หลายท่านน่าจะคุ้นเคยกับสำนวน “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” ดีอยู่แล้วนะครับ สำนวนนี้มีใจความว่าการเลี้ยงดูบุตรหลานของพ่อแม่อาจต้องมีการ “ลงไม้ลงมือ” กันบ้างเพื่อเป็นการสั่งสอนให้ได้ดี เช่นเดียวกับครูบาอาจารย์ที่มีประโยคประมาณว่า “ได้ดีเพราะไม้เรียว” ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกันในบริบทการอบรมสั่งสอนศิษย์ของครูบาอาจารย์
ดังนั้นหลังเกิดกระแสเรียกร้องไม่ให้พ่อแม่ลงไม้ลงมือกับลูก และไม่ให้ครูบาอาจารย์ลงไม้ลงมือกับศิษย์ (จนกลายเป็นกฎหมายในหลายพื้นที่ของโลก) และหันไปใช้วิธีการอื่นแทน หลายคนจึงมองว่าเด็กสมัยนี้ “เสียคน” กันมากขึ้นเพราะขาดการลงโทษแบบที่ผ่านๆ มาหรือไม่
ในโพสต์นี้เราจะมาดูข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกและอบรมศิษย์ด้วยการลงโทษทางร่างกายและวาจา ประสิทธิภาพและกระแสที่นำมาสู่การบังคับห้ามลงโทษทำนองนี้ในปัจจุบันกันครับ
_______________
🔴 *** ประวัติศาสตร์ของ “ความหวังดี” ***
1. เมื่อพูดถึงการทำโทษเด็กด้วยการตี เรื่องนี้นับว่ามีมาหลายพันปีแล้ว โดยในคัมภีร์สำนวนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทานัคและไบเบิลได้กล่าวว่า “คนที่สงวนไม้เรียวก็เกลียดบุตรชายของตน แต่คนที่รักเขาย่อมหมั่นตีสอนเขา” (Whoever spares the rod hates his son, but he who loves him is diligent to discipline him) นี่เป็นหลักฐานแรกๆ ที่สนับสนุนการลงโทษทางร่างกายเพื่อเป็นการสั่งสอนโดยให้เหตุผลว่าเพราะรักไม่อยากให้เสียคน
2. การลงโทษทางร่างกายเริ่มปรากฏตั้งแต่ยุคโบราณในอียิปต์ จีน กรีซและโรม โดยพบใช้เป็นบทลงโทษสำหรับอาชญากร เช่น การเฆี่ยนตี ส่วนรายละเอียดของการใช้การลงโทษทางกายกับเด็กนั้นยังไม่ชัดเจน มีนักวิชาการระบุว่า การละเมิดเด็กมีอยู่ตลอดมาในประวัติศาสตร์และมีอยู่ “โดยเจตนา” นอกจากนี้สมัยก่อนยังไม่มีการแบ่งแยกเด็กกับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นการลงโทษเด็กจึงใช้วิธีไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่
3. ต่อมาการลงโทษลักษณะนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับคริสตจักรคาทอลิกและมีการใช้ในสถานศึกษา โดยนักบุญเบเนดิกต์มองว่าบทลงโทษที่สาหัสที่สุดในศาสนาคือการตัดขาดจากศาสนา (excommunication) แต่ผู้เยาว์อาจไม่เข้าใจถึงความร้ายแรงของบทลงโทษนี้จึงเลือกใช้วิธีให้ “อดอาหารอย่างรุนแรง” และการเฆี่ยนตี (sharp stripes) เพื่อเป็น “การรักษา” และแนวทางนี้ได้พบใช้ในคริสตจักรอย่างแพร่หลาย
4. ในช่วงศตวรรษที่ 9-16 วิธีการลงโทษเด็กที่ใช้บ่อยคือ การไม่เหลียวแล การละเมิดและการทอดทิ้ง และมุมมองของพ่อแม่ที่มีต่อลูกในสมัยนั้นเน้นให้ความสำคัญกับระเบียบวินัยและการลงโทษทางกาย นอกจากนี้ยังมีการทุบตี ขายทิ้งหรือแม้แต่สังหารเด็กทารก (infanticide)
5. ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 16-17 เป็นช่วงที่พ่อแม่หันมาใส่ใจ “ศีลธรรมและการเรียนรู้วิชาการของเด็ก” มากขึ้น จึงทำให้เกิดการลงโทษอย่างทารุณมากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ทำลายเจตจำนงของเด็ก” (break the will of the child) เพราะมองว่าเด็กที่มีเจตจำนงหรือความคิดของตัวเองจะดื้อรั้นและไม่เชื่อฟัง กล่าวได้ว่าการลงโทษเด็กในสมัยนั้นมีเพื่อเหตุผลนี้เป็นหลักเลยทีเดียว
6. การเฆี่ยนตีเด็กเริ่มเสื่อมความนิยมลงในช่วงราวปี 1750 แต่ก็หันไปใช้วิธีการอื่นๆ ในการ “ทำลายเจตจำนงของเด็ก” อื่นๆ เช่น การทำให้อับอาย ซึ่งอาจเป็นวิธีการหลักของการเลี้ยงดูลูกของชาวพิวริตันหรือชาวอาณานิคมอเมริกายุคแรกๆ
7. ในช่วงเดียวกันยังอาจเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่พ่อแม่หันมาใส่ใจลูกของตัวเองมากขึ้น แต่ยังเน้นการควบคุมใกล้ชิดอยู่เพียงแต่เปลี่ยนจากทางกายมาเป็นทางจิตใจเป็นหลัก หรือในคำพูดของนักวิชาการชื่อ Stone คือ การเปลี่ยนผ่านจาก “ความเหินห่าง การแบ่งแยกและระบบพ่อปกครองลูก” มาเป็น “ปัจเจกนิยมที่มีอารมณ์ความรู้สึก”
8. Stone ยังนิยามการเลี้ยงลูกของคนในยุคนั้นแบ่งตามชนชั้นได้ดังนี้
– ขุนนางชั้นสูงในราชสำนัก: เลี้ยงแบบละเลย โดยยกหน้าที่ให้กับแม่นมและครู
– ชนชั้นสูง: ใส่ใจลูกแต่ยังเชื่อในการลงโทษทางกาย
– วิชาชีพและชนชั้นเจ้าของที่ดิน: เลี้ยงลูกแบบค่อนข้างปล่อยและให้ความรัก
– พิวริตัน ชนชั้นกลางที่ไม่ยึดขนบ และช่างฝีมือชั้นสูง: มีความห่วงกังวลและรักลูก และใช้วิธีสวดภาวนา ปลูกฝังจริยธรรมและการสาปแช่งแทนการตี
– ช่างฝีมือระดับล่าง: ต้องการให้ลูกได้รับการศึกษาดี แต่ยังปฏิบัติต่อลูกอย่างทารุณ
– คนยากจน: ป่าเถื่อน ฉวยโอกาสจากลูกและไม่ใส่ใจ
9. นักวิชาการชื่อ De Mause สรุปวิธีการเลี้ยงลูกโดยทั่วไปไว้ 5 โหมด เริ่มต้นจาก
– โหมดสังหารทารก (infanticide) ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงศตวรรษที่ 4
– โหมดทอดทิ้ง (abandonment) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 5-13
– โหมดลังเล อึนๆ (ambivalent) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14-17 (เป็นยุคที่เริ่มมีคอนเซปต์เรื่องเด็ก)
– โหมดก้าวก่าย (intrusive) ศตวรรษที่ 18 (เป็นยุคที่การลงโทษทางกายสูงสุด)
– โหมดคบหา (socializing) หลังจากศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา
10. ซึ่งโหมดคบหานี้เป็นการมุ่งเน้นว่าเด็กจำเป็นต้องได้รับการฝึก ชี้นำและสอนให้เข้ากับบรรทัดฐานและค่านิยมของครอบครัวและสังคม เปลี่ยนจากการทำโทษ ตีและดุด่าว่ากล่าวมาเป็นการตอบสนองต่อเด็กแทน (จริงๆ ยุคนี้คนก็ยังลงโทษเด็กอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ทำเป็นประจำเหมือนเมื่อก่อน) และความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกยังเป็นทางการน้อยลงด้วย
11. อย่างไรก็ตามในยุคศตวรรษที่ 20 การลงโทษทางกายต่อเด็กยังคงถือเป็นบรรทัดฐานที่สังคมยอมรับอยู่ไม่น้อย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการถูกกลบด้วยปัญหาอื่นๆ เช่น สงคราม วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นต้น รวมถึงสื่อทั้งสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์หรือแม้แต่มุกตลกที่ยังแสดงภาพการลงโทษทางกายต่อเด็กเป็นเรื่องปกติ
12. ในปี 2006 มีรายงานของสหประชาชาติระบุว่า ยังมีเด็กที่ได้รับการถูกลงโทษทางกาย ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ประกอบด้วยการถูกตีไม่ว่าด้วยมือหรืออุปกรณ์อย่างแส้ ไม้ รองเท้า ช้อน มีการเตะ จับเขย่า โยน ข่วน หยิก กัด ดึงผม บิดหู บังคับให้เด็กอยู่ในท่าที่ไม่สบายตัว นาบของร้อน ลวกด้วยน้ำร้อน หรือบังคับกิน (เช่นใช้สบู่ล้างปากหรือบังคับกินเครื่องเทศเผ็ดๆ)
_______________
🔴 *** การต่อต้าน “ความหวังดี” ***
13. อย่างที่กล่าวไปว่าการลงโทษทางกายต่อเด็กทั้งในบ้านและสถานศึกษาเกิดขึ้นมาตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์ แต่ก็มีนักปรัชญาและนักคิดออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการลงโทษทำนองนี้อยู่เรื่อยๆ เริ่มต้นจากพลูตาร์ค นักปรัชญาชาวกรีกในยุคศตวรรษที่ 1 ที่ระบุว่า “เด็กควรได้รับการชี้นำสู่การปฏิบัติอันทรงเกียรติโดยให้กำลังใจและใช้เหตุผล และแน่นอนว่าจะต้องไม่ใช้การตีหรือการทำทารุณ เพราะแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เหมาะกับทาสมากกว่าเสรีชน”
14. หรือในยุคกลางก็มีนักบุญที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของนักบุญเบเนดิกต์ โดยนักบุญแอนเซล์มแห่งเคนเทอร์เบอร์รีที่อธิบายว่า อย่าใช้วิธีฝึกสัตว์ให้เชื่องกับคน แต่ให้ดูแลคนเหมือนกับชาวสวนดูแลต้นไม้ เด็กที่ถูกขู่ทำร้ายและทุบตีอย่างต่อเนื่องโตขึ้นมาจะไม่เห็นความสวยงามของโลกและจะเต็มไปด้วยความเกลียดชัง
15. ในสมัยใหม่มีนักคิดอย่างจอห์น ล็อกซึ่งมีข้อเขียนในปี 1693 บอกว่า ควรฝึกเด็กด้วยความภาคภูมิใจและความอัปยศมากกว่าการให้รางวัลและการลงโทษ โดยให้เหตุผลว่าเด็กที่ฝึกมาด้วยรางวัลและการลงโทษจะกลายเป็นพวกใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล นอกจากนี้ “คนที่ผ่านการฝึกแบบทาสก็จะมีอารมณ์แบบทาสด้วย”
16. การรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องการลงโทษทางกายต่อเด็กยังมีมาอยู่เรื่อยๆ จนในยุคปัจจุบันหลายๆ ประเทศจะทยอยออกกฎหมายบังคับห้ามตีเด็กเริ่มตั้งแต่สวีเดนในปี 1979 จนในปี 2021 มีประเทศที่ห้ามลงโทษทางกายต่อเด็ก 63 ประเทศ (แต่จริงๆ การออกกฎหมายบังคับห้ามตีเด็กเกิดขึ้นครั้งแรกในโปแลนด์ในปี 1783 เลยทีเดียว)
_______________
🔴 *** งานวิจัยเกี่ยวกับ “ความหวังดี” ***
17. ว่าแต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำไมการลงโทษทางกายต่อเด็กจึงไม่ดี? งานวิจัยของ Joan Durrant และ Ron Ensom (2012) ที่ศึกษาเรื่องการลงโทษทางกายต่อเด็กได้สรุปงานศึกษาในรอบ 20 ปีว่า ทุกการศึกษาพบว่าการลงโทษทางกายเพิ่มความเสี่ยงต่อผลลัพธ์การเจริญเชิงลบอย่างกว้างขวางและอยู่นาน และไม่ได้ช่วยพัฒนาสุขภาพในการเจริญเลย นอกจากนี้การละเมิดต่อเด็กหลายๆ ครั้งเกิดขึ้นในบริบทของการ “ลงโทษ”
18. การศึกษาของ Elizabeth Gershoff ในปี 2010 สรุปว่า การลงโทษทางกายต่อเด็กไม่ได้ทำให้เด็กเชื่อฟังมากไปกว่าวิธีการลงโทษอื่นๆ แต่กลับมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะยาว อาจส่งผลต่อสุขภาพจิต, ลดความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่, ทำให้ฉลาด (ไอคิว) น้อยลง, รวมไปถึงเพิ่มพฤติกรรมก้าวร้าวกับการต่อต้านสังคมเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
19. นอกจากนี้การดุด่าอย่างรุนแรงก็ไม่ใช่การลงโทษที่ควรทำเช่นกัน ตามคอนเซปต์ “การละเมิดทางวาจา” (verbal abuse) เพราะถึงแม้พ่อแม่จะเป็นคนอบอุ่นและรักลูก แต่คำพูดที่รุนแรงก็สามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและปัญหาสุขภาพจิตซึ่งรวมถึงโรคซึมเศร้าได้ด้วย
20. มาถึงตรงนี้แล้วก็อาจมีคนคิดขึ้นว่า อ้าว แบบนี้จะไม่ให้ลงโทษ ปล่อยให้เด็กเสียคนเท่านั้นหรือ? ใจเย็นก่อนครับ เพราะการลงโทษเด็กมีอยู่หลายวิธีที่ดีกว่าการลงโทษทางกาย เช่น การแสดงให้ดูเป็นตัวอย่าง, การให้รางวัลและคำชม, ต้องมีเวลาสนใจลูก, การวางกฎและแสดงให้เห็นถึงผลของการกระทำนั้น ที่สำคัญคือกฎจะต้องมีความชัดเจนและไม่หยวนๆ ให้ และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กจะต้องปฏิบัติไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่พ่อแม่ไม่อนุญาต แต่ปู่ย่าตายายกลับยอมให้แทน
_______________
🔴 *** “หวังดี” ให้ถูกทาง ***
21. สำหรับประเทศไทย คนจำนวนไม่น้อยยังมองว่าการลงโทษลักษณะนี้ยังเป็นเรื่องยอมรับได้ โดยการสำรวจในปี 2019 พบว่าตัวอย่างพ่อแม่ 58% ยังเชื่อว่าการตีลูกเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ โดยมาจากฐานคิดที่ว่าตัวเองก็โตมาจากการถูกตีและมา “ได้ดี” ในทุกวันนี้ …โดยลืมไปว่ามีคนอีกไม่น้อยที่โตมาแบบเดียวกันแล้วกลายเป็นเสียคน
22. มีอีกหลายเหตุผลที่การลงโทษทางกายต่อเด็กยังคงอยู่ ในสมัยก่อนพ่อแม่มีลูกหลายคน และพวกเขาเลือกใช้วิธีการตีลูกเพราะไม่มีเวลามาอธิบาย หรือแม้แต่สมัยใหม่ที่พ่อแม่บางส่วนยังถือตัวว่าลูกยังอยู่ใต้ชายคาเดียวกันและยังต้องพึ่งพาทางการเงินย่อมมีสิทธิ์ควบคุมลงโทษลูก แต่นั่นจะยิ่งทำให้เด็กมีพฤติกรรมอย่างเช่นทุบตีคนอื่นหรือสัตว์ต่อ หรือโกหกเพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้ถูกตี
23. หรือแม้แต่ในโรงเรียนที่มีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ถึงการลงโทษที่หลายฝ่ายมองว่าทารุณเกินกว่าเหตุ เช่น เอาถุงดำครอบหัว ตีชนฟกช้ำดำเขียว บังคับลุกนั่ง ซึ่งหลายกรณีก็ออกมาว่าเด็กได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ พิการหรือแม้แต่เสียชีวิตก็เคยมีมาแล้ว
24. รวมไปถึงข่าวล่าสุดที่มีการลงไม้ลงมือทำร้ายเยาวชนที่สูบบุหรี่ในโรงพยาบาล ซึ่งแทนที่เลือกใช้วิธีดำเนินคดีตามกฎหมายแต่กลับเลือกใช้การทำร้ายและการทำให้อับอาย มันก็ย้อนกลับมาที่ประเด็น “ด้วยรักและหวังดี” …ท่านคิดว่าที่ผ่านๆ มา ผู้ใหญ่ทุกคนที่ลงโทษเด็กทำไปเพราะ “รักและหวังดี” จริงไหม? ไม่ใช่เพื่อแสดงความเหนือกว่า ความสะใจ ระบายอารมณ์หรือแก้แค้นแน่ๆ ใช่ไหม?
และทั้งหมดนี้คือประเด็นคร่าวๆ ของการลงโทษทางกายที่เป็นประเด็นสังคมอยู่บ่อยครั้งในช่วงหลังนะครับ เชื่อว่าผู้ใหญ่ต่างก็อยากเห็นเด็กเติบโตมาได้ดีและไม่เสียคน แต่ก็พึงใช้วิธีการที่ถูกต้องและบังเกิดผลลัพธ์พึงประสงค์จริงด้วย ไม่ใช่ยังเลือกใช้วิธีการเดิมๆ ทั้งที่หลักฐานปรากฏออกมาชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่ารังแต่ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
…ขนาดผู้ใหญ่เองก็ยังไม่อยากเจ็บตัวจาการถูกทำร้าย หรือถูกดุด่าว่ากล่าวจนทำร้ายจิตใจเลย ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ควรมอบสิ่งร้ายๆ ให้กับคนที่รักด้วยเช่นกันนะครับ
#TWCCulture #TWCWorld #TWC_Cheeze
0 Comment