“เติร์กเมนิสถาน” เคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกาหลีเหนือแห่งเอเชียกลาง เพราะเคยมีอดีตผู้นำคนหนึ่งที่รวบอำนาจและมีลัทธิบูชาตัวบุคคลสุดพีคชนิดไม่น้อยหน้าตระกูลคิมเลยทีเดียว

ว่าแต่ว่าทำไมเติร์กเมนิสถานจึงมาลงเอยเช่นนั้น? และความเป็นมาของประเทศนี้มีเรื่องอื่นที่น่าสนใจอีกหรือไม่? มาติดตามในโพสต์นี้กันเลยครับ

ประวัติศาสตร์ยุคต้นของเติร์กเมนิสถานนับว่าไม่แตกต่างจากชาติเอเชียกลางอื่นๆ มากนัก เริ่มต้นจากการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินอายุ ตามมาด้วยการเข้ามาของชนเผ่าขี่ม้าอย่าง “ไซเทียน” ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากแถวคอเคซัสกับรอบทะเลดำ และสร้างอารยธรรม “แบ็คเทรีย” ขึ้นในบริเวณนี้

ต่อมาแบ็คเทรียถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเปอร์เซียอะคีเมนิด ซึ่งประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกเริ่มขึ้นในยุคนี้ ต่อมาเป็นยุคกรีกหลังการบุกเปอร์เซียของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในพื้นที่เตอร์เมนิสถานมีการตั้งเมืองอเล็กซานเดรีย (ซึ่งเป็นชื่อโหล) ที่ต่อมาเป็นเมือง “เมิร์ฟ” (Merv) ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกในปัจจุบัน

หลังจากยุคพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เติร์กเมนิสถานได้อยู่ในอาณาจักรกรีกส่วนของ “เซลิซิด” (Seleucid Empire) ซึ่งต่อมาได้ถูกแย่งชิงไปโดยชนเผ่าเร่ร่อนจากทางเหนือของอิหร่านชื่อว่า “พาร์เธีย” (Parthian Empire) ซึ่งชาวพาร์เธียนี้ตั้งเมืองหลวงที่เมือง “นีซา” (Nisa) ปัจจุบันเป็นแหล่งมรดกโลกอีกเช่นกัน

ในช่วงศตวรรษที่ 4-7 อารยธรรมแถบนี้ได้พัฒนาต่อไป โดยมีการสร้างเมืองต่างๆ ริมแม่น้ำ และเมืองเมิร์ฟกับนีซาได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการเลี้ยงหนอนไหมและเมืองเส้นทางการค้าสายไหมที่สำคัญ เชื่อมระหว่างราชวงศ์ถังไปจนถึงนครแบกแดด

ในศตวรรษที่ 8 กองทัพอาหรับมุสลิมได้บุกเข้ามาเอเชียกลางพร้อมทั้งเผยแผ่ศาสนา ทำให้เอเชียกลางกลายเป็นนับถือศาสนาอิสลาม เมืองเมิร์ฟได้กลายเป็นเมืองเอกของจังหวัดท้องถิ่น และยังใช้เป็นฐานบุกต่อเข้าไปในซินเจียงด้วย นอกจากนี้เมืองเมิร์ฟยังเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์อับบาซิยะฮ์ (Abbasid) ที่ต่อมาย้ายไปแบกแดดและกลายเป็นราชวงศ์กาหลิบที่ยิ่งใหญ่ต่อไป

ในช่วงศตวรรษที่ 10 มีชนเผ่าเร่ร่อนชื่อ “โอคุตส์” (Oghuz) เข้ามาแย่งชิงพื้นที่เติร์กเมนิสถานปัจจุบัน ซึ่งโอคุตส์เชื่อว่าเป็นชาวเตอร์กิก (Turkic) ที่มาจากมองโกเลียและไซบีเรีย ต่อมาพวกเขาตั้งอาณาจักรใหญ่ชื่อ “เซลจุก” (Seljuk) ที่ครอบคลุมเอเชียกลาง เปอร์เซียและตะวันออกกลาง ซึ่งต่อมาได้อพยพต่อไปเป็นชาวเติร์กและอาเซอร์ไบจาน

อย่างไรก็ตาม คำว่า “เติร์กเมน” (Turkmen) ได้เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกันเพื่อใช้แยกคนที่อพยพลงใต้ไปอาศัยอยู่ในเมือง กับคนที่ยังอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้า จึงแปลว่าคนเติร์กเมนมีบรรพบุรุษร่วมกับชาวเซลจุก กับชาวเติร์กซึ่งปัจจุบันอยู่ในตุรกีและอาเซอร์ไบจานนั่นเอง

หลังจากยุคเซลจุกแล้วก็เข้าสู่มองโกล แม้เมืองเมิร์ฟจะถูกทำลายได้รับความเสียหายหนัก แต่ชาวเติร์กเมนยังคงเหลือรอดจากการอพยพไปทางเหนือหรือไปทางตะวันตกริมทะเลแคสเปียน ต่อมาชาวเติร์กเมนอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐสืบทอดของจักรวรรดิมองโกล และอยู่ภายใต้จักรวรรดิติมูร์ช่วงสั้นๆ

ในช่วงศตวรรษที่ 14-16 หลังยุคติมูร์ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือมีการจัดระเบียบชาวเติร์กเมนออกเป็นชนเผ่าต่างๆ ที่ยังใช้กันมาถึงปัจจุบัน เช่น เผ่าโยมุต เผ่าเตเก ส่วนในทางการเมืองเอเชียกลางส่วนใหญ่แบ่งออกเป็นรัฐข่านคีวา (Khiva) กับรัฐข่านบูคารา (Bukhara) ซึ่งเป็นอาณาจักรของเผ่าอุซเบก แต่ชาวเติร์กเมนยังมีความสำคัญในฐานะเป็นกองทหารที่มีฝีมือ

ระหว่างที่ชาวเติร์กเมนกระจายกันอยู่ในรัฐข่านคีวากับบูคารานี้เองที่เกิดมหากาพย์และประเพณีที่บอกเล่าต่อกันปากต่อปากของเติร์กเมนิสถานปัจจุบันขึ้น รวมทั้งมีนักคิดที่เรียกร้องให้ชาวเติร์กเมนเผ่าต่างๆ สามัคคีกัน สิ่งเหล่านี้อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของชาติเติร์กเมนขึ้น (อย่างไรก็ตามกว่าชาวเติร์กเมนจะมารวมกันเป็นประเทศก็ยุคโซเวียตโน่นเลย)

ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 รัสเซียเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในเอเชียกลาง ซึ่งสาเหตุหนึ่งเพื่อปราบปรามการค้าทาสชาวรัสเซีย อย่างไรก็ตามชาวเติร์กเมนสามารถขับไล่กองทัพรัสเซียได้ครั้งหนึ่งในยุทธการที่กักเทเป (Geok Tepe) ในปี 1879 แต่สุดท้ายก็แพ้ให้กับรัสเซียในปี 1881 และจนถึงปี 1894 เติร์กเมนิสถานได้ตกเป็นของรัสเซียเกือบทั้งหมด

ในปี 1879 เริ่มมีการสร้างทางรถไฟสายทรานส์แคสเปียนผ่านเติร์กเมนิสถานเพื่อเป็นเส้นทางส่งทหารรัสเซียไปยังชายแดนอัฟกานิสถานในช่วง Great Game ในปี 1885 เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างรัสเซียกับอัฟกานิสถานและเกือบบานปลายเป็นสงครามกับอังกฤษ จนรัสเซียกับอังกฤษเจรจาปักปันเขตแดนระหว่างเติร์กเมนิสถานกับอัฟกานิสถานซึ่งบางส่วนใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ในปี 1906 การก่อสร้างทางรถไฟสายทรานส์แคสเปียนเสร็จสิ้น และมีการเชื่อมรัสเซียส่วนยุโรปกับเอเชียกลางได้สำเร็จ ทำให้มีผู้ตั้งถิ่นฐานชาวสลาฟหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ เกิดเป็นเมืองที่รัสเซียสร้างไว้อย่าง “อาชกาบัต” ซึ่งเป็นเมืองหลวงเติร์กเมนิสถานในทุกวันนี้

การบริหารของผู้ว่าราชการรัสเซียที่ฉ้อฉลและป่าเถื่อนทำให้พื้นที่เอเชียกลางไม่พอใจ ในปี 1916 เกิดการกบฏที่ต่อต้านการเกณฑ์ทหารไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และหลังการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 พื้นที่เติร์กเมนิสถานเป็นที่ตั้งของกลุ่มต่อต้านบอลเชวิค จึงมีการต่อสู้กับกองทัพแดงจนกระทั่งปี 1923

ในปี 1924 มีการลากเส้นแบ่งให้เกิดสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเติร์กเมนิสถานที่เป็นเขตแดนเดียวกับในปัจจุบันโดยมีประชากร 80% เป็นชาวเติร์กเมน ทางการยังพยายามเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ทำให้จนถึงทศวรรษ 1930 ประชากรเติร์กเมนิสถานส่วนใหญ่เปลี่ยนจากชนเผ่าเร่ร่อนมาเป็นชาวเมือง นอกจากนี้ยังมีการอพยพพาชาวยุโรปที่ต่างๆ เข้ามาเพิ่ม

ในช่วงเดียวกันทางการโซเวียตยังได้ส่งเสริมอัตลักษณ์ประจำชาติอย่างหนัก ทั้งภาษา ศิลปะและการศึกษา (ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องย้อนแย้งแต่จริงๆ ทางการโซเวียตต้องการป้องกันมิให้ชาวเอเชียกลางซึ่งเป็นเตอร์กิกเหมือนกันรวมตัวกันติด และหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายก็เกิดเป็นรัฐใหม่ตามอัตลักษณ์ที่มีการเผยแพร่นี้เอง) บวกกับการยกวัฒนธรรมรัสเซียขึ้นมาควบคู่

ในปี 1948 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงอาชกาบัต ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100,000 คน บางประมาณการบอกว่าคิดเป็นสองในสามของจำนวนประชากรเมืองในขณะนั้นเลยทีเดียว

ในทศวรรษ 1950 เริ่มมีการก่อสร้าง “คลองคาราคุม” เพื่อใช้ผันน้ำไปทำชลประทานเพาะปลูกฝ้ายอย่างหนัก ผลทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเลอะรัลน้อยลงจนแห้งเหือดไปเป็นทะเลทรายในที่สุด

ในทศวรรษ 1960 มีการค้นพบบ่อแก๊สธรรมชาติ “เดาเลตาบัด” (Dauletabad) ซึ่งนับเป็นบ่อแก๊สใหญ่สุดที่อยู่นอกตะวันออกกลางและรัสเซีย นอกจากนี้ยังมีแหล่งที่มีชื่อเสียงอีก เช่น “บ่อแก๊สดาร์วาซา” (Darvaza) ซึ่งมีความพยายามจุดไฟเผาในทศวรรษ 1980 เพื่อควบคุมแก๊สพิษ แต่ปริมาณแก๊สที่มีอยู่มหาศาลทำให้บ่อนี้ยังคงติดไฟอยู่จนถึงปัจจุบัน จนมีคำเรียกว่ามันคือ “ประตูแห่งขุมนรก” (Gates of Hell)

หลังเติร์กเมนิสถานได้รับเอกราชในปี 1991 มีผู้นำคนแรกคือ “ซาปาร์มูรัต นิยาซอฟ” (Saparmurat Niyazov) ซึ่งเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เติร์กเมนิสถานก่อนการล่มสลายนั่นเอง นิยาซอฟนี้ขึ้นชื่อเรื่องเป็นผู้นำเผด็จการสไตล์เดียวกับตระกูลคิมแห่งเกาหลีเหนือ ที่มีลัทธิบูชาตัวบุคคลอย่างหนักและมีการออกกฎตามใจชอบ เช่น สร้างเมืองหลวงใหม่จากหินอ่อนทั้งหมด การสั่งให้ข้าราชการต้องเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 30 กม. ปีละครั้งเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงการเขียนหนังสือ “รูห์นามา” ของตัวเองที่ทุกคนต้องเรียนรู้ประดุจคัมภีร์ทางศาสนา

แม้หลังจากนิยาซอฟเสียชีวิตไปแล้ว ผู้นำคนถัดๆ มาแม้ลดทอนลัทธิบูชาตัวบุคคลบางส่วนของนิยาซอฟ แต่ก็ยังคงมีการปกครองสไตล์คล้ายๆ เดิม แถมผู้นำ 2 คนล่าสุดยังมาจากตระกูลเดียวกัน ทำให้ถูกครหาว่าเป็นระบบราชวงศ์การเมืองด้วย

…ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้เติร์กเมนิสถานมีลักษณะอย่างในปัจจุบัน นักผจญภัยหลายท่านรู้สึกอยากไปสัมผัสเกาหลีเหนือด้วยตัวเองสักครั้งหนึ่ง แต่บอกเลยว่าเติร์กเมนิสถานนี้ก็ให้ความรู้สึกคล้ายๆ กันนั่นเอง!

📣 ท่านที่สนใจเดินทางไปสัมผัสประเทศลับแลสุดแปลกแห่งนี้กับ The Wild Chronicles สามารถติดต่อเข้ามาได้ทุกช่องทางของเราได้เลย ❗️

#TWCTour #TWCCentralAsia