ครั้งหนึ่งปราชญ์ขงจื้อเคยกล่าวไว้ว่า “ชายหญิงล้วนแตกต่าง” (男女有别) ขยายความได้ว่า ทั้งสองเพศมีหน้าที่ต่างกัน สถานะก็ย่อมต่างกัน …ซึ่งหากพูดง่ายๆ ขงจื้อก็มองว่าผู้ชายอยู่สูงกว่า ตามมุมมองของจีนแต่โบราณที่เป็นปิตาธิปไตย
ภายหลังล้มราชวงศ์ และผ่านยุคขุนศึก จีนได้เข้าสู่ยุคคอมมิวนิสต์ที่ชูอุดมการณ์ “คนเท่าเทียมกัน” ให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีมากขึ้น
บทความนี้จะพูดถึงชีวิตของหญิงสาวรอบตัวประธานพรรคคอมมิวนิสต์ผู้เลื่องชื่อ “เหมา เจ๋อตง” ซึ่งถือว่าอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากแนวคิดแบบเก่าเป็นแบบใหม่ ชีวิตของเธอถูกแต่งแต้มด้วยความสลับซับซ้อนของแนวคิดมากมายที่มาประชันกันในยุคนั้น
เรื่องราวของพวกเธอจะเป็นอย่างไร ลองติดตามกันนะครับ…
“เหมาเจ๋อตง” เกิดในปี 1893 ที่มณฑลหูหนาน ขณะที่ประเทศจีนยังปกครองโดยราชวงศ์ชิง
พ่อของเขาเป็นชาวนาที่มีอันจะกิน แต่เป็นคนอารมณ์ร้ายเหลือ ชอบบังคับและทุบตีลูกบ่อยๆ โดยที่ภรรยาไม่อาจห้าม เมื่อเข้าโรงเรียนประถม เหมาได้เรียนปรัชญาของขงจื้อ แต่เขาไม่อิน และชื่นชอบนิยายจำพวกสามก๊กมากกว่า
เหมาแต่งงานครั้งแรกกับหญิงสาวชาวฮั่นนาม “หลัวอี้ซิ่ว” ซึ่งเป็นการคลุมถุงชนจากพ่อทั้งสองฝ่าย ตอนที่หมั้นหมายกัน หลัวอายุ 18 แล้ว แต่เหมาเพิ่งอายุ 14 แน่นอนว่าชีวิตแต่งงานทั้งคู่ไม่มีความสุข เขาเล่าภายหลังว่ามีอะไรกันก็ไม่เคย ไม่ได้อยู่ร่วมบ้านกันด้วยซ้ำ
แต่เพราะเป็นผู้ชาย เหมาจะมีสถานะแต่งงานแล้วก็ไม่เป็นไร จะไปไหนก็ได้ แต่หลัวจำต้องอาศัยอยู่ในบ้านตระกูลเหมาอย่างเป็นทุกข์ ชาวบ้านรอบข้างนินทาว่าเป็นภรรยาที่บกพร่อง
หลัวป่วยเป็นโรคบิดตายในอีก 2 ปีถัดมา ณ เวลาไล่เลี่ยกัน เหมาได้เดินทางไปศึกษาต่อในเมืองอื่น ภายหลังเขาบันทึกถึงเรื่องของภรรยาคนแรกว่าเป็นภาวะถูกกดขี่บังคับจากการคลุมถุงชน
หากมองในมุมหนึ่งเหมาเองก็ถือเป็นเหยื่อของความเชื่อชายเป็นใหญ่ ที่โดนพ่อบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่ต้องการ
ภรรยาคนที่สองของเหมาชื่อ “หยางไคฮุ่ย” เป็นคนหูหนาน บิดาเป็นครูที่เมืองฉางซา ซึ่งนิยมแนวคิดเอียงซ้าย เหมาได้ศึกษากับอาจารย์ท่านนี้ และค่อยๆ สนิทสนมกัน จนถึงเมื่ออาจารย์หยางย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งในปี 1918 เหมาก็ตามมาด้วย
ช่วงนี้เองที่เขาได้พูดคุยกับไคฮุ่ย และเริ่มสานสัมพันธ์อย่างจริงจัง
หยางไคฮุ่ย เป็นคนสวย ร่างเล็ก หน้ากลม ตาลึก ผิวขาว ถูกใจเหมายิ่ง ไคฮุ่ยเองก็หลงรักเหมาที่มีอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายแรงกล้า และถึงกับวางเป้าหมายว่าจะไม่แต่งงานกับใครนอกจากเขา
แต่ชะรอยว่าเหมาคนเดียวยังเอาตัวเองไม่รอด เขาไม่มีเงิน ต้องอยู่แบบอดอยาก ยังดีที่อาจารย์หยางจะช่วยหางานให้เหมาเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัย
ปี 1919 เกิดเหตุการณ์ “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” ที่เป็นการชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการลงนามสนธิสัญญายกดินแดนให้ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเริ่มต้นจากการลุกฮือของนักศึกษา ก่อนกระจายไปทั่วทุกสาขาอาชีพ แม้รัฐบาลจะพยายามปราบปรามอย่างนัก แต่กระแสการเคลื่อนไหวไม่แผ่วลง จนทางการต้องตัดสินใจไม่เซ็นสัญญา เหตุการณ์จึงสงบลงได้
…เหตุการณ์นี้ทำให้แนวคิดมาร์กซิสต์แพร่ไปในประเทศจีน ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาต่อมา…
หยางไคฮุ่ยกับแม่กลับฉางซาเมื่อบิดาเสียชีวิตในเดือนมกราคมปี 1920 เธอเข้าศึกษายังโรงเรียนมิสชันนารี และถูกเรียกว่าเป็นพวกหัวขบถ เธอไม่สวดมนต์ แถมยังตัดผมสั้น ซึ่งผู้หญิงสมัยนั้นไม่ค่อยทำกัน ส่วนด้านเหมาไปทำงานยังเซี่ยงไฮ้ และได้ร่วมกิจกรรมคอมมิวนิสต์ในเวลานั้นเอง
เดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เหมาไปยังฉางซา เพื่อเปิดร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ ด้านไคฮุ่ยก็เข้าร่วมสันนิบาตยุวชนสังคมนิยมจีน
ทั้งคู่แต่งงานกันช่วงฤดูหนาวเมื่อเหมามีทั้งการเงินและสถานะสังคมที่มั่นคง …แน่นอนว่าต่อมา ทั้งสองคนก็เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 1921
ในปี 1922 ผู้แทนบอลเชวิคของโซเวียต เสนอให้พรรคเข้าร่วมกับจีนคณะชาติ หรือ “พรรคก๊กมินตั๋ง” ของ “ซุนยัตเซ็น” เพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงจากภายใน พวกคอมมิวนิสต์จึงร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋ง ตั้งเป็น “แนวร่วมที่หนึ่ง” (First United Front) ในการยกทัพขึ้นเหนือเพื่อปราบขุนศึกก๊กต่างๆ และรวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่น
ทว่าเมื่อซุนยัตเซ็นเสียชีวิตในปี 1925 ก็เกิดการต่อสู้ภายในพรรคก๊กมินตั๋ง จนกระทั่งกลุ่มฝ่ายขวาของ “เจียงไคเช็ก” ได้ครองความเป็นใหญ่ในปี 1927 หลังจากนั้นพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งมีอุดมการณ์ชาตินิยมได้ตัดความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนรบพุ่งกัน
หยางไคฮุ่ยช่วยเหมารวบรวมกองกำลังใต้ดินในฉางซาและเมืองอื่นๆ รอบๆ เพื่อสู้กับก๊กมินตั๋ง โดยได้ฝากฝังแม่และลูกสองคนของเธอกับเหมาไว้ที่ญาติ ไคฮุ่ยทุ่มเทเคลื่อนไหวตามเมืองต่างๆ โดยที่ไม่ได้พบหน้าสามีและลูกเลยเป็นเวลา 3 ปี
ไคฮุ่ยและลูกชายคนโตโดนคนของพรรคก๊กมินตั๋งจับตัวได้ในปี 1930 ก๊กมินตั๋งพยายามให้เธอด้อยค่าเหมาและพรรคคอมมิวนิสต์ต่อหน้าสื่อ แต่เธอปฏิเสธ แม้จะโดนทรมานหนักแค่ไหนก็ยังยืนยันหนักแน่นในแนวคิดคอมมิวนิสต์และศรัทธาในตัวเหมาเสมอไม่คลาย
สุดท้ายไคฮุ่ยก็โดนประหาร ขณะอายุเพียง 29 ปี ทายาทสองคนของเธอกลายเป็นเด็กกำพร้า ลูกชายคนโตแม้จะรอดจากก๊กมินตั๋งก็ไปเสียชีวิตในสงครามเกาหลี ส่วนลูกชายคนรองยังพอโชคดี ได้มารับตำแหน่งเป็นล่ามภาษารัสเซียแก่สภากลางพรรคคอมมิวนิสต์
…ส่วนเหมาไปคบกับผู้หญิงคนใหม่ตั้งแต่ปี 1928 หรือสองปีก่อนหยางไคฮุ่ยเสียชีวิต…
ผู้หญิงคนใหม่ของเหมามีนามว่า “เฮ่อจื่อเจิน” นับเป็นภรรยาคนที่สาม เธอเป็นหญิงแกร่งกล้า ขี่ม้าถือปืน ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่เหมาอย่างห้าวหาญ สมอุดมคติของคณะปฏิวัติ ด้วยฝีมือของเธอ ทำให้ได้รับการขนานนามว่า “แม่ทัพหญิงปืนคู่”
ในปี 1934 เหมาโดดเด่นขึ้นมาจากการเป็นผู้นำ “การเดินทัพทางไกล” (The Long March) ซึ่งเขาได้พาทหารชาวนาและกรรมกรหลายแสนคนเดินทางฝ่าอันตรายไปตั้งหลักยังจุดยุทธศาสตร์ทางตะวันตก รวมระยะทาง 25,000 ลี้ เผชิญภูมิศาสตร์ยากลำบากทุกรูปแบบ ระหว่างทางยังต้องรบกับกองทัพก๊กมินตั๋งที่รุกไล่มาด้วย
แม้จะต้องเสียกำลังพลไปนับหมื่น แต่ความทรหดอดทนของเหมาและคณะซื้อใจประชาชนได้มาก เฮ่อเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการเดินทัพทางไกลที่โหดร้ายครั้งนี้
ทว่าลูกๆ ของเธอที่เกิดกับเหมาในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้โชคดีเพียงนั้น บ้างก็เสียชีวิต บ้างก็ถูกยกเป็นลูกชาวนา เหลือเพียงแต่เหมาเจียวเจียว หรือ “หลี่มิน” ผู้เกิดในปี 1936 เท่านั้น (เหมาเจียวเจียวเปลี่ยนชื่อเป็นหลี่มินเพื่อหนีก๊กมินตั๋งแล้วไม่ได้เปลี่ยนกลับ)
ปีต่อมาเฮ่อได้รับบาดเจ็บจากสงคราม จึงถูกส่งตัวไปรักษาที่โซเวียต หลี่มินตามไปอยู่กับมารดาเมื่ออายุ 4 ขวบ แต่พอทั้งคู่กลับมาจีนในปี 1947 ก็กลับพบว่าเหมาได้แต่งงานใหม่กับดาราหนังผู้งดงามอายุคราวลูกชื่อ “เจียงชิง” และขอหย่าขาดกับภรรยาที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมา
เจียงชิง เกิดปี 1914 เคยเป็นนางเอกหนัง ใช้ชือว่า หลันผิง มาก่อน เจียงชิงได้พบรักกับเหมาเจ๋อตุงซึ่งมีอายุมากกว่าเกือบสองเท่าในปี 1937 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เฮ่อไปโซเวียต
เสน่ห์ของเจียงชิงเป็นเหตุให้เหมาคิดหย่าเฮ่อมาแต่งกับเธอ (บางหลักฐานก็ว่า เหมาพบรักกับเจียงชิงก่อน เลยส่งเฮ่อไปรักษาไกลถึงมอสโก)
ตอนนั้นผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ ไม่เห็นด้วย ทั้งตำหนิเหมาว่าเฮ่อจื่อเจินเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขเดินทัพทางไกลกันมา อีกทั้งมีลูกกับเหมาถึงหกคน ทำแบบนี้ใจร้ายยิ่ง และการที่เจียงชิงเคยใช้ชีวิตแบบทุนนิยมมาก่อน จะทำให้เหมาเสียภาพลักษณ์ กระทบถึงพรรคคอมมิวนิสต์
แต่ในที่สุดเหมายังคงหย่าเฮ่อมาแต่งเจียงชิงเป็นภรรยาคนที่ 4 โดยรับข้อแม้จากพรรคว่าจะให้เจียงชิงทำตัวโลว์โปรไฟล์ ไม่ออกหน้าออกตาเป็นเวลายี่สิบปี
…เชื่อว่าเจียงชิงผูกใจเจ็บพวกผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์อยู่…
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋งพักรบแล้วหันมาจับมือ ตั้งเป็น “แนวร่วมที่สอง” (Second United Front) ต่อสู้กับญี่ปุ่นที่รุกรานจีน และในปี 1945 เหมาก็ได้ขึ้นเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์
แต่พอหลังญี่ปุ่นพ่ายไป จีนได้เข้าสู่สงครามกลางเมืองรอบใหม่ ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถพลิกจากฝ่ายที่ด้อยกว่ามาชนะได้ ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาคอร์รัปชั่นภายในของก๊กมินตั๋งทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยม
เหมาประกาศสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในปี 1949 ขณะที่เจียงไคเช็กต้องอพยพไปยังเกาะไต้หวัน
ปีเดียวกันนี้เอง พรรคคอมมิวนิสต์ออกกฎหมายให้การบังคับอยู่กินโดยไม่ได้สมรสเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และให้สิทธิผู้หญิงในการฟ้องหย่า เพื่อเพิ่มสิทธิสตรีให้มากขึ้นตามหลักที่เหมาเรียกว่า “ประชาธิปไตยใหม่” (New Democracy) ทำให้มุมมองต่อผู้หญิงของพรรคคอมมิวนิสต์ช่วงยุค 50 – 60s จึงเป็นภาพนักรบผู้กล้าหาญ ลุกขึ้นมาสู้เพื่อประเทศจีนและลัทธิคอมมิวนิสต์
กระนั้นการสร้างภาพแบบนี้ก็ทำให้เกิดผลเสีย เพราะหากใครอุทิศตนให้ลัทธิไม่พอก็จะโดนประจาน อีกทั้งในความจริงนั้น ผู้หญิงยังถูกกีดกันทางการงานอยู่ แม้เรียนสูงเท่าผู้ชาย ก็มักไม่ก้าวหน้าเท่า
เหมาดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินโดยใช้กำลังยึดที่จากเจ้าของเดิมไปแจกให้ชาวนา รวมทั้งมีการปราบปรามพวกนายทุนและปัญญาชนขนานใหญ่ ต่อมาเขายังเริ่มนโยบาย “ก้าวกระโดดไปข้างหน้า” (Great Leap Forward) ซึ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงประเทศจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมในปี 1958
…ทว่าการลดจำนวนเกษตรกรแล้วไปเพิ่มแรงงานอุตสาหกรรมอย่างกะทันหัน และการให้นโยบายผิดพลาด (เช่นการสั่งให้ประชาชนฆ่านกกระจอก เพราะมันขโมยข้าว แต่พอนกกระจอกตายหมด พวกแมลงศัตรูพืชที่ขาดศัตรูตามธรรมชาติก็มาทำลายพืชผลมากขึ้น) ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร จนทำให้มีผู้อดอยากเสียชีวิตหลายสิบล้านคน…
เหมาเสียความนับถือในหมู่ผู้นำพรรคพอสมควร และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จึงสั่งหยุดนโยบายนี้ในปี 1962 แต่เหมาก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงสนับสนุนให้กลุ่มเยาวชนที่ถูกล้างสมองให้รักตน ออกมาปราบศัตรูทางการเมืองภายใต้แคมเปญ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” เดือนสิงหาคม ปี 1966
เหมาให้อำนาจเจียงชิงในการจัดการศัตรูทางการเมืองของเขาอย่างล้นเหลือ เธอนำกลุ่มเยาวชนหัวรุนแรง หรือ “เรดการ์ด” ทำการประณาม เข่นฆ่า คุมขัง และทรมานผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะชุดที่เป็นผู้รอดชีวิตจากการเดินทัพทางไกล ซึ่งเคยสั่งให้เธอต้องโลว์โปรไฟล์ เติ้งเสี่ยวผิงหนึ่งในผู้นำสำคัญก็เป็นเหยื่อในครั้งนี้ เขาถูดถอดยศไปทำงานระดับล่าง ลูกชายถูกทำร้ายจนพิการ
นอกจากนี้ เจียงชิงและพวกยังเป็นคนเซนเซอร์งานศิลปะทั้งหมด ซึ่งเป็นการกระทำแบบสุดโต่งทำให้เกิดศิลปะแนวใหม่ที่มองโลกเป็นขาว/ดำ …คือชาวนาและชนชั้นแรงงานทั้งหมดเป็นคนดี ส่วนชนชั้นนายทุนทั้งหมดเป็นคนเลว (เอาจริงก็เป็นเรื่องย้อนแย้ง เพราะเจียงชิงเคยเป็นดาราหนัง ใช้ชีวิตอย่างหรูหรามาก่อน)
…พวกเรดการ์ดสร้างความเสียหายต่อชีวิตคน ทำลายมรดกวัฒนธรรมอย่างประมาณมิได้ เป็นบาดแผลของชาวจีนมาจนปัจจุบัน…
ในตอนนี้จะพูดถึงลูกสาวของเหมาสองคนที่มีบทบาทแตกต่างกันในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม คือหลี่นา และหลี่มิน
“หลี่นา” เป็นลูกสาวคนเดียวของเจียงชิงกับเหมา เธอเป็นเด็กฉลาดเฉลียว พอจบการศึกษาสาขาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งปี 1966 ก็ได้รับตำแหน่งนักเขียนแก่หนังสือพิมพ์กองทัพปลดปล่อยประชาชนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม และเป็นบรรณาธิการให้หนังสือพิมพ์หัวอื่นๆ สืบมา
ในที่สุดขึ้นเป็นหัวหน้าทีมปฏิวัติวัฒนธรรมกลางโดยการปูเส้นทางของเจียงชิง และร่วมปราบปรามพวกพรรคคอมมิวนิสต์เก่า กับพวกที่ต่อต้านการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างโหดร้าย
สำหรับหลี่มินนั้น หลังแม่ของเธอหรือเฮ่อจื่อเจินถูกเหมาหย่า เธอก็พาลูกไปอยู่ด้วยกันที่เมืองฮาร์บิน แต่ในปี 1949 เหมาอยากให้หลี่มินมาอยู่ใกล้ๆ จึงย้ายเธอมาปักกิ่ง และให้เธอได้รับการศึกษาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในปักกิ่งตอนนั้น
หลี่มินพบรักและแต่งงานกับเพื่อนร่วมชั้นซึ่งเป็นนักศึกษาระดับท๊อป ทั้งสองใช้ชีวิตเหมือนคู่สามีภรรยาทั่วไป
ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม หลี่มินได้ถูกพวกเรดการ์ดนำไปขู่เข็ญทรมาน บังคับให้วิจารณ์ตนเองว่าใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยเหมือนพวกทุนนิยม จากนั้นจึงถูกจับไปใช้แรงงานทำการเกษตรอยู่หลายปี โดยไม่สนว่าเธอเป็นลูกของเหมา เชื่อว่าอาจเป็นฝีมือของเจียงชิงและหลี่นา
พอเหมาแก่ตัว เจียงชิงก็แสดงออกชัดเจนว่าต้องการขึ้นมาเป็นผู้นำจีนแทนสามี ในที่สุดเมื่อเหมาเสียชีวิตในปี 1976 พวกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่อดทนมานานก็ร่วมกันปฏิวัติโค่นล้มเจียงชิง จับแก๊ง 4 คน มาขึ้นศาล แล้วยก “เติ้งเสี่ยวผิง” สมาชิกพรรคสายปฏิรูป ขึ้นเป็นผู้นำแทน
เจียงชิงให้การในศาลด้วยประโยคเลื่องชื่อว่า “ฉันเป็นสุนัขรับใช้ของท่านประธานเหมา ท่านประธานสั่งให้ฉันกัดใคร ฉันก็กัด!”
แรกสุดเจียงชิงถูกตัดสินประหาร ต่อมาค่อยลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
ต่อมาเติ้งเสี้ยวผิงได้กล่าวประโยคอันโด่งดัง “แมวขาวหรือดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็เป็นแมวที่ดี” และดำเนินการปฏิรูปประเทศจีนให้เป็นทุนนิยม เจียงชิงเกลียดชังเขามาก บอกว่าเขาเป็นปีศาจที่มาทำลายแผ่นดินจีน เป็นพวกลัทธิแก้ จะทำให้ประเทศล่มจม
…อย่างไรก็ตามการปฏิรูปของเติ้งทำให้จีนเจริญรุ่งเรืองจนมีฐานะมหาอำนาจของโลก อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้…
เจียงชิงมีชีวิตอย่างคับแค้นใจจนปี 1991 จึงผูกคอตาย ก่อนจากไปได้เขียนจดหมายก่นด่าเติ้งไม่หยุด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้นำจีนตั้งแต่ยุคเติ้งเป็นต้นมาคิดว่าแม้เหมาจะผิดพลาดมาก แต่ยังควรต้องเชิดชูเขาเป็นศูนย์รวมจิตใจ เพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์มีความชอบธรรมในการปกครองประเทศ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตีความประวัติศาสตร์ให้เป็นประมาณว่าเหมาเป็นคนธรรมดาย่อมมีถูกผิด เหมาดีเจ็ดส่วน แย่สามส่วน ยังถือว่ามีความดีมากกว่า อีกอย่างเหมาแก่แล้ว มีส่วนผิดในการปฏิวัติวัฒนธรรมไม่มาก
…กรรมเลยมาตกกับ “สุนัขรับใช้” อย่างเจียงชิง ต้องรับการก่นด่ามาจนปัจจุบัน…
เมื่อเจียงชิงถูกจับ สิ้นยุคปฏิวัติวัฒนธรรม สถานะทางการเมืองของหลี่นาก็ถูกริบ แต่ไม่ได้โดนโทษอะไรมากกว่านั้น
เธอได้กลับมาทำงานให้กับคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1986 ก่อนเกษียนในช่วงยุค 90 เธอยังออกสื่อในหลายๆ คราว เช่นงานครบรอบชาติกาล 120 ปีของเหมาในปี 2013
หลี่นาแต่งงานสองครั้ง สามีคนที่สองเพิ่งเสียชีวิตลงในปี 2021 นี่เอง ปัจจุบันเธออายุ 80 ปีแล้ว…
สำหรับหลี่มินกับสามีซึ่งรอดชีวิตจากช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมได้ ก็กลับไปใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดา มีลูกชายลูกสาวอย่างละคน หลี่มินยังทำหน้าที่ทางการทูตบ้างในฐานะครอบครัวของเหมาเจ๋อตุง
ส่วนเฮ่อจื่อเจิน แม่ของเธอเสียชีวิตลงอย่างเงียบๆ ในปี 1984 ที่เซี่ยงไฮ้
ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน ปี 2018 มีข่าวลือว่าหลี่มินประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตที่เกาหลีเหนือ แต่หลายสัปดาห์ถัดมา เธอก็ปรากฏตัวขึ้นในงานเปิดตัวหนังสือของหลานโจวเอินไหลที่ปักกิ่ง …ปัจจุบันเธออายุ 85 ปี ยังมีชีวิตอยู่ และยังสบายดี
จากเรื่องราวทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่า ชีวิตของผู้หญิงรอบตัวเหมาไม่ได้สวยงาม ภรรยาของเหมาทุกคนล้วนมีจุดจบอันน่าเศร้า ทั้งป่วยตาย ถูกทรมานจนตาย ถูกทอดทิ้ง และฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นเรื่องหดหู่ยิ่ง เพราะสิ่งที่เหมือนกันคือ ผู้หญิงเหล่านี้ต่างยอมเสียสละเพื่อเหมาอย่างยิ่งยวด
นักการเมืองทั้งหลายที่ขึ้นมามีอำนาจหลังยุคเหมาพยายามไม่กล่าวถึงความเจ็บช้ำของพวกเธอ นัยว่าไม่อยากให้กระทบถึงภาพลักษณ์พรรคคอมมิวนิสต์
…เพราะการพูดถึงภรรยาของเหมาไม่ว่าคนใด ก็จะพบหลักฐานว่าเหมาทำบกพร่องต่อพวกเธอบางอย่าง
ลูกสาวของเหมาเองก็ไม่ได้ถือว่ามีชีวิตสุขสบายหากเทียบกับลูกของผู้นำรายอื่นๆ ในประวัติศาสตร์
หลี่นาแม้จะมีตำแหน่งทางการเมือง แต่นั่นเป็นเพราะแม่ของเธอมีอำนาจอยู่ขณะนั้น มากกว่าที่จะเป็นเพราะการผลักดันของเหมาให้หญิงชายเท่าเทียม
ส่วนหลี่มินยังโดนบีบคั้นให้อับอาย และนำไปใช้แรงงาน นี่ยังไม่นับลูกของเหมาอีกหลายคนที่ทิ้งไว้กับชาวบ้านชาวนาระหว่างการเดินทัพทางไกล
…พวกเธอทุกคนต่างตกเป็นเหยื่อในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ทั้งจากการต่อสู้เพื่อเหมา และการต่อสู้กันเอง…
ปัจจุบัน 100 ปีผ่านไปหลังการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ความไม่เท่าเทียมกันของชายหญิงในประเทศจีนก็ยังสูง
ยิ่งตอนที่จีนดำเนินนโยบายลูกคนเดียว เรามักจะได้ยินข่าวคนทำแท้งเพราะได้ลูกสาวอยู่เรื่อยๆ หรือหากคลอดออกมาก็นำไปทิ้ง เพราะพวกเขาต้องการมีลูกชายไว้สืบสกุล จนประชากรชายมีจำนวนมากกว่า
เรื่องนี้จะเป็นปัญหาในอีกหลายปีต่อมาเมื่อพวกเขาถึงวัยครองคู่ เพราะจำนวนหญิงต่อชายไม่สัมพันธ์กัน
ความเชื่อแบบปิตาธิปไตยของจีนยังส่งผลต่อกลุ่มคนจีนโพ้นทะเล เช่นบ่อยครั้งมีข่าวฟ้องร้องสมบัติในหมู่คนเชื้อสายจีนออกสื่อ เพราะพินัยกรรมมักระบุยกให้ลูกชายได้มรดกมากกว่า ยิ่งถ้าลูกสาวแต่งงานออกไปแล้ว บางครั้งก็ไม่ได้อะไรตกทอดถึงมาเลย
…ที่สุดแล้วทุนนิยมและคอมมิวนิสต์จะทำให้จีนก้าวข้ามจากความเป็น “ขงจื้อ” ได้หรือไม่ …นั่นยังเป็นปัญหาที่ต้องตอบในอนาคต
0 Comment