ในช่วงนี้มีข่าวสารเกี่ยวกับสงครามในโลกเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหลายข่าว เป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายติดตามอย่างใกล้ชิดซึ่งอาจมีผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจโลกอย่างสำคัญ โพสต์นี้เราจะมาติดตามอัปเดตข่าวสารเหล่านี้กันครับ
_____________
🔴 *** กาซา: เนทันยาฮู-ฮามาสขึ้นหลังเสือทั้งคู่!? ***

สงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสในพื้นที่ฉนวนกาซาได้มาถึงเฟสชี้ชะตา สิ่งที่ทั่วโลกสนใจจับตาอย่างมากคือการบุกราฟาห์และดีลหยุดยิง (ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ผ่านมติออกมาแล้ว)

ราฟาห์เป็นเมืองตอนใต้สุดของฉนวนกาซาติดกับชายแดนอียิปต์ และอยู่ใกล้กับจุดผ่านแดนราฟาห์ซึ่งเป็นจุดเดียวที่ความช่วยเหลือจากต่างชาติจะเข้าสู่ฉนวนกาซาได้ทางบก หลังอิสราเอลประกาศปิดช่องทางอื่นๆ ส่วนบางประเทศ เช่น จอร์แดนหรือสหรัฐพยายามส่งความช่วยเหลือให้ทางอากาศและทางเรือเพื่อบรรเทาทุกข์ไปก่อน

เนทันยาฮูยืนกรานว่าเป้าหมายของอิสราเอลคือการปราบปรามฮามาสให้สิ้นซากเพราะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นานาชาติกังวลคือปฏิบัติการที่ “หนักมือ” ของอิสราเอล ไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพลเรือน โดยจนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตตามตัวเลขของฮามาสอยู่ที่ 34,000 คน (ตัวเลขนี้ไม่แบ่งนักรบฮามาสกับพลเรือน) อิสราเอลอ้างว่าเป็นเพราะฮามาสปฏิบัติการจากพื้นที่ชุมชน แต่ก็มีหลายกรณีที่อิสราเอลถล่มพื้นที่ที่ไม่มีฮามาสอยู่เลยเช่นกัน

อิสราเอลอ้างว่าได้มีมาตรการต่างๆ เช่น การประกาศพื้นที่ปลอดภัยและอพยพล่วงหน้าก่อนการบุก มีการเตือนก่อนระเบิดอาคาร หรือไม่ได้ปิดกั้นความช่วยเหลือจากต่างชาติ แต่ผลลัพธ์ที่เห็นคือทำให้ชาวบ้านปาเลสไตน์ต้องอพยพไปอยู่ในพื้นที่แออัด อย่างเมืองราฟาห์ก็มีผู้ลี้ภัยถึง 1.4 ล้านคนแล้ว รวมถึงบางพื้นที่ของฉนวนกาซาก็ได้เกิด “ภาวะอดอยาก” ขึ้นแล้วตามข้อมูลของสหประชาชาติ สิ่งนี้ทำให้หลายๆ ภาคส่วนที่เคยสนับสนุนและเห็นใจอิสราเอลในช่วงแรกเปลี่ยนมาสนับสนุนให้หยุดยิงแทน

สิ่งที่เนทันยาฮูจะต้องเผชิญคือแรงเสียดทานจากทั้งภายในและภายนอก นานาชาติไม่เห็นด้วยกับแนวทางสงครามของอิสราเอลอันนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ส่วนภายในคือแรงกระเพื่อมจากประชาชนอิสราเอลไม่น้อยที่อยากเห็นตัวประกันกลับมาอย่างปลอดภัยมากกว่า ส่วนความนิยมของเนทันยาฮูก็ตกต่ำลงมากจนเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายเขาน่าจะเด้งจากเก้าอี้ค่อนข้างแน่นอนจากการปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2023

ล่าสุดมีข่าวว่าฮามาสตอบรับข้อเสนอหยุดยิงที่อียิปต์กับกาตาร์เป็นคนกลางเจรจาให้ แต่อิสราเอลประกาศว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ตรงกับที่เคยเจรจาไว้และเป็นดีลที่ฮามาสแก้ไขเอง เช่น จะให้อิสราเอลถอนทหารออกทั้งหมดแลกกับการปล่อยตัวประกัน ส่วนอิสราเอลยืนยันว่าถึงจะเจรจาหยุดยิงได้ แต่เมื่อหมดเวลาแล้วก็จะเดินหน้ากำจัดฮามาสให้สิ้นซากอยู่ดี และมีการกล่าวหาว่าการที่ฮามาสออกมาประกาศรับดีลในช่วงนี้อาจเป็นไปเพื่อป้ายสีอิสราเอลว่าเป็นพวกบ้าสงคราม โดยอิสราเอลแจ้งว่าจะส่งตัวแทนมาเจรจาเพิ่มเติม

สำหรับฮามาสเองถึงแม้ว่าจะยังไม่ถูกกำจัดทั้งหมดและส่งคนไปในพื้นที่ที่ทหารอิสราเอลออกไปแล้วก็ตาม แต่อนาคตของพวกเขาเองก็ไม่ได้สดใส เพราะในช่วงที่มีการพูดคุยถึงอนาคตของฉนวนกาซาไม่ได้มีฮามาสอยู่ในสมการเลย บ้างเสนอให้องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์จากฝั่งเวสต์แบงก์มาปกครองกาซา บ้างเสนอให้นานาชาติเข้ามาบูรณะและบริหารจัดการฉนวนกาซานำโดยชาติอาหรับ ส่วนอิสราเอลเคยเปรยๆ ว่าอาจตั้งรัฐบาลหุ่นของตัวเองขึ้นปกครอง

…ด้วยเหตุนี้จึงเปรียบได้ว่าทั้งเนทันยาฮูกับฮามาสอยู่ในภาวะขึ้นหลังเสือแล้วทั้งคู่นั่นเอง!…
_____________
🔴 *** ยูเครน: ศึกวัดสายป่าน ***

สงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้าสู่เดือนที่ 27 แล้ว และหลังจากการรุกรบที่หวือหวาในปี 2022 หลังจากนั้นก็แทบกลายเป็น “สงครามสนามเพลาะ” เหมือนกับในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่แทบไม่ค่อยขยับอีกเลย

ข่าวใหญ่สุดเมื่อปี 2023 คือการยึดเมืองบักมุตตรงแนวรบด้านตะวันออกของรัสเซีย กับการพุ่งเป้าถล่มกองเรือทะเลดำของยูเครน …ส่วนการบุกโต้ตอบของยูเครนที่หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะได้พื้นที่กลับคืนมามากมายเหมือนกับปี 2022 ก็ต้องรอเก้อเพราะยูเครนได้พื้นที่กลับมานิดเดียว ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากการวางแนวป้องกันและสนามทุ่นระเบิดของฝ่ายรัสเซียอย่างกว้างขวาง ขณะที่ชาติตะวันตกก็ไม่ยอมเสริมเขี้ยวเล็บด้านกองทัพอากาศให้ยูเครนอย่างเพียงพอ หรือแม้แต่ยานเกราะกับยานเก็บกวาดทุ่นระเบิดก็ขาดแคลน ผลทำให้บุกไม่เข้า

สิ่งนี้เป็นการสะท้อนถึงแนวทางของชาติตะวันตกที่กล่าวได้ว่า “เลี้ยงไข้” ความขัดแย้งยูเครนไม่ให้ปิดเกมได้โดยง่าย คือกล่าวได้ว่าการปล่อยให้รัสเซียตกอยู่ในสภาวะกลืนยูเครนไม่ลงไปยาวๆ นี้จะเป็นผลดีที่สุด แต่ยูเครนก็จะไม่สามารถขับไล่รัสเซียออกจากพื้นที่ของตัวเองได้เช่นกัน

ในปี 2024 เหตุการณ์สำคัญล่าสุดคือการพิชิตเมืองอัฟดิฟกา (Avdiivka) ทางแนวรบตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เป็นเมืองสำคัญต่อสถานการณ์สงครามโดยรวมมากนัก ตอนนี้นักวิเคราะห์กำลังพยายามอ่านเกมว่ารัสเซียอาจกำลังบุกตีไปทางคาร์คิฟหรือคาร์กิว (Kharkiv) ทางตะวันออกเฉียงเหนือและยูเครนได้เตรียมการป้องกันไว้แล้ว

สถานการณ์ในขณะนี้รัสเซียดูเหมือนเป็นฝ่ายบุกตีมากกว่า ถึงแม้จะได้พื้นที่ไม่มากนัก แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการเป็นฝ่ายบุกของยูเครนที่ตกต่ำลง สถานการณ์นี้ทำให้มีการเรียกร้องไปยังชาติตะวันตกให้สนับสนุนยูเครนเพิ่ม

เมื่อไม่นานนี้สหรัฐได้ออกกฎหมายสนับสนุนอาวุธต่อยูเครนออกมาแล้ว หลังจาก ส.ส. พรรครีพับลิกันถ่วงเวลามาหลายเดือน …เหตุการณ์นี้ทำให้ความช่วยเหลือของสหรัฐที่เป็นผู้สนับสนุนยูเครนรายใหญ่สุดดูไม่ค่อยแน่นอน และในเดือน พ.ย. ที่จะมีการเลือกตั้งนี้ หากพรรครีพับลิกันชนะ นโยบายอาจเปลี่ยนมาเป็นไม่สนับสนุนยูเครนเพิ่มเติมก็ได้

ฝั่งประชาชนยูเครนกำลังมีการถกเถียงกันอย่างหนักถึงกฎหมายเกณฑ์ทหารฉบับใหม่ โดยมีการลดอายุเกณฑ์ทหารลงและไม่มีข้อกำหนดในการสับเปลี่ยนกำลังพลที่แนวหน้า จึงทำให้ประชาชนไม่เห็นด้วยพอสมควร …นี่เป็นสัญญาณหนึ่งว่ายูเครนอาจกำลังขาดแคลนกำลังพลอย่างหนัก

ขณะที่ฝั่งรัสเซียเองที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาหมาดๆ โดยปูตินให้คำมั่นว่าจะปกป้องอธิปไตยของประเทศ และต้องการสถาปนารัฐกันชนกับยูเครนเพื่อป้องกันการโจมตีข้ามชายแดน ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2018 ปูตินสัญญาว่าจะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ด้านนักวิเคราะห์มองว่าหลังการเลือกตั้งปูตินอาจกล้าดำเนินนโยบายที่คนไม่ชอบมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีและการเกณฑ์ทหาร

สำหรับเศรษฐกิจรัสเซียมีตัวเลขว่าโตประมาณ 3% เมื่อปี 2023 และรายได้จากทรัพยากรยังดูดีอยู่ จนดูเหมือนการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกจะไม่มีผล แต่ก็มีนักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าที่เศรษฐกิจรัสเซียโตนั้นเป็นเพราะการอัดฉีดเงินอย่างหนัก จนตอนนี้เงินเฟ้ออยู่ที่ 7-8% (ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 16% เพื่อพยายามกดเงินเฟ้อ), งบประมาณทหารอยู่ที่ราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด จนถูกขนานนามว่านี่เป็นตัวอย่างของ “เคนส์ยามสงคราม” คล้ายๆ กับการสร้างเสริมกองทัพของนาซีเยอรมนีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแก๊สพรอมนั้นขาดทุนเป็นปีแรกในรอบกว่า 20 ปี

เพราะฉะนั้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนจึงได้กลายมาเป็นการวัดว่าใครสามารถทำสงครามระยะยาวได้มากกว่ากัน ระหว่างยูเครนที่มีพันธมิตรซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ กับรัสเซียที่รากฐานกำลังเซาะกร่อนลงไปเรื่อยๆ!
_____________
🔴 *** พม่า: จุดพลิกผันในประวัติศาสตร์ และเครื่องพิสูจน์ฝีมือการทูตไทย ***

ความขัดแย้งภายในของพม่าที่เกิดจากปัญหาด้านเชื้อชาตินั้นดำเนินมาหลายสิบปีนับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชใหม่ๆ แล้ว โดยชนกลุ่มน้อยต่างๆ ไม่ยินยอมกับแนวทางของกองทัพพม่าที่เชิดชูพม่าเป็นใหญ่และกดขี่ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ และได้ต่อสู้มาหลายสิบปี มาหยุดพักรบช่วงสั้นๆ ในยุครัฐบาลอองซานซูจี แต่ก็กลับมารบกันใหม่หลังรัฐประหารปี 2021 นำโดยมินอ่องหล่าย

สงครามกลางเมืองนี้ดำเนินมาได้ 2 ปี โดยที่ฝ่ายกองทัพพม่ายังดูได้เปรียบไม่ต่างจากเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงเมื่อปลายปี 2023 ชนกลุ่มน้อยหลายๆ กลุ่มสบช่องบุกตีกองทัพพม่าในเวลาไล่เลี่ยกันจึงได้พื้นที่เพิ่มมาเป็นอันมาก ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากทางการจีนไม่พอใจรัฐบาลทหารพม่าที่ละเลยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ที่มีคนจีนตกเป็นเหยื่อ จึงปล่อยให้ชนกลุ่มน้อยบุกตีพื้นที่เพิ่มแล้วจัดการกับปัญหานี้แทน

จนถึงปัจจุบันฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ายึดได้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ติดชายแดนไทยไปแล้ว ทั้งในรัฐฉาน รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยงและรัฐตะนาวศรี และก่อนหน้านี้ช่วงสั้นๆ มีข่าวว่ายึดเมืองเมียวดีติดชายแดนตะวันตกของไทยไปได้ แต่ต่อมาทหารกะเหรี่ยงถอนกำลังออกไป ซึงในเรื่องนี้ อ. สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการเกี๊ยะเซี๊ยะกันระหว่าง BGF กะเหรี่ยงกับกองทัพพม่าทำให้มีการเปลี่ยนมือกันโดยไม่เสียเลือดเนื้อ และทั้งหมดล้วนมีเอี่ยวกับกลุ่มทุนอาชญากรรมที่มาตั้งคาสิโนที่นั่น

ส่วนสถานการณ์ฝั่งรัฐบาลทหารพม่านั้นประเมินค่อนข้างยาก โดยมีตัวเลขประมาณการออกมาว่าตอนนี้รัฐบาลทหารพม่าเหลือพื้นที่ควบคุมประมาณ 40% ของประเทศเท่านั้น (และเหลือพื้นที่ที่มีเสถียรภาพเพียง 17%) ส่วนจำนวนทหารนั้นตัวเลขทางการอยู่ที่ 4 แสน แต่จริงๆ อาจเหลือเพียง 7 หมื่นเพราะประชาชนพม่าก็ไม่เอาด้วยแล้ว …เราจึงได้เห็นฝั่งกองทัพพม่าใช้การระดมยิงปืนใหญ่หรือการทิ้งระเบิดทางอากาศมากขึ้น ลักษณะเดียวกับ scorthed earth หรือการทำลายล้างพื้นที่ไม่ให้ข้าศึกได้ใช้ประโยชน์นั่นเอง

ในช่วงที่สถานการณ์พลิกผันขนาดนี้ ได้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมามากมายว่าอนาคตของพม่าจะเป็นอย่างไร? จะมีโอกาสแตกเป็นเสี่ยงๆ หรือไม่? ซึ่งโอกาสก็อาจออกมาได้ทั้ง 2 หน้า ทั้งยังรวมเป็นประเทศเดียวกัน แต่ต้องให้สิทธิ์ปกครองตนเองแก่ชนกลุ่มน้อยมากแบบสหพันธรัฐหรือสมาพันธรัฐ กับแบบที่ประเทศแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แบบยูโกสลาเวีย แต่แบบหลังมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าโดยดูจากสงครามกลางเมืองซีเรีย …จนถึงปัจจุบันมีชนกลุ่มน้อยที่ประกาศตัวปกครองตนเองแล้ว 2 กลุ่ม คือ “ชีนแลนด์” (Chinland) และล่าสุดคือ สภาบริหารชั่วคราวรัฐคะเรนนี (Karenni State Interim Executive Council) แต่ไม่ได้ประกาศแยกประเทศ

สำหรับไทยที่มีพรมแดนติดต่อกับพม่ากว่าพันกิโลเมตร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลกระทบกับไทย และที่ผ่านมาทางการไทยยังคงดำเนินนโยบายรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า และยังคงรักษาการค้าการลงทุนในพม่าต่อไป แม้อาจต้องแลกกับความสัมพันธ์บางอย่างกับชาติตะวันตก (เทียบกับสิงคโปร์ อินโด หรือแม้แต่เวียดนามที่โหวตลงโทษรัฐบาลทหารพม่าในเวทีสหประชาชาติ)

เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้แล้วทำให้เริ่มมีการเรียกร้องให้ทางการหันมาสานสัมพันธ์กับฝ่ายต่อต้านมากกว่านี้ อย่างบทความในสำนักข่าวชายขอบที่วิจารณ์ทางการไทยว่าการไม่สานสัมพันธ์กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยทำให้เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวไทยที่ติดค้างอยู่ในเล่าก์ก่ายต้องหนีออกมากันเอง รวมถึงการปล่อยปละละเลยโอกาสในการกำจัดเครือข่ายอาชญากรรมอย่างชเวก๊กโกและเคเคปาร์คในช่วงที่ทหารพม่าเสียเมียวดีไปด้วย (เทียบกับทางการจีนที่ส่งเครื่องบินมารับเหยื่อชาวจีนถึงที่เมียวดีโดยประสานงานกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย)

และล่าสุดมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพม่าที่น่าสนใจ เริ่มจากข่าวการสัมภาษณ์ รมว. ต่างประเทศคนใหม่ ซึ่งตอบคำถามว่า “ปัจจุบันรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายรัฐกันชนแล้วใช่หรือไม่” นายมาริษ กล่าวว่า “เดี๋ยวขอกลับไปคุยในรายละเอียดก่อน” (แปลว่าจริงๆ อาจจะมีหรือเปล่า?) และอีกข่าวหนึ่งคืออดีตนายกฯ ทักษิณที่มีตัวแทนชนกลุ่มน้อยและ NUG (ฝ่ายอองซานซูจี) เข้าพบเพื่อให้มาเป็นคนกลางการเจรจากับรัฐบาลทหารพม่า แต่ยังต้องรอท่าทีจากรัฐบาลทหารพม่าก่อน

และนี่คือความเคลื่อนไหวล่าสุดจากสงครามกลางเมืองพม่า ซึ่งอาจเป็นจุดพลิกผันในประวัติศาสตร์เพราะกองทัพพม่าไม่เคยเพลี่ยงพล้ำมากขนาดนี้มาก่อน และอาจเห็นกองทัพพม่าแพ้ขึ้นมาจริงๆ! ส่วนฝ่ายไทยเองก็ต้องหาทางรับมือกับสถานการณ์ให้สมกับฝีมือการทูตไทยอันลือลั่น แต่เท่าที่ผ่านมาทางการไทยยังคงถูกครหาอยู่เรื่อยๆ ว่าคบหากับกองทัพพม่าเพราะสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับชนชั้นนำของไทย ไม่ได้เกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติเลย!

#TWCNews #TWC_Cheeze