“โฮลี” เทศกาลสาดสีอันโด่งดังของ “อินเดีย” เป็นเทศกาลที่หลายคนมองว่าอาจเกี่ยวข้องกับเทศกาลสาดน้ำ หรือประเพณี “สงกรานต์” ของไทย เพราะสงกรานต์ไทยก็มีรากฐานมาจากอินเดีย จนกลายเป็นข้อมูลที่หลายคนคิดว่าเป็นจริง แต่แท้จริงแล้ว สองเทศกาลนี้อาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

โดยสาเหตุที่ทำให้นักวิชาการหลายคนคิดว่า เทศกาลโฮลีไม่ใช่ต้นแบบประเพณีสงกรานต์ไทย คือ

1. ระยะเวลา
ทั้งสองเทศกาลจัดขึ้นบนฐานปฏิทินที่แตกต่างกัน โดยโฮลีจัดขึ้นตามปฏิทินจันทรคติฮินดู ในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือนผาลคุน (เดือน 3) คือ ราวกุมภาพันธ์-ต้นมีนาคม เรียกวันนี้ว่าวัน “โฮลิกาทหนะ” (Holika Dahana) แปลว่า วันเผานางโหลิกา ส่วนวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือนไจตระ (เดือน 4) เรียกว่า “โฮลี” (Holi) หรือ “วสันโตสวะ” หมายถึง เทศกาลแห่งฤดูวสันต์ หรือ ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นวันที่เล่นสาดสีและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ (ปี 2025 ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม) แตกต่างสงกรานต์บ้านเราที่ใช้ปฏิทินสุริยคติของอินเดียใต้ ซึ่งมักตรงกันทุกปี

2. ความหมาย
“สงกรานต์” ไทยถือเป็น “ปีใหม่” หรือการเปลี่ยนศักราชตามโหราศาสตร์ ตามอินเดียใต้ (ทมิฬ) โดยสงกรานต์มีความหมายถึง การที่พระอาทิตย์ย้ายราศี (ปกติพระอาทิตย์ย้ายราศีเดือนละหนึ่งครั้ง สงกรานต์จึงมีทุกเดือน) แต่การเข้าสู่ราศีเมษถือเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดและให้พลังงานมากที่สุด ทางทมิฬและไทยจึงกำหนดให้สงกรานต์กลายเป็นปีใหม่

ขณะที่โฮลีไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนศักราช แต่เป็นการฉลองการสิ้นสุดของฤดูหนาว และยินดีกับฤดูฤดูใบไม้ผลิ ฤดูกาลที่จะเริ่มต้นเพาะปลูก พร้อมสื่อถึงชัยชนะของความดีเหนือความชั่วร้ายทั้งปวงจากพิธีกรรมการเผานางโหลิกา แถมการละเล่นสาดสียังสื่อถึงความรักพระกฤษณะและพระนางราธาได้อีกด้วย

3. กิจกรรมหลัก
เดิมที เทศกาลโฮลีในอินเดียไม่ได้เป็นการเล่นสาดน้ำเป็น แต่มีกิจกรรมที่ชาวบ้านนำเอาขยะไปรวมกันไว้ แล้วทำเป็น ‘นางโหลิกา’ (ตัวแทนความแห้งแล้ง) แล้วจุดไฟเล่นรอบกองไฟ ส่วนกิจกรรมสาดสีมาเสริมทีหลัง ฉลองกันในอินเดียภาคเหนือเป็นหลัก และสงกรานต์ไทยแต่เดิมนิยมมารดน้ำผู้สูงอายุ และกิจกรรม สาดน้ำก็ไม่ใช่กิจกรรมหลัก พึ่งมามีในภายหลัง จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่การสาดน้ำเป็นการรับอิทธิพลจากเทศกาลโฮลี

เหตุผลทั้ง 3 ประการ จึงสรุปได้ว่า “โฮลี” เทศกาลสาดสีของอินเดีย ไม่ได้เป็นต้นกำเนิดของเทศกาลสงกรานต์ของบ้านเรา แต่อย่างไรก็ดี เทศกาลทั้งสองถือเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานที่ผู้คนทั้งภายในและภายนอกประเทศต่างเฝ้ารอและเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก

อ้างอิง
Silpa-mag (ดอท) com/culture/article_129892
Matichon (ดอท) co (ดอท) th/prachachuen/news_74221
Matichon (ดอท) co (ดอท) th/prachachuen/news_2139582
Matichon (ดอท) co (ดอท) th/prachachuen/news_2139582
Khaosod (ดอท) co (ดอท) th/special-stories/news_964291

#twchistory #twcindia #twcthailand