หากเอ่ยถึงมัสยิดทั่วไปในอิหร่าน ภาพอันเจนตาที่ขาดเสียไม่ได้คงหนีไม่พ้นรูปทรงโดมที่ตั้งอยู่ตระหง่านอยู่ไม่ไกลจากหอคอยสุเหร่าของมัสยิด
ทว่า “มัสยิดวาคิล” (Vakil Mosque) ในเมืองชีราซ ประเทศอิหร่าน กลับไม่เป็นเช่นนั้น
การไม่ปรากฏอาคารทรงโดมของมัสยิดวาคิล ไม่เพียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอันน่าสนใจของสิ่งก่อสร้างทางศาสนาในสมัยราชวงศ์แซนด์ (Zand Dynasty) แห่งนี้เท่านั้น หากแต่ยังเป็นอาคารสำคัญเพียงแห่งเดียวที่สร้างขึ้นปลายศตวรรษที่ 18 แม้จะผ่านการบูรณะมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นมัสยิดที่เห็นเช่นทุกวันนี้
คำว่า วาคิล (Vakil) แปลว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นชื่อที่กษัตริย์คาริม ข่าน (Karim Khan) ผู้สร้างมัสยิดแห่งนี้ นิยมใช้แทนตัวพระองค์มากกว่าคำว่า ชาฮันชาห์ (Shahansha) ที่แปลว่า จอมกษัตริย์เหนือกษัตริย์ เฉกเช่นกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ
มัสยิดวาคิล เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างใจกลางเมืองแห่งใหม่ของกษัตริย์คาริม ข่าน ผู้ทรงเลือกให้เมืองชีราซ (Shiraz) เป็นเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิเปอร์เซียในยุคสมัยของพระองค์ อันเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองและอาคารอันล้ำค่ามากมายเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้
ความสมบูรณ์แบบของมัสยิดวาคิล จึงปรากฏให้เห็นเด่นชัดทั้งรูปแบบแผนผังและความหรูหราทางสถาปัตยกรรมแห่งยุคสมัยอย่างการประดับด้วยกระเบื้องเจ็ดสี (Shirazi Haft Rangi) ที่เป็นงานศิลป์เฉพาะสมัยราชวงศ์แซนด์ แต่ถึงกระนั้น มัสยิดวาคิลก็ยังมีข้อแตกต่างจากมัสยิดส่วนใหญ่ในอิหร่านอีก เช่น กรอบซุ้มประตูอีวาน (Iwan) ที่มีเพียงแค่ทิศเหนือและทิศใต้ ต่างจากปกติที่นิยมสร้างทั้ง 4 ด้าน และการริเริ่มตกแต่งอาคารทางศาสนาที่มีความเป็นฆราวาสมากกว่าขึ้น อันเห็นได้จากการบรรจุลวดลายช่อดอกไม้และสีสันสดใสที่แต่เดิมมักถูกใช้ในงานเครื่องปั้นดินเผาเท่านั้น
กล่าวกันว่า กษัตริย์คาริม ข่านตั้งใจสร้างมัสยิดแห่งนี้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเห็นได้จากเมื่อเดินผ่านประตูทางเข้าก็จะพบกับลานกว้างใหญ่ที่ถูกปกคลุมด้วยแผ่นหิน ที่มีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง นั่นก็เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำที่จำเป็นสำหรับประชาชนทั่วไปที่มาละหมาด ไปจนถึงขนาดของห้องโถงละหมาด (Shabestan) ที่มีพื้นที่กว้างขวางสำหรับให้ประชาชนสามารถประกอบศาสนกิจและสวดมนต์ภาวนาได้เพียงพอ
โถงละหมาดหลักของมัสยิดวาคิล ยังเป็นอีกหนึ่งความพิเศษที่ดึงดูดให้เหล่านักท่องเที่ยวพากันเข้ามาชื่นชมอยู่เสมอ เนื่องจากโครงสร้างภายในอาคารที่มีเสาหินอ่อนสูงใหญ่จำนวน 48 ต้น เชื่อมติดกับเพดานด้านบนผ่านงานอิฐโค้ง โดยเสาแต่ละต้นจะถูกแกะสลักเป็นเพลาเกลียวไต่ไปจนถึงหัวเสาที่ประดับเป็นลายใบอะแคนทัส (Acanthus) ซึ่งเสาสูง 5 เมตรเหล่านี้ทำมาจากหินอ่อนที่ส่งตรงมาไกลจากเมืองยาซด์และประเทศอาเซอร์ไบจานเลยทีเดียว
นอกจากนี้ แท่นธรรมาสน์สูง (Minbar) หินอ่อนที่มีบันได 14 ขั้นทอดไปสู่บัลลังก์ด้านบน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจภายในห้องโถงละหมาดแห่งนี้ โดยจำนวนขั้นบันไดอิงมาจากจำนวนผู้บริสุทธิ์ทั้งสิบสี่ (The Fourteen Infallibles) ลำดับต้นอันเป็นบุคคลสำคัญของนิกายชีอะห์ (Shia)
เชื่อกันว่า ธรรมาสน์นี้ถูกสร้างขึ้นจากหินอ่อนขนาดใหญ่เพียงก้อนเดียวที่ส่งมาจากเมืองมากาเรห์ โดยมีราคาสูงมากเสียจนกษัตริย์คาริม ข่านยังเคยตรัสติดตลกไว้ว่า “ธรรมาสน์ตัวนี้มีราคาสูงยิ่งกว่าทำมาจากทองคำบริสุทธิ์เสียอีก” ทั้งนี้ การใช้หินอ่อนอย่างฟุ่มเฟือยเช่นนี้ ออกจะเป็นธรรมเนียมที่ผิดแผกไปจากมัสยิดอื่นๆ ของอิหร่านในสมัยราชวงศ์แซนด์ ที่นิยมใช้หินเพียงเล็กน้อยและใช้สำหรับการตกแต่งเท่านั้น
สายสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์คาริม ข่านกับประชาชนผ่านเรื่องราวของมัสยิดวาคิล ยังถูกเล่าขานกันต่อว่า ในระหว่างการก่อสร้าง พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้คนเสมอ ดังเช่น เมื่อครั้งทรงเชิญเหล่านักดนตรีมาบรรเลงบทเพลง เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้บรรดาเหล่าคนงานได้มีแรงใจสร้างมัสยิดให้สำเร็จไวขึ้น หรือยามที่ทรงสนับสนุนให้คนงานสร้างห้องสุขาให้ดีที่สุด โดยพระองค์เคยตรัสไว้ว่า “หากพระผู้เป็นเจ้าประสงค์จะประทานพรให้แก่ฉัน นั่นเป็นเพราะบริการนี้ หาใช่มัสยิดไม่ เพราะผู้คนล้วนต้องการมันมากกว่านี้”
ไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใด มัสยิดไร้โดมนาม “วาคิล” จึงยังคงเอื้อมถึงจิตใจของผู้คนได้เฉกเช่นคำเรียกแทนพระองค์ที่มิได้ปรารถนาวางสถานะตนเยี่ยงจอมกษัตริย์ แม้ว่าแท้จริงแล้ว ที่มาของคำนี้อาจจจะแฝงด้วยเป้าประสงค์ทางการเมืองของกษัตริย์นามคาริม ข่านอยู่หรือไม่ก็ตาม
#TWCIranClassic
0 Comment