ในช่วงเร็วๆ นี้มีข่าวว่าหลายชาติใหญ่ซึ่งมักเป็นชาติที่ระหองระแหงกับสหรัฐประกาศค้าขายกันเองโดยเลิกใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการมองกันว่านี่อาจเป็นจุดเสื่อมของดอลลาร์สหรัฐ และอาจมีเงินสกุลอื่นขึ้นมาเป็นเงินสกุลหลักของโลกแทนหรือไม่? ลองมาอ่านบทความนี้กันครับ
ที่ผ่านมาหลายชาติได้ประกาศเริ่มดำเนินการเลิกการพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ (de-dollarization) รวมทั้ง จีน รัสเซีย บราซิล ชาติอาเซียน เคนยา ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้ว และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อินเดียซึ่งเป็นชาติใหญ่อีกชาติหนึ่งก็ประกาศสนับสนุนให้ใช้เงินรูปีของตัวเองในการค้าโลกแทนดอลลาร์สหรัฐ
แน่นอนว่าสัดส่วนของการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐทั้งในการค้าโลกและการใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงมีสูง แต่การลดการครองตลอดของเงินสกุลดังกล่าวก็ทำให้หลายฝ่ายมองอนาคตกันอย่างกว้างขวาง
🔴 [ที่มาของ “การผูกขาด” ของดอลลาร์สหรัฐ]
ถามว่าทำไมดอลลาร์สหรัฐจึงผงาดขึ้นมาเป็นเงินสกุลหลักของโลก เรื่องนี้สืบย้อนไปได้ถึงยุคข้อตกลงเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods) ปี 1944 ซึ่งมีการตกลงกันว่าจะให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าผูกกับทองคำที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อทองคำ 1 ออนซ์ (แปลว่าจะพิมพ์เงินเพิ่มได้ต่อเมื่อมีการเอาทองคำมาค้ำประกันมากขึ้น)
และชาติอื่นๆ จะตรึงอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเองกับดอลลาร์สหรัฐไว้ในกรอบไม่เกินร้อยละ 1 พูดง่ายๆ ว่า ดอลลาร์ผูกกับทองคำ และเงินสกุลอื่นจะผูกกับดอลลาร์อีกที ก็แปลว่าผูกกับทองคำตามไปด้วยนั่นเอง
…ชาติต่างๆ หันมาเก็บดอลลาร์สหรัฐแทนทองคำก็เพราะการเก็บเงินธนบัตรมันง่ายกว่าการเก็บรักษาทองคำ และถึงอย่างไรดอลลาร์สหรัฐก็ผูกกับทองคำอยู่แล้วนั่นเอง…
ทว่าจุดเปลี่ยนมาถึงในปี 1971 เมื่อประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันของสหรัฐประกาศไม่ยึดดอลลาร์สหรัฐกับมูลค่าของทองคำอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐเป็นชาติเดียวที่สกุลเงินไม่ผูกกับทองคำ จริงๆ ต้องบอกว่าทุกประเทศไม่ได้ผูกค่าเงินกับทองคำมานานแล้ว และค่าเงินจะแปรผันตามอุปสงค์-อุปทานเหมือนสินค้าทั่วไปนั่นเอง (แปลว่าถ้าพิมพ์เงินเยอะค่าของมันจะลดลง เป็นเรื่องของกลไกตลาด)
อย่างไรก็ตาม การค้าโลกและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงใช้เงินสกุลดอลลาร์เป็นหลัก ซึ่งปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดคือการกำหนดราคาของสินค้าสำคัญ เช่น น้ำมัน เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสิ่งนี้มีคำเรียกว่า “petrodollar”
นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐยังครองความเป็นใหญ่ในการค้าโลกก็คือระบบ SWIFT หรือระบบทำธุรกรรมผ่านธนาคาร ซึ่งมีสมาชิกเป็นสถาบันการเงินถึงกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐยังมีความต้องการใช้อยู่ตลอด
🔴 [ทำไมเราถึงได้ยินกระแสเลิกใช้ดอลลาร์สหรัฐบ่อยในช่วงนี้]
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่ากระแสที่ชาติต่างๆ พยายามเลิกใช้ดอลลาร์สหรัฐมีมานานแล้ว อย่างในยุคสงครามเย็น สหภาพโซเวียตกับอินเดียก็ค้าขายกันโดยไม่ใช้ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นสิ่งนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว
จีนกับรัสเซียเป็นชาติใหญ่ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการเลิกใช้ดอลลาร์สหรัฐมานานแล้ว จีนเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และต้องการแผ่อิทธิพลของตนในทางการค้า
ส่วนรัสเซียเป็นชาติที่จำเป็นต้องหันมาใช้ตัวเลือกอื่นแทนดอลลาร์สหรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการคว่ำบาตรนับตั้งแต่การผนวกไครเมียในปี 2014 มาจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนรอบใหม่ในปี 2022 บวกกับการอายัดทรัพย์สินและการตัดออกจากระบบธนาคาร SWIFT
บวกกับปัจจัยอย่างเช่นการเสื่อมค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิดที่ทำให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการไหลกลับของเงินดอลลาร์สหรัฐ การลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐจึงเปรียบเสมือนการลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก
เช่นเดียวกับชาติอื่นๆ อย่างบราซิล ชาติอาเซียน เคนยา ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอินเดียที่พยายามลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ โดยการประกาศค้าขายเป็นเงินสกุลอื่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเงินหยวน แต่อาจเป็นเงินสกุลท้องถิ่นของตัวเอง
แต่หากถามว่าเงินสกุลอื่น เช่น หยวน จะขึ้นมาแซงหน้าดอลลาร์สหรัฐได้หรือไม่? ด้วยข้อมูลแนวโน้มในปัจจุบันยังมองว่าดอลลาร์สหรัฐจะยังคงครองแชมป์สกุลเงินที่ใช้ในการค้าโลกและใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศต่อไป เพราะเราจะเห็นว่าอุปสงค์ของเงินหยวนยังไม่ได้มีมากขนาดนั้น บวกกับชาติที่มีความสัมพันธ์ดีกับสหรัฐไม่น่าจะเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลอื่นในเร็ววันนี้นั่นเอง
#TWCSummary #USDollar
0 Comment