ตอนนี้ กระแสของ “แสตมป์” ในเมืองไทยกำลังมาแรงแบบสุดๆ ซึ่งเราไม่พลาดที่จะหยิบยกเรื่องราวของตราไปรษณียากร สิ่งของคุ้นเคยที่เราคุ้นชินผ่านจ่าหน้าซองจดหมายมาเล่าสู่กันฟัง…
ในอดีต ระบบไปรษณีย์ถือเป็นสิ่งที่คอบทำให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ระยะไกลมาตั้งแต่โบราณ เห็นได้จากอารยธรรมต่างๆ ที่วางรากฐานระบบไปรษณีย์เพื่อส่งข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ จีน เปอร์เซีย หรือโรมัน
กระทั่งเมื่อปี 1516 พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ ทรงโปรดให้ตั้งไปรษณีย์หลวง (Royal Mail) กิจการไปรษณีย์ในสหราชอาณาจักรก็ขยับขยายจนเปิดให้บริการแก่สาธารณชนเมื่อปี 1635
หากในตอนนั้น ไปรษณีย์จะจัดเก็บค่าบริการซองจดหมายและค่าจัดส่งกับผู้รับ ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการใช้ซองจดหมาย เพียงแต่นำกระดาษที่เขียนจดหมายไว้มาพับและปิดผนึกแล้วจัดส่ง แล้วให้ผู้รับชำระเงินปลายทาง แต่เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่สูงมาก ผู้คนจึงพยายามปฏิเสธการรับจดหมาย และทางไปรษณีย์ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1840 เซอร์โรว์แลนด์ ฮิลล์ ก็ได้เข้ามาปฏิรูประบบไปรษณีย์ โดยการออก “แสตมป์” (Stamp) หรือ ตราไปรษณียากร ดวงแรกของโลกคือ แสตมป์เพนนีแบล็ค (Penny Black) มีราคาหน้าดวง 1 เพนนี ซึ่งเป็นอัตราค่าไปรษณีย์สำหรับจดหมาย สามารถส่งได้ทุกปลายแห่งด้วยอัตราเดียวกัน ทำให้ผู้รับไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรับจดหมาย และได้ออกแสตมป์ดวงที่สอง คือ แสมตมป์ทูแพนนีบลู (Two penny blue) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 1840
แสตมป์ช่วยให้ทั้งผู้ส่งจดหมายและเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์สะดวกสบาย พร้อมช่วยชดเชยต้นทุนของการบริการไปรษณีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ระบบไปรษณีย์กลายเป็นความนิยมที่ผู้คนนิยมส่งจดหมายหากันในช่วงศตวรรษที่ 19-20
ในไม่ช้า ประเทศอื่นๆ ก็ทำตามสหราชอาณาจักรด้วยการออกแสตมป์ของตนเอง อย่างสวิตเซอร์แลนด์และบราซิลเมื่อปี 1843 หรือสหรัฐฯ ที่ได้ออกแสตมป์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 1847
ตามกฎของสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union-UPU) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1874 กำหนดให้แสตมป์ทุกประเทศจะต้องมีชื่อประเทศและราคาในภาษาอังกฤษ พร้อมมีคำว่า “postage” ซึ่งหมายถึงเป็นการชำระค่าไปรษณีย์อยู่เสมอ แต่เนื่องจากสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ออกแสตมป์ สหภาพสากลไปรษณีย์จึงกำหนดให้สหราชอาณาจักรเป็นชาติเดียวที่ยกเว้นไม่ต้องพิมพ์ชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ดังเช่นของประเทศอื่น ๆ
ส่วนแสตมป์ชุดแรกของไทย คือ แสตมป์ชุดที่หนึ่ง หรือ ชุดโสฬศ เป็นพระบรมสาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ออกเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 (ปี 1883) ประกอบด้วยแสตมป์ราคา หนึ่งโสฬส (ครึ่งอัฐ) , หนึ่งอัฐ, หนึ่งเสี้ยว (สองอัฐ) , หนึ่งซีก (สี่อัฐ) , และหนึ่งสลึง (สิบหกอัฐ) ส่วนแสตมป์อีกดวงราคาหนึ่งเฟื้อง (แปดอัฐ) มาถึงล่าช้าและไม่มีการใช้งานจริงทางไปรษณีย์
แสตมป์ชุดนี้ออกแบบและพิมพ์ที่บริษัท วอเตอร์โลว์แอนด์ซันส์ (Waterlow and Sons) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร หากในช่วงนั้นไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ แสตมป์ชุดนี้จึงยังไม่มีชื่อประเทศปรากฏบนดวง ส่วนแสตมป์ที่สั่งพิมพ์ชุดต่อ ๆ มาเป็นไปตามกฎของสหภาพสากลไปรษณีย์
และเนื่องจากประเทศต่างๆ มักผลิตสแตมป์ที่มีรูปภาพสวยงามน่าสะสม ผู้คนจึงมีการสะสมแสตมป์ (Philately) จนกลายเป็นงานอดิเรกที่นิยมทั่วโลก โดยผู้สะสมจะพยายามหาแสตมป์ให้ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งอาจจะมาจากซองจดหมาย หรือ ซื้อแสตมป์ที่ยังไม่ได้ใช้งานที่ไปรษณีย์ การสะสมแสตมป์ไม่ได้จำกัดเฉพาะแสตมป์เท่านั้น หน่วยงานไปรษณีย์ยังจัดทำของที่ระลึกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาจำหน่ายเพื่อการสะสมโดยเฉพาะ
หากในปัจจุบัน แสตมป์ถูดลดความสำคัญจากการใช้อีเมลและโซเชียลมีเดีย กระนั้น ไปรษณีย์ประเทศต่างๆ ก็ยังคงผลิตสแตมป์ขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานการชำระค่าบริการไปรษณีย์ เพราะผู้คนยังคงมีความจำเป็นใช้จดหมายอยู่…
#twchistory
0 Comment