…นี่คือเรื่องราวของประเทศอินโดนีเซีย ประเทศที่เคยมีเหตุการณ์สังหารหมู่ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในยุคสงครามเย็นครั้งหนึ่งเมื่อปี 1965 – 1966 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่าล้านราย และมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนใจ วันนี้ The Wild Chronicles จะพาไปดูเรื่องราวของ “เหตุการณ์เกสตาปู” กันครับ…

ก่อนเกิดเหตุการณ์เกสตาปู อินโดนีเซียได้รับเอกราชในปี 1949 โดยมีซูการ์โนเป็นประธานาธิบดีคนแรก ซึ่งโลกในตอนนั้นเข้าสู่สภาวะสงครามเย็น ระหว่างฝ่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกา กับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต และประธานาธิบดีซูการ์โนมีนโยบายให้อินโดนีเซียอยู่ในสถานะ “เป็นกลาง” ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งของสงครามเย็น

แต่จริงๆ ซูการ์โนก็มีหัวเอียงซ้าย คือ สนใจในแนวคิดแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ จึงได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตชาติคอมมิวนิสต์เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ซูการ์โนยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Parti Kommunis Indonesia หรือ PKI) ซึ่งมีฐานเสียงเป็นชนชั้นรากหญ้าอย่างชาวนาและกรรมกร จึงทำให้เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งแรกของอินโดนีเซียในปี 1955 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถือเป็นพรรคที่ได้คะแนนนิยมไม่น้อย

พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียดำเนินนโยบายต่อต้านทุนนิยม ศักดินา และผลักดันนโยบายปฏิรูปที่ดิน อีกทั้งสนับสนุนให้ชาวนาเข้ายึดที่ดินจากเจ้าที่ดิน

ความนิยมที่สูงขึ้น ทำให้มีจำนวนสมาชิกและแนวร่วมของพรรคเพิ่มเรื่อยๆ โดยในปี 1965 พรรคมีสมาชิกมากถึง 2 ล้านคน ตามรายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่นและการคาดการณ์ของรัฐ ส่วนทางพรรคก็ได้อ้างว่ามีสมาชิกมากถึง 3.5 ล้านคน

…พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียจึงกลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหภาพโซเวียตและจีน…

กองทัพกังวลอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย พร้อมมีรายงานข่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียจะก่อการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงไปเป็นประเทศคอมมิวนิสต์!

.…ความหวาดหลัวภัยคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่มีเพียงแค่ในกองทัพอินโดนีเซียเท่านั้น แต่สหรัฐฯ และอังกฤษก็หวาดกลัวด้วยเช่นกัน…

และแล้ว…จุดเริ่มต้นของการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์อินโดนีเซียก็ได้เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 30 กันยายน 1965 จากการสังหารนายทหาร 7 นาย โดยเหตุการณ์ครั้งนี้เรียกกันโดยย่อว่า “เกสตาปู” (Gestapu) และถูกรัฐบาลใส่ร้ายมีคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลัง

#TWCHistory #TWCIndonesia #TWC_Rama