ข่าวสารสงครามยูเครนในช่วงนี้มีข่าวหนึ่งที่คนให้ความสนใจกันพอสมควร นั่นคือ ข่าว “การประชุมสุดยอดผู้นำสันติภาพยูเครน” ที่มีกำหนดช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้ ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์

ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่านี่คือสัญญาณว่าเซเลนสกีเปลี่ยนใจมายอมเจรจาเพื่อยุติสงครามยูเครนเอง หรือชาติพันธมิตรตะวันตกอาจกำลังกดดันให้เซเลนสกีมาเจรจากับปูตินหรือเปล่า?

เพื่อตอบคำถามนี้เรามาดูเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาสันติภาพครั้งนี้กันในโพสต์นี้นะครับ

1. รัสเซีย-ยูเครนเป็นสองชาติที่มีความสัมพันธ์กันมึนตึงมานานแล้ว หลังจากปี 2014 มีการปฏิวัติโดยประชาชนยูเครนโค่นล้มประธานาธิบดียานูโควิชที่ฝักใฝ่รัสเซีย หลังจากนั้นปูตินได้ส่งทหารเข้ามาแทรกแซงในดอนบัสและผนวกไครเมีย

2. และต่อมาในปี 2022 ปูตินสั่งบุกยูเครนและรับรองรัฐอิสระในดอนบัสเป็นเอกราช ซึ่งหากยังจำกันได้ ตอนนั้นปูตินอ้างว่าจุดประสงค์ของสงครามคือเพื่อทำให้ยูเครนปลอดทหาร, “ขจัดความเป็นนาซี”, ยับยั้ง “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รัสเซีย” ในดอนบัส บวกกับให้ยูเครนเป็นกลางและนาโต้ต้องถอยกลับไปเป็นเหมือนก่อนปี 1997 ทำให้คนที่เห็นด้วยว่านาโต้เป็นพันธมิตรทางทหารที่ก้าวร้าวคล้อยตามปูตินกันไปเป็นอันมาก (อันที่จริงรอยเตอส์เคยรายงานด้วยว่าผู้ช่วยปูตินดีลกับยูเครนไม่ให้เข้าร่วมนาโต้ได้แล้ว แต่ปูตินก็ยังเลือกบุกอยู่ดี)

3. ในปี 2023 รัสเซียประกาศผนวกพื้นที่ 4 แคว้นของยูเครน หลังจากนั้นท่าทีของรัสเซียคือยูเครนจะต้องยอมสละสิทธิ์เหนือไครเมียและพื้นที่ 4 แคว้นนี้จึงจะยอมเจรจาด้วย (จริงๆ เคยมีสำนักข่าวรัสเซียลงภาพเคลมพื้นที่ยูเครนตะวันออกไปครึ่งประเทศด้วย แต่น่าจะไม่ใช่ท่าทีทางการ)

4. ส่วนทางด้านเซเลนสกีเองก็เคยเข็นแผนสันติภาพ 10 ข้อออกมาเช่นกัน มีเนื้อหาว่า:
1) ต้องให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชียปลอดภัย
2) ปกป้องการส่งออกอาหารจากยูเครน
3) ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของยูเครน
4) ปล่อยตัวเชลย และคืนตัวเด็กยูเครนที่ถูกลักพาตัวไปรัสเซีย
5) ฟื้นฟูชายแดนของยูเครนเป็นก่อนการผนวกไครเมีย
6) ถอนทหารรัสเซียออกจากยูเครนทั้งหมด
7) ดำเนินคดีต่ออาชญากรรมสงครามของรัสเซียในยูเครน
8) เยียวยาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำลายเขื่อนคาคอฟกา
9) รับประกันยูเครนจากการรุกรานในอนาคต
10) ให้มีการเจรจาสันติภาพแบบพหุภาคี

5. เซเลนสกีเคยแถลงว่าจะไม่ตกลงชะลอความขัดแย้งเพราะมองว่าการลงนามข้อตกลงกับรัสเซียก่อนหน้านี้รังแต่จะทำให้รัสเซียเหิมเกริมและยิ่งเสียดินแดนมากขึ้น เซเลนสกียังยืนยันว่าจะไม่เริ่มเจรจากับรัสเซียก่อนการถอนทหารออกไปทั้งหมด โดยมีการย้ำท่าทีดังกล่าวครั้งล่าสุดไปเมื่อเดือน ม.ค. 2024 ที่ผ่านมา

6. การเจรจาเพื่อยุติสงครามยูเครนนั้นมีมาตลอด อย่างในปี 2015 มีการเจรจาข้อตกลงกรุงมินสก์ 1 และ 2 เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนดอนบัส (ที่รัสเซียสนับสนุน) แต่ก็ล้มเหลวไป เพราะในขณะที่ยูเครนมีความยืดหยุ่นพร้อมปฏิบัติตามข้อตกลง แต่ฝ่ายรัสเซียยังยืนกรานข้อเรียกร้องของตัวเอง หรือในช่วงรัสเซียบุกยูเครนใหม่ๆ ก็พยายามเจรจากันอยู่หลายครั้ง แต่ไม่ได้ข้อสรุป

7. นอกจากการเจรจากันเองระหว่างรัสเซียกับยูเครนแล้ว ยังมีการจัดการประชุมนานาชาติขึ้นเพื่อหาทางออกให้กับสงคราม ซึ่งมีจัดขึ้นแล้ว 4 ครั้ง (ก่อนหน้าการประชุมครั้งนี้) และน่าสังเกตว่าแต่ละครั้งจะมีการเชิญประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมมากขึ้นเรื่อยๆ จากประมาณ 10 ประเทศ เป็น 40, 65, และ 85 ประเทศตามลำดับ

8. ส่วนการประชุมสุดยอดผู้นำที่เป็นข่าวนี้ กำหนดไว้วันที่ 15-16 มิ.ย. 2024 ณ รีสอร์ตเบอร์เกนสต็อก ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออภิปรายกันถึงเรื่องสันติภาพยูเครนในบริบทกฎหมายระหว่างประเทศ และเพื่อกระตุ้นกระบวนการสันติภาพ ทั้ง 160 ประเทศที่ได้รับเชิญจะได้โอกาสให้เสนอความคิดในการนำไปสู่สันติภาพและจะนำยูเครนกับรัสเซียมาร่วมกระบวนการด้วยในภายหลัง

9. กระทรวงการต่างประเทศของสวิสเซอร์แลนด์ยังมองว่าประเทศที่เข้าร่วมนั้นจะให้ความสนใจในเรื่องความมั่นคงนิวเคลียร์ เสรีภาพการเดินเรือและความปลอดภัยทางอาหาร และแง่มุมทางมนุษยธรรมมากที่สุด

10. มีข่าวออกมาแล้วว่ารัสเซียไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ โดย กต. สวิสเซอร์แลนด์ให้เหตุผลว่า รัสเซียเคยแสดงท่าทีไม่พร้อมเจรจาหลายครั้ง ซึ่งหากเปลี่ยนใจจริงๆ ก็จะเชิญ ขณะที่เซเลนสกีโพสต์เชิญชวนประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐและสีจิ้นผิงของจีนให้เข้าร่วมประชุม
…แต่ไบเดนติดรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ส่วนจีนออกแถลงมาโดยมีเงื่อนไขว่าจะเข้าร่วมหากเชิญรัสเซียมาด้วย ไม่อย่างนั้นประชุมไปก็เปล่าประโยชน์

11. มีการวิเคราะห์กันว่าสาเหตุที่ไม่ได้เชิญรัสเซียมาประชุมนั้น เป็นเพราะนี่เป็นการพูดคุยกับ Global South หรือเรียกได้ว่า “ประเทศโลกที่สาม” ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้เอาด้วยกับการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกต่างๆ สาเหตุอาจเป็นเพราะเคยขัดแย้งกับชาติตะวันตกต่างๆ มาก่อน หรืออาจได้ประโยชน์จากรัสเซียในทางใดทางหนึ่ง การเชิญชาติเหล่านี้มาประชุมจึงเป็นเหมือนการพูดคุยกับ “พันธมิตร” ของรัสเซีย ซึ่งหากดีลกันได้ก็จะเป็นการกดดันรัสเซียว่าชาติอื่นเลือกสันติภาพกันหมด

12. การจัดการประชุมครั้งนี้ของสวิสเซอร์แลนด์ยังส่งผลกระเพื่อมภายในไม่น้อย เพราะบางคนมองว่านี่จะเป็นการละทิ้งความเป็นกลางที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ปี 1815 แต่ฝ่ายสนับสนุนก็ตอบโต้ไปว่าผลประโยชน์ของสวิสเซอร์แลนด์ที่ได้จากชาติตะวันตกมีมากกว่าที่ได้จากรัสเซียอย่างมหาศาล หากคิดในมุมผลประโยชน์ยังไงก็ต้องเลือกฝั่งตะวันตกไว้ก่อน

13. ส่วน กต. สวิสยังออกแถลงการณ์ว่า “เป็นกลางไม่ใช่หมายถึงไม่แยแส สวิสเซอร์แลนด์ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างรุนแรง สิทธิความเป็นกลางไม่ได้ขัดขวางการยืนเคียงข้างและสนับสนุนยูเครนและประชาชนเลย”

14. ส่วนประเด็นที่ว่าเซเลนสกีจะยอมเจรจากับรัสเซียไม่ว่าโดยสมัครใจหรือถูกบังคับนั้น แม้ยังไม่มีสื่อต่างชาติออกมาวิเคราะห์มากนัก แต่เชื่อว่าตัวเขาเองเพิ่งจะได้รับงบสนับสนุนจากสหรัฐมาก้อนใหญ่ และสถานการณ์ในสมรภูมิพบว่ารัสเซียยังทำได้เพียงบั่นทอนกำลังของยูเครนไปเรื่อยๆ ยังไม่สามารถตีได้พื้นที่ใหญ่ๆ เหมือนช่วงต้นสงคราม จึงยังไม่มีเหตุผลที่เซเลนสกีจะต้องกลับลำยุติสงครามในเวลานี้ ถึงแม้บางคนจะชี้ถึงปัญหาที่ต้องออกกฎหมายระดมพลฉบับใหม่ออกมา แต่จริงๆ ส่วนใหญ่ต้องการหาคนมาสับเปลี่ยนทหารซึ่งรบที่แนวหน้ามานานแล้วมากกว่า

…เพราะฉะนั้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนจึงยังไม่ได้จะจบลงในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เซเลนสกียังไม่เปลี่ยนใจจากข้อเรียกร้องให้ชายแดนกลับไปเป็นก่อนปี 2014 ส่วนปูตินเองก็ยืนกรานว่าจะต้องยอมรับไครเมียและ 4 แคว้นที่ถูกรัสเซียผนวกไป และการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้ก็คงเป็นไปเพื่อ “ระดมความคิด” กันเสียมากกว่า

#TWCNews #TWCUkraine #TWC_Cheeze