*** รีวิวจากคุณ ธาราสินธุ์ ***

ถ้ามีคนถามว่า ไปอิหร่านช่วงไหนดีที่สุด ? คนที่ชาตินี้ เพิ่งเคยไปอิหร่านมาแค่ครั้งเดียว คงตอบว่า หน้านี้แหละค่ะ ช่วงฤดูใบไม้ผลิ เมษา – พฤษภา นี่น่าจะเป็นช่วงที่ดีที่สุด อากาศสบายมาก ๆ 13-25 ดอกไม้บานเต็มเมือง แดดจัดจ้าน ถ่ายรูปสวยมาก แต่ไม่ร้อน

น่าจะมีคนรีวิวอิหร่านไปหลายกระทู้แล้วนะคะ นี่ขอแอดเพิ่มมาอีกสักกระทู้แล้วกันค่ะ บอกเล่าเกร็ดความประทับใจปลีกย่อยเกี่ยวกับแดนเปอร์เซียโบราณแห่งนี้

ดิฉันไปอิหร่านกับ The Wild Chronicles ของคุณปั๊บเจ้าของล็อคอินอันโด่งดังที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของประเทศทางฝั่งยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และประเทศมุสลิม ที่ติดอันดับกระทู้พันทิปอยู่สองสามปีติดๆ กัน

แล้วก็ไม่ผิดหวังค่ะ เพราะที่เพิ่มเติมจากการได้ไปดูมัสยิด วัง และสถานที่สวย ๆ แล้ว ยังมีเกร็ดเรื่องเล่าสนุกสนานมากมายที่น่าสนใจ บอกเล่าจากมุมมองหลาย ๆ ด้าน มีทั้งความสนุก รันทด ความ “โอ้โห” ความน่าชื่นชมและสุนทรียะของแดนเปอร์เซียแห่งนี้

ปกติ เวลาเล่าเรื่อง ดิฉันมักเล่าแบบเดินตามลำดับเวลา เป็น chronological order แต่อันนี้ ขอเล่าเป็นข้อ ๆ เก็บตกจากทริปก็แล้วกันค่ะ ว่า มีตรงไหนที่คิดว่าน่าสนใจ สนุก แปลก หรือ เราอาจคิดไม่ถึงบ้าง ?

1. คุณปั๊บเธอเล่าว่า ทริปนี้ เรียกว่า เป็น IRAN 101 เพราะเอาจริง ๆ ประเทศนี้สามารถจัดได้หลาย route แบบเดียวกับประเทศจีน คือ มันใหญ่ และหลากหลาย จนสามารถจัดเป็นธีมได้เลยว่า แต่ละครั้ง เราอยากโฟกัสอะไร

เที่ยวนี้ เราเที่ยวแบบเก็บภาพรวม ของอาณาจักรเปอร์เซียโบราณ จนถึงรอยต่อของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่การปฏิวัติวัฒนธรรมและโค่นล้มระบอบเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ส่งผลมาถึงปัจจุบัน โดยเราไป สามเมืองหลัก คือ เตหะราน เมืองหลวง ปัจจุบัน เมืองชีราซ เมืองสำคัญทางตอนใต้ และอิสฟาฮาน อดีตเมืองหลวงที่เป็นที่เล่าลือกันเรื่องความสวยงาม

2. ก่อนไปอิหร่าน ดูพาสปอร์ตว่า เหลืออายุอีกแค่ 1 ปี ต้องไปทำเล่มใหม่ ก็เลยตัดสินใจไปเพราะรอพาสปอร์ตหมดอายุแล้วทำเล่มใหม่ปีหน้า ไม่ต้องเสียดายพาสปอร์ต เคยได้ข่าวมาว่า ถ้าพาสปอร์ตเรามี stamp การเข้าประเทศอย่างอิหร่าน หรือตะวันออกกลางบางประเทศ อีกหน่อย เวลาขอวีซ่าไปอเมริกาหรือยุโรป มีสิทธิโดนปฏิเสธสูง

แต่เวลาไปจริง เรื่องนี้ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะวีซ่ารุ่นใหม่ของอิหร่าน print ออกมาเป็นกระดาษ A4 เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอิหร่าน ไม่มีการ print ลงบนหน้าพาสปอร์ตว่า เราเคยเข้าอิหร่านมา

3. อิหร่าน ก่อนการปฏิวัติในปี 1979 หัวตะวันตกสุดๆ ผู้หญิงนุ่งสั้น ใส่บิกินีได้เหมือนผู้หญิงตะวันตก แต่ปัจจุบัน เข้มงวดเรื่องการแต่งตัวโดยเฉพาะผ้าคลุมผมมากกกกกค่ะ ใครผ้าคลุมผมหลุดจะมีตำรวจ (หรืออาจเป็นคนธรรมดา) เดินเข้ามาเตือนอย่างแข็งขังให้รีบคลุมผมทันที
ส่วนตัวคิดว่า คนอิหร่านเองหลายคน ก็คงไม่ชอบความเคร่งเบอร์นี้สักเท่าไร ไกด์เล่าให้ฟังแบบติดตลกว่า “ที่นี่นะครับ ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วโทร.แจ้งรถพยาบาล เค้าอาจใช้เวลาประมาณ 20 นาที ถึงมาถึงที่เกิดเหตุ แต่ถ้าคุณคลุมผ้าไม่เรียบร้อย แค่ 2 นาที ก็จะมีคนเข้าชาร์จมาเตือนคุณแล้ว”

ถ้าคลุมผมไม่ถนัด อาจใส่ beanie หรือหมวกเก็บผมสไตล์แร็ปโย่ เก็บผมทั้งหมดก็ได้นะคะ ดิฉันก็ใช้แบบนี้

4. คนเปอร์เซียโบราณ เก่งฟิสิกส์ การคำนวณ และเรขาคณิตอย่างมากกกกกก อ้าว…แล้วหล่อนรู้ได้ยังไง ? หล่อนเอาความรู้ที่ไหนไปตัดสินเค้า ?

คือ เวลามาเที่ยวอิหร่าน เห็นความเขียวขจีของต้นไม้ในเมือง ของสวนโบราณแบบเปอร์เซีย เห็นบ่อน้ำพุที่มีอยู่ทุกสวนแบบเป็น signature ของสวนเปอร์เซีย เราจะลืมนึกไปเลยว่า ที่นี่ มันเป็นแดนทะเลทรายนะ แล้วเธอจะเอาที่ไหนมาเขียว ?

คำตอบอยู่ที่เทคโนโลยีของการทดน้ำ ผันน้ำ และความรู้เรื่องการจัดการแรงดันอากาศ ตึกหลายแห่งที่เราได้ไปเยี่ยมชมกัน ตรงชั้นใต้ดินอุณหภูมิแตกต่างจากด้านบนอย่างมาก มีประมาณ 5-10 องศาได้เลย แต่ลงไปกลับไม่อึดอัด เพราะมีการออกแบบการระบายและไหลเวียนของอากาศได้ดีมาก

แล้วเรื่องสัดส่วนทางเรขาคณิต ความสมมาตรอะไรต่าง ๆ รวมถึงการดีไซน์แสงเงา เต็ม 10 คนเปอร์เซียจะต้องได้ 15

นี่เห็นแล้ว ธาราสินธุ์ดีใจที่ไม่ได้เกิดประเทศนี้ เพราะสมัยเด็ก ๆ เรขาคณิตสอบได้เลขตัวเดียวมาตลอดค่ะ คือ เรียนได้ดี ดีแบบดีด็อกค่ะ คือได้เกรด 1 ให้พิสูจน์มุม คำนวณด้านเท่าหรือไม่เท่า ไซน์ คอส แทน อะไรนี่ธาราสินธุ์ทำไม่เคยได้ ไอ้ประเภท จับไปยืนกลางแดด ทำมุมกับเสาธงเท่าไร รู้ความสูงของเสาธง แล้วให้คำนวณระยะที่เรายืนจากฐานเสาธงอะไรนี่ ตกมาตลอด

5.มัสยิด คฤหาสน์สไตล์เปอร์เซีย นอกจากจะมีลักษณะพิเศษที่กระเบื้องเคลือบติดผนังที่มีลวดลายแล้ว

ยังมีอีกหนึ่งเอกลักษณ์คือ ทางเข้าจะเป็นลักษณะที่เป็นเวิ้งลึกเข้าไป หรือเรียกกันว่าอิวาน (Iwan) คือ จะเป็นผนังด้านหลัง ผนังด้านข้าง ส่วนด้านหน้าจะเปิดกว้างออก

6.สุนทรียะของคนเปอร์เซียนี่ละเอียดลึกซึ้งมาก
คุณปั๊บเล่าว่า ความสุขของคนอิหร่าน คือ การออกมานั่งเล่นคุยกันในสวน ฟังเสียงน้ำไหล จากน้ำพุและอ่างน้ำในสวน จิบชา อ่านบทกวี และดมดอกส้มค่าคู้ณณณณณณณ
…บรรยายเหมือนภาพฝันเนอะ แต่มันไม่เกินความจริงค่ะ…

เราไปกันในฤดูใบไม้ผลิ ดอกส้มของต้น bitter orange หรือที่คนที่นี่เรียกกันว่า Naranje บานกันเต็มสวน หอมตรลบอบอวลจริง ๆ กลิ่นมันจะหอมสะอาดอมเปรี้ยวบาง ๆ แบบดอกส้ม ด้วยความที่ปลูกส้มรายล้อมบ่อน้ำยาว ๆ ที่ทอดไปตามสวน เวลาลมพัดที กลิ่นก็หอมอวล เป็นบรรยากาศที่ดีงามมาก ๆ

แล้วที่บอกว่า คนอิหร่านอ่านบทกวี อ่านของใครกันบ้างคะ ?

จริง ๆ กวีอิหร่านมีหลายท่านที่โด่งดัง บ้านเราอาจจะรู้จักท่านโอมาร์ คัยยามมากที่สุด แต่อีกท่านที่ดังมาก ๆ เช่นกันคือ ท่านฮาเฟซ (Hafez) สุสานของท่านอยู่ในสวนสาธารณะ และถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองชีราซ ไกด์บอกว่า หนังสือของคนอิหร่านที่สำคัญมีอยู่ 2 เล่ม เล่มแรกคือ คัมภีร์อัลกุรอาน และอีกเล่มคือ รวมบทกวีของท่านฮาเฟซนี่แหละค่ะ

7.กินอะไรกันที่อิหร่าน

ที่นี่กินข้าว กินขนมปัง เหมือนคนยุโรปและเอเชียค่ะ เพียงแต่ข้าวเค้า จะลักษณะเม็ดเรียวยาว คล้าย ๆ ข้าวบาสมาติของอินเดีย

ส่วนขนมปังที่ยอดฮิต และมีทุกที่ ทุกมื้อและทุกโต๊ะ เลยคือสิ่งที่เรียกว่า sangak bread หรือขนมปังกรวด มันไม่ได้ทำมาจากกรวดนะคะ เพียงแต่วิธีทำ เค้าจะอุ่นกรวดจนร้อนจัด แล้วเอาแป้งทำเป็นแผ่นบาง ๆ วางทาบไปบนกรวดร้อน ๆ จนสุกดี

ผักที่นี่ มีทั้งผักใบ พาสลีย์ (หน้าตาคล้ายผักชี แต่เป็นผักคนละชนิด) และมะเขือเทศค่ะ มีทั้งแบบสด แบบย่าง และแบบที่บดละเอียดใช้ปรุงอาหารสารพัดอย่าง เค้าจะมีอาหารชนิดที่เรียกว่า Iran Omelette ที่คล้าย ๆ ไข่คนมาก และเต็มไปด้วยมะเขือเทศบด (อีกเช่นเคย)

ชีสสด ชีสแผ่น ก็มากมี โยเกิร์ตก็มากมาย ใช้ราดแทนน้ำสลัด

ทริปนี้ คุณปั๊บพามากินหลาย ๆ ร้านที่น่าสนใจค่ะ บางร้าน ทางเข้านี่แคบและดูเหมือนทางเข้าห้องใต้ดินในหนังฆาตกรรม แต่พอเข้าไปแล้ว ข้างในโถงโอ่อ่า กว้างใหญ่มาก

8.โมเดล คลาสสิคของเมืองเปอร์เซีย วัง มัสยิด ตลาด

ศูนย์รวมการปกครองของเมืองเปอร์เซียโบราณ จะรวมเอามิติด้านการปกครอง ด้านจิตวิญญาณและด้านปากท้อง เข้าไว้อยู่ด้วยกัน คือ วัง มัสยิด และตลาด จะอยู่ในย่านเดียวกันหรืออยู่ใกล้ ๆ กัน

เมืองเก่าแก่อย่างชีราซ หรือ อิสฟาฮาน (อันนี้ อิสฟาฮานจะเห็นชัดว่า เพราะทุกอย่างรวมอยู่ในจัตุรัสเดียวกันชื่อ จัตุรัสนักช์ อี จาฮัน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า จัตุรัสชาห์ Naghsh-e Jahan Square) เราจะเห็นวัง เห็นมัสยิดสำคัญ และเห็นตลาด ตั้งอยู่ในละแวกใกล้กัน ของอิสฟาฮาน นี่จัตุรัส ประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่นี้อย่างชัดเจน วัง มัสยิด ตลาด

9.ซื้ออะไรกันดี ?

…มาเที่ยว จะไม่ซื้อ ไม่ช้อปอะไรเลยนี่ สำหรับคนไทยเรานี่ถือว่าผิดผีมาก ๆ นะคะ แต่จะหลงมาซื้อของ Made in China ของอิหร่าน นี่มันก็จะดูลูบคมกันไปหน่อย…

ของขึ้นชื่อของที่นี่มีพรม มีน้ำกุหลาบ ชากุหลาบ ถั่ว ไม้ประดิษฐ์ และก็หนังสือบทกวีเปอร์เซียค่ะ พรมนี่ เจ้าของร้านอธิบายว่า มี 2 แบบ แบบที่ทอเป็นลวดลายอ่อนช้อย เป็นแบบคนทอเป็นคนเมือง ส่วนแบบที่เป็นลายเรขาคณิตนี่ เป็นลายที่พวกเร่ร่อน (nomad) ทอ คณะเราไม่ได้ซื้อกันค่ะ

ส่วนกุหลาบ กุหลาบแห้ง ชากุหลาบ นี่ของอิหร่านขึ้นชื่อค่ะ ไทยเรารับคำว่า กุหลาบ (กุล-อับ) มาจากภาษาเปอร์เซีย เราใช้น้ำกุหลาบในพิธีการต่าง ๆ มาตั้งแต่โบราณแล้ว ใช้ทำน้ำอบ บรรจุในกระบอกสำหรับสุหร่ายในพิธีการ เรียกว่าเรา import น้ำกุหลาบ จากที่นี่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วค่ะ

มาทั้งที จะไม่ซื้อตามบรรพบุรุษหน่อยหรือคะ ?

10.สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ หรือ แนว outdoor หน่อยล่ะ มีไหม ?

มีค่า… คุณปั๊บ พาเราออกนอกเส้นทางนิดนึง ไปเยือนทะเลสาบสีชมพูชื่อว่า Maharloo Lake สีชมพูเกิดจากสาหร่ายในทะเลสาบ

ที่นี่ ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมแต่แรก เพราะคุณปั๊บเธอบอกว่า ทะเลสาบมาฮาร์ลูนี้ สีของมันเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางช่วงที่มา มันก็ไม่ได้เป็นสีชมพู แต่เผอิญวันนั้น มองจากเครื่องบินลงมามันเป็นสีชมพูพอดี เราเลยได้แวะที่นี่ ก่อนเข้าเมืองชีราซ ที่นี่ห่างจากชีราซประมาณ 25-26 กม.

11.ใครชอบงานกระเบื้อง งานกระจก ลวดลายอลัง แนว more is more มาดูมัสยิดที่นี่ไม่ผิดหวังค่ะ ลายงดงามอ่อนช้อย สวยงามดีเหลือเกิน ที่สำคัญคือ ทุกที่คุมธีมสีได้ดี เช่น มัสยิดชาห์ หรือ ลอทฟาลาห์ จะเป็นโทนสีน้ำเงิน ฟ้า ขาว เทอร์ควอยส์ คือ ลายเยอะ แต่ดู classy ค่ะ และความสมมาตรนี่คือที่สุด

12.มัสยิดกระจกบางที่ ก็มีที่มาน่าทึ่งค่ะ เช่น ที่ชีราซ มีมัสยิด Shah Cheragh อายุนับพันปี ไกด์เล่าว่า งานกระจกน่าจะเริ่มสักประมาณ 400 กว่าปีที่แล้ว เหตุเนื่องจาก เมืองนี้ ค้าขายกับเมืองเวนิซที่อิตาลี ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องเครื่องแก้ว (เข้าใจว่าจากมูราโน ในเวนิซนะคะ) ทีนี้ เค้าก็สั่งกระจกกันมา เอามาส่องนี่แหละค่ะ บังเอิ๊ญ มีล็อตหนึ่ง สั่งมาแล้วกระจกแตก ก็เลยมาดัดแปลง เอามาประดับจนเป็นงานกระจกที่สวยงาม

13.โรงแรมเป็นไงบ้าง ?

หูยยยยย…โรงแรมที่อิสฟาฮานที่ทางทัวร์จัดให้พัก หรูหราหมาเห่าราวกับเราเป็นมหารานี!

คือโรงแรมที่พักแรกที่เตหราน ดีมากนะคะ ไฟนี่เป็นไฟเส้นเดินรอบห้องแสงนวลตา อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ก็เรียบร้อย พนักงานวางมาสก์กับ alcohol pad ในซองพลาสติกใหม่ให้เราทุกวัน

ที่ชีราซนี่เฉย ๆ แต่ที่ อิสฟาฮานนี่ เราได้พักที่โรงแรม Abbasi เป็นโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก กรุกระจก มีสวน courtyard สวยงามกลางโรงแรม แถม…ได้อยู่ห้องสวีทด้วย

14.ผู้คนอิหร่านล่ะ เป็นไงกันบ้าง ?

…Super friendly ใจดี น่ารัก เป็นมิตรสุด ๆ พวกเราเดินไปไหน คนมักเข้าใจว่า เราเป็นคนจีน ตะโกน “หนีห่าว” กันเป็นแถว …

พอเราบอกว่า มาจากไทยแลนด์ แต่ละคนก็ยิ้มแย้มบอกว่า Welcome เดินไปไหนมีแต่คนขอถ่ายรูปกับคณะ

15.เรื่องร่วมสมัยของอิหร่าน มีอะไรบ้าง ?

เนื่องจากทัวร์ที่มาด้วย มีชื่อเสียงเรื่องเป็นเจ้าพ่อเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์และข้อมูล เราเลยได้ไปดูอะไรหลาย ๆ อย่างที่คนอื่นอาจไม่ไปกัน เช่น อดีตสถานทูตอเมริกันประจำอิหร่าน ถ้าใครเคยดูเรื่อง Argo มีการจำลองฉากสถานที่ในนั้นด้วยค่ะ ที่คนอิหร่านเรียกมันว่า Den of Espionage หรือรังโจรของสายลับ

หรือพิพิธภัณฑ์สงคราม ที่ที่นี่ทำอย่างยิ่งใหญ่อลังการ จำลองภาพเหตุการณ์ มีวีดีโอ บอกเล่าเรื่องราวความโหดร้ายของสงครามที่คนอิหร่านต้องเผชิญ และความยากลำบากที่วีรชนทั้งหลายได้เคยพลีชีพไว้

มีห้องร้อน ห้องเย็น คือ จำลองอุณหภูมิร้อนจัด หนาวจัด ของแคมป์ที่ทหารต้องฝังตัวอยู่เพื่อคอยรอหน้ากับข้าศึกด้วย

ตัวพิพิธภัณฑ์ (เฉพาะส่วนที่เป็นตัวตึก) น่าจะมีเนื้อที่เป็น 10 ไร่ ส่วนด้านนอกนี่ใหญ่จนจะเดินไม่ทั่วเอา มีหัวนิวเคลียร์จำลองตั้งเป็นแถบ เคียงกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

จบไปแล้วนะครับกับรีวิว
ทัวร์อิหร่าน Magical Palaces & Desert มีทั้งหมด 2 รอบ เดินทางทั้งสิ้น 8 วัน 6 คืน
*รอบที่ 1: วันที่ 12 – 19 เมษายน 2567 (ตรงกับช่วงวันสงกรานต์)
*รอบที่ 2: วันที่ 26 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2567 (ตรงกับช่วงวันแรงงาน)
.
หากท่านใดสนใจขอโปรแกรม สามารถติดต่อได้ทาง inbox หรือแอด LINE OA @thewildchronicles (พิมพ์ @ ด้านหน้า) และพิมพ์ว่า “สนใจทัวร์อิหร่าน” ได้เลยครับ พิเศษตอนนี้มีลดราคาอยู่ อย่าช้ารีบจองเลย!