใช้ที่นี่เป็นที่ฮันนีมูนกับภรรยาคนที่สอง หลังการปฏิวัติจึงถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้าชม ภายในประกอบด้วยอาคารหลายหลัง

เดินทางต่อ เราออกจากเมืองแรมซาร์ และเดินทางต่อไปยังเมืองฟูมาน (Fuman) เพื่อไปยังปราสาทรุดข่าน (Rudkhan Castle) ปล.ชาวอิหร่านชอบยิ้มทักทายกล้อง บางทีเราเดินๆ อยู่ก็มาขอถ่ายรูปหรือขอให้เราถ่ายรูปให้

ปราสาทรุดข่าน (Rudkhan Castle) เป็นปราสาทตั้งแต่ยุคจักรวรรดิซาเซเนียน ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณค.ศ. 200-600 เป็นอาณาจักรสุดท้ายก่อนที่อาหรับจะรุกเข้ามาและเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม ปราสาทนี้สร้างขึ้นเพื่อต้านการรุกรานนั้น ปัจจุบันแทบไม่เหลืออะไรแล้วเหลือแค่กำแพงและซากปรักหักพังเล็กน้อยอยู่บนยอดเขา ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางจากตีนเขาขึ้นไปราว 2 ชั่วโมง ระหว่างทางช่วงต้นๆ จะมีร้านขายของและร้านนั่งชิลมากมาย

เราไปถึงที่ปราสาทค่อนข้างช้ากว่ากำหนดการ ดังนั้นจึงไม่มีเวลาพอจะขึ้นไปถึงจุดที่เป็นปราสาทได้ ก็เลยได้แต่ชมบรรยากาศร้านขายของบริเวณทางขึ้น (อันนี้คือผมเดินขึ้นอยู่ราว 30 นาทีนะครับร้านถึงจะหมด นับว่าร้านเยอะมาก) แต่จะขึ้นไปถึงจุดที่มีปราสาทคืออีกยาวครับ เราเลยตัดสินใจลงมากัน นับว่าน่าเสียดายครับ

เราเดินทางกันต่อไปที่เป้าหมายต่อไปคือหมู่บ้านมาซูเลห์ครับ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่อยู่มานานมากแล้วตั้งแต่ราวปีค.ศ. 1000 (แต่ก็มีหลักฐานว่ามีชุมชนเกิดขึ้นบริเวณนั้นมาก่อนหน้านั้นแล้วครับ) จุดเด่นของที่นี่คือเป็นอาคารบนเขาที่หลังคาของบ้านที่อยู่ด้านล่างจะเป็นสวนและทางเดินของบ้านหลังที่อยู่บน ซ้อนกันไปเรื่อยๆ ครับ

หลังจากนั้นเราก็เดินทางกันต่อไปที่เมืองบันดาร์ อันซาร์ลี (Bandar Anzali) เพื่อค้างคืน คืนนั้นเราพักกันที่โรงแรมสไตล์อีโค่แห่งหนึ่ง ผมจำชื่อไม่ได้ ในแง่ความงามถือว่าโอเคเลยครับ

แต่ในแง่บริการอาจยังไม่ค่อยพร้อมนัก ขนาดตอนเช้าคือไกด์ต้องมาเสิร์ฟอาหารทีละห้องให้แขกเองน่ะครับ

*** 31 ก.ค. 66 ทะเลแคสเปียน อาร์เดบิล ***

ตอนเข้าผมแวะถ่ายรูปบรรยากาศในโรงแรมเพิ่มเล็กน้อย สวยดีนะครับ ก่อนออกจากเมืองนี้เราแวะไปชมทะเลแคสเปียนกันเล็กน้อย ทะเลแคสเปียนคือทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ มีพรมแดนติดกับ 5 ประเทศ แต่ถ่ายภาพออกมาก็เหมือนทะเลธรรมดานี่แหละครับ

อันซาร์ลีลากูน (Anzali lagoon) คือแหล่งน้ำตื้นๆ ที่แยกออกจากทะเลครับ ที่เมืองนี้ก็มีลากูนเช่นกันโดยมีชื่อเสียงเรื่องมีทุ่งดอกบัวขนาดใหญ่ เราก็เลยไปล่องเรือชมดอกบัวกัน เอาจริงๆ อาจไม่ได้ต่างจากในไทยเท่าไหร่

เราเดินทางกันต่อไปยังเมืองอาร์เดบิล (Ardabil) ครับ ระหว่างทางจะต้องมีการข้ามทือกเขาแอลโบร์ซอีกครั้ง ทำให้เกิดเส้นทางชมทิวทัศน์สวย ๆ อีกครั้ง เรียกว่าเส้นทางเฮรัน (Heyran pass) ครับ ไกด์บอกน้ำมันถูกมาก ลิตรละไม่ถึงสิบบาท และรัฐมีสวัสดิการน้ำมันราคาถูกในช่วงลิตรแรก ๆ ให้ด้วย คนใช้รถก็เยอะมากเช่นกัน

โดยรวมผมค่อนข้างชอบการเดินในเมืองอิหร่านนะครับ เมืองมีชีวิตชีวา เดินได้ ไม่ร้อน ร้านขายของต่าง ๆ มากมาย ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในห้าง

*** 1 ส.ค. 66 อาร์เดบิล คานโดวาน ***

เมืองอาร์เดบิลนี้มีความสัมพันธ์กับราชวงศ์ซาฟาวิด (Safavid) ซึ่งตรงกับราว ค.ศ. 1500-1700 ซึ่งเป็นยุคที่เปอร์เซียกลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหลังจากผ่านการรุกรานจากฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่อาหรับยันมองโกลในช่วงที่ผ่านมา กษัตริย์ชาห์อิสมาอิลที่ 1 ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์ซาฟาวิดเริ่มการรวมประเทศจากเมืองอาร์เดบิลนี้

Sheikh Safi Al-Din Ardabili’s Shrine ชื่อยาวมาก อ่านไม่ถูกเลยทีเดียว แต่ที่แห่งนี้คือหลุมฝังศพของท่านชีค ซาฟี (Sheikh Safi) ซึ่งเป็นผู้นำแนวปฏิบัติแบบซูฟี (Sufism) ของศาสนาอิสลาม คือไกด์บอกว่า Shrine ของอิสลามนี่ก็คล้าย ๆ มัสยิดแหละครับแต่ว่ามีศพของผู้ศักดิ์สิทธิ์อยู่ในนั้นด้วย (มัสยิดไม่มี) พอดีว่ากษัตริย์ชาห์อิสมาอิลที่ 1 เชื่อมั่นในแนวปฏิบัติแบบซูฟีนี้ ก็เลยค่อนข้างโปรโมตเยอะในสมัยซาฟาวิด

ระหว่างทางเราจะผ่านภูเขาอะลาดักลาร์ (Aladaglar Mountains) ซึ่งเป็นภูเขาหลากสี เกิดจากอะไรจำไม่ได้แล้วครับ แต่เหมือนจะเป็นแบบนี้มาเป็นล้านปีแล้วนะครับ สวยดีครับ

และแล้วก็มาถึงจุดหมายปลายทางของวันคือคานโดวาน เป็นหมู่บ้านบนเขาที่สร้างขึ้นด้วยการเจาะเข้าไปในผนังถ้ำจนเป็นห้องครับ ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีทั้งแบบ homestay ให้เราไปพักกับชาวบ้านแถวนั้น และแบบซื้อต่อจากชาวบ้านมาทำเป็นโรงแรม โรงแรมที่เราพักวันนี้ก็เช่นกันครับ เหมือนจะชื่อว่า Kandovan Laleh International Rocky Hotel เราเข้าไปที่โรงแรมเก็บของก่อน

*** 2 ส.ค. 66 ทาบริซ ***
เราออกจากคานโดวานกันสายๆ จากนั้นเดินทางเข้าไปที่ทาบริซ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งก็ถึงครับ ทาบริซเป็นเมืองใหญ่อันดับ 6 ของประเทศในแง่ประชากร

แต่เป็นศูนย์กลางของอิหร่านในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่ยุคเส้นทางสายไหม ในบันทึกของมาร์โค โปโลเองก็มีกล่าวถึงเมืองนี้ ทาบริซเคยเป็นเมืองหลวงในบางยุคสมัย เช่นในสมัยซาฟาวิด และเนื่องจากอยู่บริเวณเทือกเขาคอเคซัสซึ่งใกล้กับพรมแดนรัสเซียและตุรกี บางช่วงก็เคยตกเป็นของออตโตมัน หรือในช่วงสงครามช่วงปี 1800s ก็เคยตกเป็นของรัสเซียอยู่เหมือนกัน

เราไปถึงที่ Tabriz Grand Bazaaประมาณเที่ยง ทางคณะทัวร์ก็แยกย้ายกันเดินเล่นในตลาดก่อน จากนั้นนัดพบกันที่ร้านอาหารราวบ่ายโมงครึ่ง ตอนแรกผมก็แปลกใจว่าทำไมกินข้าวแถวๆ บ่ายสองทุกวันเลย สรุปดูเหมือนจะเป็นเวลากินข้าวประจำของคนที่นี่ครับ เขากินกันราวๆ นั้น

Tabriz Grand Bazaar นี้เป็นตลาดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอิหร่านครับ อยู่คู่กับเมืองทาบริซมานานตั้งแต่ยุคโบราณ องค์การยูเนสโกยกให้ตลาดนี้เป็นมรดกโลกในปี 2010

พิพิธภัณฑ์อาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสิ่งต่างๆ ที่ค้นพบในแถบนี้ เนื่องจากพื้นที่แถบนี้อยู่มานาน ของที่ค้นพบเลยมาจากยุคสมัยต่างๆ

มัสยิดสีน้ำเงิน (Blue Mosque หรือ Masjed-e Kabūd) มัสยิดสำคัญของเมือง แต่ไม่ได้เก่ามากนะครับ สร้างราวๆ 1400s ตอนที่ทาบริซตกเป็นของออตโตมัน เห็นบอกว่าพรมหายไปหลายผืน หลังจากนั้นก็มีแผ่นดินไหวหลายครั้ง
ครั้งที่หนักที่สุดคือปีค.ศ. 1780 ทำลายแทบจะทั้งหมดเลยเหลือแค่ส่วนทางเข้าหรือที่เรียกว่า อีวาน (Iwan) ซึ่งมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมที่เปิดด้านหน้าและมีซุ้มโค้ง จะเห็นสถาปัตยกรรมแบบนี้ค่อนข้างเยอะในศิลปะอิสลาม

หลังจากนั้นมัสยิดก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง คนก็เข้ามาขโมยของหลายครั้ง จนในราชวงศ์ปาห์ลาวีจึงบูรณะและสร้างต่อให้เป็นมัสยิดเหมือนเดิม

หลังจากนั้นเราก็ไปพักผ่อนกันที่สวนสาธารณะประจำเมือง อันนี้ก็ไม่มีอะไรครับ เดินเล่นชมบรรยากาศ

เรามาถึงที่สนามบินทาบริซ เพื่อเดินทางต่อไปที่เตะหานครับ แต่ขณะที่อยู่ที่สนามบินผมเกิดเรื่องนิดหน่อยครับ ตอนนั้นผมก็ผ่านขั้นตอนการเช็คอินการตรวจ security อะไรตามปกติ จนไปถึงหน้าเกทรอขึ้นเครื่องครับ โซนที่เป็นม้านั่ง
เท่าที่ผมไปสนามบินมา ปกติสนามบินจะไม่ให้ถ่ายช่วงตรวจ security แต่พอผ่านมาแล้วก็ให้ถ่ายได้ หลายแห่งตกแต่งสวยงามให้ถ่ายด้วยซ้ำไปครับ ที่ทาบริซเองบริเวณนี้ก็ไม่ได้มีป้ายห้ามถ่ายอะไร และคนก็หยิบมือถือมาถ่ายกันประปราย พอไปถึงตรงหน้าเกท ผมก็หยิบกล้องมาถ่ายบ้าง แต่ถ่ายเป็นวิดีโอก็เลยมีแพนกล้องไปมา
…แป๊ปเดียวมีพนักงานรักษาความปลอดภัยเดินมาโวยวายๆ ฟังไม่ออกแต่เข้าใจว่าจะสื่อว่าห้ามถ่าย…

แล้วเขาก็ให้ตามเขาไปที่อีกห้องหนึ่ง ในใจตอนนั้นคือคิดว่าเอาแล้ว จะติดคุกมั้ยว้า ก็เลยหันไปเรียกไกด์ท้องถิ่นให้มาช่วย ไกด์ก็ช่วยเจรจาให้ จนเดินไปที่อีกห้องนึง เขาก็เรียกหัวหน้าเขาให้มาคุยด้วย

คุยกันอยู่ซักพัก ถามว่าเป็นใคร ถ่ายไปทำไม ทำไมต้องถ่ายวิดีโอ ขอดูรูปทั้งหมดที่ถ่าย ฯลฯ สุดท้ายก็ยอมปล่อยตัว โดยให้ลบรูปทั้งหมดที่ถ่ายที่สนามบิน (นับว่ายังดี นึกว่าจะโดนยึดกล้องยึดเมม) และไม่ให้ถ่ายอะไรอีกที่สนามบิน

ก็ได้กลับไปรอขึ้นเครื่อง จนเดินทางมาถึงเตหะรานได้ครับ (สุดท้ายก็มาถึงไทยได้ แสดงว่าน่าจะไม่ได้โดนขึ้น black list อะไร) เป็นการโดนแบบงงๆ คือถ้ามีป้ายบอกก็อาจจะเข้าใจได้ว่าผิดจริง อันนี้ก็ไม่มีป้ายอะไร แถมคนอื่นก็ถ่ายกันเยอะแยะ เหตุผลเดียวที่นึกออกคือน่าจะเพราะผมใช้กล้องที่ดูใหญ่ อาจจะเหมือนชาติศัตรูจ้างมาล้วงความลับล่ะมั้ง

อยากฝากทุกท่านที่เดินทางไปอิหร่านครับว่าระวังเรื่องการถ่ายรูปให้ดี และห้ามถ่ายรูปในสนามบินนะครับ ผมนึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่มีไกด์ท้องถิ่นไปด้วยจะรอดมาจากตรงนั้นยังไง

ใช้เวลาชั่วโมงนิดๆ ก็มาถึงเตหะรานครับ พักที่ Ferdowsi International Grand Hotel ครับ บรรยากาศโอเคเลยนะครับ

*** 3 ส.ค. 66 เตหะราน วันที่ 1 ***

วันนี้เป็นวันที่มี heat wave ที่เตหะราน ร้อนในระดับที่เขาสั่งปิดสถานที่ราชการหลายๆ แห่ง โชคดีตรงที่ที่เราไปส่วนใหญ่ไม่ปิด แต่ก็ร้อนมากอยู่ดีครับ

เราเริ่มวันกันที่แวะมาดูประตูนี้ครับ Bagh-e Melli (National Garden) เหมือนจะเป็นประตูที่สร้างขึ้นช่วงยุค 1900s เพื่อเข้าไปยังพื้นที่ทหาร แต่ต่อมากลายเป็นสวนสาธารณะและก็มีอาคารของราชการหลายๆ แห่งสร้างขึ้นรอบ ๆ บริเวณนี้ หนึ่งในนั้นคือกระทรวงการต่างประเทศ

และก็มาถึงสถานที่ที่ทุกคนที่ไปเที่ยวเตหะรานต้องไปครับ พระราชวังโกเลสตาน (Golestan Palace) พระราชวังนี้จริงๆ สร้างมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1200 แล้ว

แต่ตอนนั้นเป็นแค่อาคารเล็กๆ จนมาถึงราชวงศ์คาจาร์ (กอญัร) ได้ย้ายเมืองหลวงมาที่เตหะราน และก็เลือกเอาที่นี่เป็นพระราชวัง เลยเกิดการอัพเกรดครั้งใหญ่ กลายเป็นแบบในปัจจุบัน สมัยราชวงศ์ปาห์ลาวีได้ย้ายวังไปอยู่ที่อื่น แต่ก็ยังใช้ที่นี่เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญเช่นพิธีขึ้นครองราชย์

ไม่ไกลจากพระราชวังจะเป็นตลาด Tehran grand bazaar โดยรวมผมว่าไม่ได้ต่างจากที่ทาบริซหรือที่อื่นๆ มากนัก แต่จำนวนคนนับว่ามหาศาลกว่ามาก เราอยู่ที่นี่ไม่นานก็ไปที่ต่อไป

หลังทานเข้าเที่ยงเราก็ไปที่หอคอยอะซาดีนี้ต่อ เป็นหอคอยใกล้ๆ สนามบิน Mehrabad Airport ซึ่งเป็นสนามบินภายในประเทศ

หอคอยนี้สร้างโดยพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (กษัตริย์องค์สุดท้าย) สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง 2,500 ปีอาณาจักรเปอร์เซีย โดยให้เป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศ สร้างเสร็จปี 1971 ตอนแรกไม่ได้ชื่อนี้ มาเปลี่ยนชื่อเป็น Azadi ซึ่งแปลว่า freedom หลังการปฏิวัติอิสลาม

เป็นหอคอยที่สวยดีครับ ดู futuristic แต่ก็ผสมความคลาสสิค อาคารแบบนี้มักเจอตามเกม sci-fi ที่มีตีมอดีต

ก่อนหมดวันเราไปที่ทะเลสาบชิตการ์ ไกด์บอกว่าเขตนี้เป็นเขตเมืองใหม่ที่เพิ่งสร้าง รัฐบาลพยายามผลักดันให้คนออกจากเตหะรานมาอยู่แถวนี้ มีตึกใหม่กำลังสร้างเยอะเลยครับ ที่นี่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง พอดีช่วงสี่โมงเย็นร้อนมาก คนเลยไม่ค่อยเยอะ ถ้าอากาศดี ๆ หน่อยตรงนี้น่าจะน่าอยู่มาก

…หลังจากนั้นเพื่อนคณะทัวร์ก็เดินทางไปที่สนามบินเพื่อเดินทางกลับไทย ส่วนผมเดินทางกลับโรงแรมเพื่อรอไปเที่ยวต่อครับ…

จบไปแล้วนะครับกับรีวิว
ทัวร์อิหร่าน Magical Palaces & Desert มีทั้งหมด 2 รอบ เดินทางทั้งสิ้น 8 วัน 6 คืน
*รอบที่ 1: วันที่ 12 – 19 เมษายน 2567 (ตรงกับช่วงวันสงกรานต์)

*รอบที่ 2: วันที่ 26 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2567 (ตรงกับช่วงวันแรงงาน)

หากท่านใดสนใจขอโปรแกรม สามารถติดต่อได้ทาง inbox หรือแอด LINE OA @thewildchronicles (พิมพ์ @ ด้านหน้า) และพิมพ์ว่า “สนใจทัวร์อิหร่าน” ได้เลยครับ พิเศษตอนนี้มีลดราคาอยู่ อย่าช้ารีบจองเลย!