ก่อนหน้านี้สหรัฐครองความเป็นเจ้าการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสื่อสารมาหลายสิบปี แต่มาช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ จีนได้ทุ่มงบประมาณและขยับขึ้นมาท้าทายตำแหน่งผู้นำเทคโนโลยีจนสูสี
จากนโยบาย “เมดอินไชน่า 2025” สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ได้ลุกลามไปสู่สงครามเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 เต็มรูปแบบเพื่อชิงความเป็นผู้นำเทคโนโลยีสำคัญอย่าง 5 จี, ปัญญาประดิษฐ์และสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) นำไปสู่การแย่งชิงตลาดอย่างดุเดือดจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทุกหย่อมหญ้า
บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านไปย้อนดูที่มาที่ไป กับประเด็นและความเคลื่อนไหวของการต่อสู้ครั้งนี้ครับ
เทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21
เทคโนโลยีการสื่อสารและไฮเทคเป็นตลาดใหญ่ในศตวรรษที่ 21
เฉพาะจีนประเทศเดียว ซึ่งเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนรายใหญ่สุดของโลก
มีการคาดการณ์แล้วว่าเครือข่ายมือถือ 5 จีน่าจะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้น 3.3 ล้านล้านหยวน (491,000 ล้านดอลลาร์) ในเวลา 5 ปี และคาดว่าจะทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกเป็นมูลค่า 10 ล้านล้านหยวนในช่วงเวลาเดียวกัน
ขณะเดียวกันสารกึ่งตัวนำ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าตั้งแต่สมาร์ตโฟนไปจนถึงยานอวกาศ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและต้องใช้ความแม่นยำอย่างยิ่ง
…ในอนาคต เราอาจได้เห็นสงครามการชิงความเป็นเจ้าเทคโนโลยีนี้ ที่ประชาชนกว่าครึ่งโลกใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอย่างอะเมซอน, กูเกิล, เฟซบุ๊กและเทสลา แต่อีกครึ่งโลกใช้รถยนต์ไร้คนขับจากไป๋ตู้, มือถือ 5 จีจากหัวเว่ย, ช็อปปิ้งออนไลน์กับอาลีบาบา และเล่นโซเชียลบนวีแชตก็เป็นได้
เมดอินไชนา 2025
นักวิเคราะห์ชี้ว่า จุดเริ่มต้นของสงครามเทคโนโลยีครั้งนี้ มาจากนโยบาย เมดอินไชน่า 2025 แผนเปลี่ยนจีนให้เป็น “ชาติผู้ผลิตรายใหญ่สุดของโลก” ในกรอบเวลา 10 ปี
เป้าหมายของโครงการคือการเพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบสำคัญที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 70% ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้จีนลดการพึ่งพาการนำเข้า และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการไฮเทค ตลอดจนให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ เพราะจีนมองว่าความก้าวหน้าในเทคโนโลยีชิปจะนำไปสู่ความก้าวหน้าด้านอื่นๆ ตามมา
จีนทุ่มงบประมาณให้กับโครงการนี้ไปแล้ว 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ในช่วงการระบาดของโควิด-19
ชาติตะวันตกมีปฏิกิริยาที่รุนแรงต่อเรื่องนี้ โดยเฉพาะสหรัฐ ดังที่นักการเมืองอเมริกันสายเหยี่ยวบางคนเรียกแผนของจีนว่าเป็นการไม่แยแสกฎการค้าระหว่างประเทศ “อย่างโจ๋งครึ่ม” และนำไปสู่การเพิ่มงบลงทุนด้านเทคโนโลยีในชาติยุโรปและสหรัฐในทันที
จากสงครามการค้าสู่สงครามเทคโนโลยี
สงครามการค้าจีน-สหรัฐเริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2018 เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐตั้งกำแพงภาษีศุลกากรจากสินค้าจีนที่นำเข้าสู่สหรัฐ โดยอ้างว่าเพื่อลดการขาดดุล ทำให้เกิดการปรับภาษีศุลกากรตอบโต้กันไปมาระหว่างปี 2018 และ 2019
นโยบาย “อเมริกามาก่อน” ของทรัมป์มีการเรียกร้องให้สหรัฐลดการพึ่งพาสายการผลิตจากจีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอยู่บ้างจากผู้นำบริษัทใหญ่ เช่น อดีตซีอีโอของกูเกิล เอริก ชมิดท์
อย่างไรก็ตาม ในเวลาไม่นานความสนใจก็ได้ถูกกลบด้วยสงครามเทคโนโลยีแทน สืบเนื่องจากความกลัวของสหรัฐว่าจีนกำลังใช้วิธีการแข่งขันแบบ “ไม่ยุติธรรม” เช่น การอุดหนุนจากภาครัฐ และการขโมยทรัยพ์สินทางปัญญา
มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เช่น การลงโทษบริษัทโทรคมนาคมจีน ZTE ที่ปกปิดการขายเทคโนโลยีสหรัฐให้อิหร่าน และรายงานของผู้แทนการค้าสหรัฐที่กล่าวหาว่าจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับให้บริษัทต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจต้องมอบเทคโนโลยีให้จีน
…แต่เป้าหมายรายใหญ่ของสหรัฐ คือ บริษัทหัวเว่ย
หัวเว่ย
รัฐบาลสหรัฐมีความกังวลต่อบริษัทหัวเว่ยมาตั้งแต่ทศวรรษ 2000s เนื่องจากเชื่อว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน เมื่อมารวมกับการก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5 จียิ่งทำให้รัฐบาลอเมริกันหวาดระแวงยิ่งขึ้น
สหรัฐพยายามโน้มน้าวชาติต่างๆ ไม่ให้ใช้เทคโนโลยี 5 จีของหัวเว่ย และในช่วงปี 2018 รัฐบาลสหรัฐเริ่มออกกฎหมายกีดกันหัวเว่ยต่างๆ เช่น สั่งให้บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ เอทีแอนด์ที งดขายสินค้าหัวเว่ยในสหรัฐ และสั่งห้ามหน่วยงานของรัฐทุกแห่งใช้อุปกรณ์จากหัวเว่ย
ต่อมาในกลางปี 2019 ยังขึ้นบัญชีหัวเว่ยห้ามทำธุรกิจกับบริษัทสัญชาติอเมริกันก่อนได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลสหรัฐ
ผลจากการสั่งห้ามเอกชนจีนเข้าถึงเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำที่สหรัฐเป็นผู้นำอยู่ ทำให้รัฐบาลจีนเร่งดำเนินการเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐเป็นการตอบโต้
เมื่อเดือน ธ.ค. 2018 ยังมีการจับกุมซีเอฟโอหัวเว่ย เหมิง หวันโจว ด้วยข้อหาทำธุรกรรมกับอิหร่านฝ่าฝืนการคว่ำบาตรในประเทศแคนาดา และกำลังต่อสู้เพื่อไม่ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐ
…จีนตอบโต้ด้วยการจับกุมชาวแคนาดา 2 คน…
ด้านหัวเว่ยก็ดูจะได้รับผลกระทบหนักขึ้น หลังกลางเดือน พ.ค. 2020 รัฐบาลสหรัฐสั่งให้บริษัทผู้ผลิตชิปทั่วโลกที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐ ต้องขอใบอนุญาตก่อนขายชิปให้หัวเว่ย ทำให้กำไรของบริษัทชะลอตัวน้อยที่สุดในรอบทศวรรษ สืบเนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนสมาร์ตโฟน
นอกจากหัวเว่ยซึ่งเป็นข่าวดังแล้ว ยังมีบริษัทอื่นๆ อีกหลายสิบบริษัทของจีน ทั้งที่เป็นบริษัทเทคโนโลยี เอไอ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์และหน่วยงานความมั่นคงของจีนถูกสั่งห้ามเพิ่มเติมด้วยหลายสาเหตุ ได้แก่ การกล่าวหาว่าใช้เทคโนโลยีเพื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนมุสลิมอุยกูร์ (โดยเฉพาะพวกเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าและสอดแนม), การกล่าวหาว่าสนับสนุนกองทัพจีน, หรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐ
ระบบการเงิน
นอกจากนี้ระบบการเงินโลกอาจเป็นอีกหนึ่งแนวรบของสงครามเทคโนโลยี ทุกวันนี้เงิน 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐมีการชำระเงินผ่านระบบสวิฟต์ (Swift) ทำให้สหรัฐมีอำนาจควบคุมระบบการเงินโลกอย่างมหาศาล
หากรัฐบาลสหรัฐสั่งตัดธนาคารและเอกชนจีนจากตลาดเงินระหว่างประเทศเมื่อไร่ ย่อมจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจจีนอย่างประเมินไม่ได้
ดังนั้นการประกาศตัวหยวนดิจิทัลของจีนเมื่อปี 2020 โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายระบบนี้ให้แพร่หลายโดยเร็วที่สุด จึงมองกันว่าเป็นวิธีการลดการพึ่งพาระบบการเงินที่สหรัฐควบคุมอยู่
…ทุกวันนี้สกุลเงินหยวนดิจิทัลมีการใช้ในประเทศพม่า ลาวและเวียดนามแล้ว
ท่าทีของไบเดน
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ยังคงแนวนโยบายเรื่องการจำกัดจีนจากสมัยทรัมป์ โดยมีการยกระดับแรงกดดันต่อบริษัทเทคโนโลยีของจีน
นักวิเคราะห์บางส่วนยังมองว่า การปรับโทนเสียงให้นุ่มนวลขึ้นน่าจะช่วยทำให้พันธมิตรของสหรัฐเต็มใจปฏิบัติตามนโยบายจำกัดบริษัทของจีนมากขึ้นกว่าในสมัยทรัมป์
ไบเดนยังสร้างวาทกรรมโดยระบุว่าการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐจะเป็นการต่อสู้ในรอบชั่วอายุคนระหว่างประชาธิปไตยกับอัตตาธิปไตย
เขาประกาศทุ่มงบประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดการพึ่งพาชิปนำเข้าจากต่างประเทศ และยังตั้งเป้าว่าจะเพิ่มงบประมาณการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็น 2 เท่า โดยเน้นด้านเอไอและควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการขานรับจากสมาชิกสภาทั้ง 2 ขั้ว
ผลที่อาจคาดไม่ถึง
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจีนอย่างวีแชต อาลีบาบาและไป๋ตู้ได้สร้างโลกอินเทอร์เน็ตต่างจากส่วนอื่นของโลกที่ใช้เฟซบุ๊ก อะเมซอนและกูเกิล เป็นต้น หลังจากรัฐบาลจีนสั่งแบนโซเชียลมีเดียอเมริกันเพื่อสร้าง “การคุ้มกัน” ให้แก่บริษัทเทคโนโลยีจีนที่เต็มใจยอมรับข้อกำหนดทางการเมืองของรัฐบาลจีน
“จีนกำลังสร้างอินเทอร์เน็ตของตัวเองโดยเน้นค่านิยมที่ต่างออกไป และกำลังส่งออกวิสัยทัศน์อินเทอร์เน็ตของตัวเองไปยังประเทศอื่น” มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กกล่าว
เทคโนโลยีไฮเทคปัจจุบันล้วนมีสายการผลิตข้ามประเทศที่ซับซ้อน โดยมีการผลิตชิ้นส่วนในหลายประเทศ
ถ้าสองมหาอำนาจจ้องกีดกันอีกฝ่ายออกจากการผลิต อนาคตอาจได้เห็นการพัฒนาเครือข่ายการค้าและการลงทุนคู่ขนานแบบไม่พึ่งพาอาศัยกันเลย
การแบ่งแยกด้วยตลาดอาจตามมาด้วยการแบ่งแยกสังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจำกัดนักเรียนแลกเปลี่ยน การให้ยืมตัวแรงงาน และความร่วมมือการวิจัยและการพัฒนาอย่างอื่นก็เป็นได้
แนวโน้มที่น่าสนใจ
แนวโน้มทางการเมืองและธุรกิจที่น่าสนใจมี 3 ด้าน
(1) เครือข่ายโทรคมนาคมโลกต้องรองรับการเข้าใช้ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจมองหาเครือข่าย 5 จี ซึ่งมีความกว้างแถบความถี่ (bandwidth) กว้างขึ้นและเวลาแฝง (latency) ต่ำ ในอนาคตอันใกล้เชื่อว่าจะได้เห็นชาติตะวันตกตามตีตื้นหัวเว่ยในการพัฒนาเครือข่าย 5 จีของตนเอง
(2) อุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำเป็นเครือข่ายที่โยงใยกันทั่วโลก และนโยบายลดการพึ่งพาอาศัยกันจะทำให้ทุกฝ่ายเสียประโยชน์ เอกชนจีนและสหรัฐต่างกำลังจับตามองหาสมดุลใหม่จากรัฐบาลไบเดน
(3) ทั้งจีน สหรัฐและยุโรปต่างเห็นตรงกันในการเพิ่มการวางระเบียบบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยจีนจะมีการใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายป้องกันการผูกขาดฉบับใหม่ ขณะที่สหรัฐพยายามมองหาทางประนีประนอม เพื่อความตึงเครียดด้านการเผชิญหน้า แต่ยังรักษาระยะห่างในการพัฒนาเทคโนโลยีออกใหม่ๆ เพื่อขับเคี่ยวกันผ่านกลไกตลาด นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังคงเดินหน้าสร้างอิทธิพลผ่านนโยบายความมั่นคงด้านข้อมูลข่าวสารกับประเทศพันธมิตรต่างๆ
0 Comment