บัลลังก์ชาร์เลอมาญ พระราชบัลลังก์ที่พระเจ้าชาร์เลอมาญสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ณ มหาวิหารอาเคิน ประเทศเยอรมนี (แต่พิธีสวมมงกุฏไปทำที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ กรุงโรมนะครับ) ซึ่งบัลลังก์ไม้ที่เรียบง่ายนี้ถูกเรียกว่า “totius regni archisolium” (บัลลังก์ของอาณาจักรทั้งหมด) และถูกใช้เป็นบัลลังก์สำหรับพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ถึงปี 1531 ซึ่งถูกใช้งานเป็นจำนวนทั้งหมด 31 ครั้ง

พระราชบัลลังก์นี้ตั้งอยู่บนเสาหินอ่อนสี่ต้นที่นำมาจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ คือ เยรูซาเล็ม ซึ่งสามารถคลานเข้าไปใต้บัลลังก์ได้ เพื่อเป็นการแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ปกครองและการแสดงความเคารพต่อพระเยซูคริสต์ อีกทั้งบัลลังก์ชาร์เลอมาญยังออกแบบตามบัลลังก์ของโซโลมอนตามเนื้อหาของพระคัมภีร์ไบเบิล เพื่อสื่อถึงพระเจ้าชาร์เลอมาญ ผู้นำของชาวเยอรมันชนชาติที่ถูกเลือกชาติใหม่โดยพระเจ้า

แถมเสาหินทั้งสี่ต้นอาจเป็นตัวแทนของโลกที่ปกครองโดยผู้ปกครอง คือ ธาตุทั้งสี่ (ไฟ น้ำ ลม และดิน), ฤดูกาลทั้งสี่, ทิศหลักทั้งสี่, และแม่น้ำทั้งสี่สายในสวนเอเดนซึ่งนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่โลก อีกทั้ง บัลลังก์ยังตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโบสถ์ ซึ่งเชื่อว่าการพิพากษาครั้งสุดท้ายจะมาจากทิศนี้ และนำไปสู่จุดสิ้นสุดของการปกครองทางโลกทั้งหมด

หากนับตั้งแต่ปี 1562 จนถึงการราชาภิเษกครั้งสุดท้ายของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปี 1792 พิธีราชาภิเษกก็ได้จัดขึ้นที่มหาวิหารแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งเป็นสถานที่จัดการเลือกตั้งจักรพรรดิด้วย ทำให้บัลลังก์ชาร์เลอมาญไม่ได้ถูกใช้งานสำหรับพิธีราชาภิเษกอีกเลย

และเมื่อจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศสได้เดินทางมาถึงเมืองอาเคินเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ปี 1804 นโปเลียนก็ได้ยืนหน้าบัลลังก์ และแสดงความเคารพต่อพระเจ้าชาร์เลอมาญด้วยการไม่นั่งบนบัลลังก์ของพระองค์

บัลลังก์ชาร์เลอมาญถูกเก็บรักษาโดยมหาวิหารอาเคินจนถึงปัจจุบัน หากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บัลลังก์ชาร์เลอมาญถูกปกป้องโดยการราดยางมะตอยทับบัลลังก์และนำไปฝังทราย จึงทำให้ในปัจจุบัน บัลลังก์ที่นำมาจัดแสดงที่มหาวิหารมีคราบสีเหลืองสกปรกจากยางมะตอย ซึ่งไม่ได้ขัดออก เพราะกลัวว่าลวดลายโบราณบนบัลลังก์จะเสียหาย

#TWCHistory #TWCGermany #TWC_Rama