ไคส์ ซาอิด (Kais Saied) ประธานาธิบดีคนที่ 7 ของตูนิเซีย ซึ่งขึ้นสู่อำนาจจากการเลือกตั้งในปี 2019 ได้พลิกโฉมจากประเทศที่เคยเป็นจุดเริ่มต้นของอาหรับสปริง (Arab Spring) ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อขับไล่ผู้นำเผด็จการในโลกอาหรับ ให้กลับมาเป็นประเทศเผด็จการอีกครั้ง!

หลังการปฏิวัติตูนิเซียในปี 2011 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาหรับสปริง ตูนิเซียสามารถโค่นล้มประธานาธิบดีซีน เอล อบิดีน เบน อาลี ซึ่งอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานกว่า 24 ปี ลงได้เป็นผลสำเร็จ

ตูนิเซียได้หันหน้าเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย หากตูนิเซียมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มศาสนากับกลุ่มผู้นิยมรัฐฆราวาส เพราะรัฐบาลพยายามรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมทางศาสนาที่เคยถูกสั่งห้ามในช่วงเผด็จการ

ซ้ำยังเจอกับปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวหลังการปฏิวัติ จึงทำให้ทางฝ่ายรัฐฆราวาสและฝ่ายรัฐศาสนาพยายามประนีประนอมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน และรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเป้าหมายในการสร้างความสมานฉันท์และฟื้นฟูสภาพสังคมที่เสียหายจากพิษเศรษฐกิจ ในเดือนมกราคม ปี 2014

ตูนิเซียจึงได้มีการจัดการเลือกตั้งและบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย จนกลายเป็นประเทศเดียวในขบวนการอาหรับสปริงที่สามารถโค่นล้มผู้นำเผด็จการและมีระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ

หากตูนิเซียยังต้องเจอปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวตกต่ำจากการก่อการร้าย, อัตราการว่างงานสูงที่ผลักดันให้ผู้คนอพยพไปยุโรป, และเศรษฐกิจฝืดเคือง ซึ่งทำให้ประชาชนเริ่มกลับมาประท้วงอีกครั้ง

แต่เมื่อประธานาธิบดี เบจี คาอิด เอสเซบซี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในปี 2014 เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งจากอาการป่วยในปี 2019 ก็ได้เปิดโอกาสให้ “ไคส์ ซาอิด” ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้รับความนิยมจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญปี 2014 และมีนโยบายสนับสนุนคนรุ่นใหม่และกระจายอำนาจ ชนะการเลือกตั้งปี 2019 และขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี

หากไคส์ ซาอิด ไม่สามารถบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นได้ และในปี 2021 มีการชุมนุมวันครบรอบ 10 ปี การปฏิวัติตูนิเซีย และการประท้วงเรื่องความผิดพลาดในการจัดการวัคซีนโควิด-19 ไคส์ ซาอิด จึงตัดสินใจทำ “รัฐประหาร” โดยการปลด “ฮิเชม เมชิชิ” นายกรัฐมนตรี, ระงับการทำงานของรัฐสภาด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, และระงับใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ปี 2021

ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ไคส์ ซาอิดได้ขับไล่ผู้พิพากษาและอัยการในสภาตุลาการสูงสุดและแต่งตั้งคนของตนเองเข้าไปแทนที่ ซึ่งทำให้เขามีอำนาจเหนือตุลาการ แล้วตามมาด้วยการยุบสภาในเดือนมีนาคม และสามารถออกกฎหมายใช้เอง

หลังจากนั้น ในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน ไคส์ ซาอิดได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดการประชามติรับรองรัฐธรรมนูญในเดือนกรกฎาคม ซึ่งได้รับเสียงรับรองมากถึง 80% ขณะที่มีคนออกมาใช้เสียงเพียง 30 % ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างฐานอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีเป็นอย่างมาก และเป็นการปิดกั้นการถอดถอนประธานาธิบดีโดยรัฐสภา และปิดกั้นการใช้อำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหนือตำแหน่งประธานาธิบดี

นอกจากนี้ ไคส์ ซาอิด ยังลุอำนาจโดยการดำเนินคดีและจับกุมฝ่ายค้านด้วยความไม่เป็นธรรม และออกกฎหมายจำกัดสื่อ ซึ่งเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อและโลกอินเตอร์เน็ต

หากไคส์ ซาอิด ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐตูนิเซียไว้อย่างเหนียวแน่น แม้จะมีการชุมนุมประท้วงในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2024 ที่ผ่านมาก็ตาม เพราะเขามีเครือข่ายทางอำนาจและพยายามรักษาตำแหน่งไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึงใน วันที่ 6 ตุลาคม ปี 2024

ซึ่งตอนนี้ มีเพียงไคส์ ซาอิด และผู้สมัครจากฝ่ายค้านเพียงสองคนเท่านั้นที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งของตูนิเซียให้ลงสมัครเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีได้ แต่มันก็ไม่แน่นอนว่า ไคส์ ซาอิด จะยังคงได้รับการเลือกตั้ง และเขาอาจจำเป็นต้องใช้วิธีสกัดกั้นฝ่ายตรงข้ามให้ได้มากที่สุดก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น

คุณคิดว่า ไคส์ ซาอิด จะได้ยังคงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีตูนิเซียอยู่หรือไม่? และสถานการณ์ในตูนิเซียจะเป็นอย่างไรหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้?

#TWCHistory #TWCTunisia #TWC_Rama