ปราชญ์ชาวฝรั่งเศส โฌแซฟ เดอะ แมสทร์ (Joseph de Maistre) เคยกล่าววาทะว่า “ทุกประเทศล้วนมีรัฐบาลที่ประเทศนั้นๆ สมควรได้รับอยู่แล้ว” และสหรัฐเมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ได้เลือก “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดี 1 สมัยให้กลับมาดำรงตำแหน่งประมุขอีกครั้ง

ว่ากันตามเนื้อผ้าคนแบบโดนัลด์ ทรัมป์ดูแล้วคงไม่ใช่ตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่คนทั่วไปจะไว้วางใจให้มาดำรงตำแหน่งบริหารได้เลย เพราะเขามีทั้งประวัติคดโกง ล้มละลาย นอกใจภรรยา พูดจาสร้างความเกลียดชังและแตกแยก ไปจนถึงยักยอกเงิน ในช่วงรัฐบาลชุดที่แล้วเขายังมีข้อครหาจากการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและเอาตำแหน่งมาหาประโยชน์เข้าตน ฯลฯ คือพูดได้อีกอย่างว่าเขาไม่ใช่คนที่พ่อแม่จะใช้เป็น “บุคคลตัวอย่าง” ให้เป็นคนดีของสังคมอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามเขาคนนี้คือผู้ได้รับอาณัติตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก …นั่นเป็นสัญญาณของอะไรบางอย่างที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันกำลังส่งออกมาหรือเปล่า? 

ดังนั้นในบทความนี้ The Wild Chronicles จึงขอพาทุกท่านมาร่วมวิเคราะห์ปัญหาภายในสังคมอเมริกันจนนำมาสู่การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของนักการเมืองที่ฉีกทุกตำรา หักทุกปากกาเซียนคนนี้กันครับ

Note: บทความนี้เขียนขึ้นไม่ได้มีเจตนาดูถูกหรือบอกว่าคนที่เลือกทรัมป์เลือกถูกหรือผิด แต่ใจความต้องการสื่อให้เห็นสาเหตุและปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้คนจำนวนมากเลือกทรัมป์นะครับ

 

สาเหตุที่โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้งมีการวิเคราะห์ออกมาหลากหลายไม่สามารถชี้ชัดลงไปเพียงสาเหตุเดียวได้ อย่างไรก็ตามมีการขยายความหลายๆ ปัจจัยที่เชื่อกันว่ามีส่วนทำให้เขาก้าวกระโดดจากคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองและรับราชการทหาร (ประธานาธิบดีหลายๆ คนเป็นทหารมาก่อนเข้าสู่วงการเมือง) จนชนะผู้คร่ำหวอดหลายๆ คนมาได้ โดยปัจจัยที่มีส่วนทำให้ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐนั้นอาจเนื่องมาจากสหรัฐเป็นสังคมที่…

1. …มองว่าทรัมป์เป็นคนที่ “เข้าใจประชาชน”

เรื่องที่ทำให้ทรัมป์มีภาพ “เข้าใจประชาชน” จากคนที่เลือกเขาเข้ามา นั่นเป็นเพราะเขาเป็นพวกอยากพูดอะไรก็พูดโดยไม่ค่อยสนใจผลกระทบที่จะตามมาหรือความรู้สึกของผู้ฟัง แต่ผู้สนับสนุนเขาจะมองว่าทรัมป์มักพูดในสิ่งที่ประชาชนคิดอยู่แต่ไม่กล้าพูดออกมา 

โดยบริบทในช่วงก่อนทรัมป์ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 นั้นเป็นสังคมแนวคิดเรื่อง “ความถูกต้องทางการเมือง” (political correctness) กำลังเบ่งบาน ซึ่งเป็นแนวคิดเรียกร้องให้ลดทอนการกระทำต่างๆ ที่จะล่วงเกิน ทำร้ายจิตใจหรือด้อยค่าชนกลุ่มน้อย ผู้ที่ยังปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในแบบเดิมที่เคยทำตามๆ กันมาล้วนถูกติฉินนินทาจนกลายเป็นรู้สึกว่าถูกกดขี่อยู่ นอกจากนี้ยังมีการวิจารณ์ว่าสื่อมักปกปิดเรื่องราวที่เป็นผลเสียต่อชนกลุ่มน้อยจนกลายเป็น “อคติ” ไปด้วย 

…เมื่อทรัมป์เป็นคนกล้าพูด เช่น “จับจิ๋มผู้หญิง”, “คนเม็กซิกันเป็นอาชญากร พ่อค้ายา และมือข่มขืนกระทำชำเรา”, เรียกประเทศแอฟริกาว่าเป็น “บ่อขี้” หรือกล้าออกนโยบายต่อต้านมุสลิมโดยไม่เกรงข้อครหาว่าเกลียดอิสลาม (Islamophobia) จึงทำให้คนที่คิดตรงกันชื่นชมมาก (ทั้งๆ ที่ทรัมป์ก็เคยลั่นว่า “ผมรักคนการศึกษาไม่ดี” เป็นการพาดพิงถึงฐานเสียงตัวเองด้วยซ้ำ) แถมสื่อใหญ่ๆ ยัง “ให้แสง” ทรัมป์อีก นี่ทำให้ทรัมป์สามารถโปรโมตตัวเองได้โดยไม่ต้องเสียเงินด้วย

ที่ผ่านมานักการเมืองมักถูกตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นพวกขี้โกหก ทรัมป์เองก็ไม่ใช่ไม่เคยโกหก ออกจะมากกว่านักการเมืองหลายๆ คนด้วยซ้ำ แต่มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าทรัมป์ใช้ความไม่แน่นอนของอุดมการณ์ตัวเอง ทำให้หลายๆ ครั้งคำพูดของเขาแม้กลับไปกลับมา แต่คนฟังที่ชมชอบก็จะตีความให้ตรงกับสิ่งที่ตัวเองเชื่ออยู่แล้ว ทำให้สุดท้ายคนยังมองสิ่งที่เขาพูดในเชิงบวกอยู่ดี

2. …เศรษฐกิจกำลังฝืดเคือง และคนกังวลกับอนาคต

แอนดรูว์ แยง (Andrew Yang) อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เคยกล่าวว่า “ในสังคมที่บริบูรณ์พรั่งพร้อม คนจะพร้อมแบ่งปัน ส่วนในสังคมที่มีความขัดสน คนจะเห็นแก่ตัว” 

จากการศึกษาพบว่าอาจมีคนอเมริกันสูงถึง 78% ที่ต้องอยู่แบบเดือนชนเดือน คือหมุนเงินแทบไม่ทัน ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐจะยังเติบโตในภาพรวม แต่ความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาอยู่ทำให้คนจนและชนชั้นกลางระดับล่างยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งมาได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นหลังโควิด จึงทำให้คนไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

อันที่จริงปัญหาความเหลื่อมล้ำหลายๆ อย่างเกิดจากค่าแรงที่ไม่ปรับตามผลผลิตที่เติบโตมาในช่วงหลายสิบปีหลัง รวมถึงนโยบายเพื่อกระจายรายได้ เช่น การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและรัฐสวัสดิการต่างๆ ยังทำได้ไม่ดีพอ …ผลก็คือคนจึงพยายามหานักการเมืองที่จะมาแก้ปัญหาทำให้ชีวิตตนดีขึ้น

ทรัมป์คือคนที่มาชี้บอกว่าผู้อพยพและคนเข้าเมืองต่างๆ เป็นต้นเหตุเพราะแย่งงานและงอมืองอเท้ารับสวัสดิการ (ซึ่งจริงๆ เหตุผลสองข้อนี้ย้อนแย้งกันเอง เพราะถ้าเข้าเหตุผลข้อหนึ่งจะไม่เข้ากับอีกข้อหนึ่ง) ทำให้คนพร้อมเชื่อว่าหากเลือกทรัมป์เข้ามาตนจะได้งานและสวัสดิการส่วนที่เป็นของคนเข้าเมืองเหล่านี้กลับคืนมา รวมทั้งบีบให้บริษัทห้างร้านต่างๆ รับคนอเมริกันเข้าทำงานและเพิ่มค่าตอบแทนให้กับงานบางอย่างที่ไม่จูงใจชาวอเมริกัน โดยไม่ได้สังเกตเลยว่านายทุนส่วนใหญ่ที่จ้องตัดสวัสดิการแรงงานคือนายทุนที่บริจาคให้พรรครีพับลิกันนั่นเอง

ดังนั้นความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีและความกังวลต่อสุขภาพทางการเงินทำให้คนมองหาตัวต้นเหตุซึ่งเชื่อว่าคือผู้อพยพและคนเข้าเมืองนั่นเอง โดยที่ไม่ได้แตะต้องการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรมจริงๆ 

3. …คนเบื่อหน่ายวาทกรรม “ความชั่วร้ายที่น้อยกว่า” (Lesser Evil)

สหรัฐมีระบบสองพรรคการเมืองใหญ่มาช้านาน แถมยังใช้ระบบเลือกตั้งแบบผู้ชนะกินรวบไม่สนใจคะแนนเสียงตกน้ำแทบจะ 100% เสียอีก ทำให้ตัวเลือกของชาวอเมริกันในการเลือกตั้งแต่ละครั้งมีอยู่จำกัดมากๆ

สำหรับสองพรรคการเมืองใหญ่ย่อมมีฐานเสียงของตัวเองส่วนหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้นที่ผ่านมาคนที่จะตัดสินผลการเลือกตั้งสำคัญๆ ในสหรัฐจึงเป็นคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคใดที่อาจโหวตให้ผู้สมัครจากพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วแต่นโยบายและคุณสมบัติของผู้สมัคร

และหนึ่งในสาเหตุที่คนยังไม่สังกัดพรรคใดพรรคหนึ่งเพราะพวกเขามองว่าผู้สมัครจากทั้งสองพรรคนั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก คือมีข้อเสียข้อตำหนิทั้งคู่ และในการเลือกตั้งแต่ละครั้งการจูงใจมักเป็นการโจมตีอีกพรรคหนึ่งเพื่อบอกว่าอีกฝ่ายเป็น “ความชั่วร้ายที่มากกว่า” โดยเฉพาะในการเลือกตั้งสามครั้งหลังที่ทรัมป์เป็นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันทุกครั้ง วาทกรรมนี้ถูกหยิบมาใช้บ่อยครั้งมาก แปลว่าแม้สองพรรคจะมีนโยบายที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สุดท้ายสิ่งที่อาจเป็นตัวตัดสินกันจริงๆ คือการวัดว่าสังคมจะยอม “กัดฟัน” เลือกใครเพื่อขวางอีกคนหนึ่งไม่ให้เป็นประธานาธิบดี

จากการศึกษาพบว่าในการเลือกตั้งปี 2024 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป คนที่ไม่สังกัดพรรคใดที่ตัดสินใจจากประเด็น “ความชั่วร้ายที่น้อยกว่า” นั้นเลือกทรัมป์มากกว่าแฮร์ริส จึงทำให้แม้แฮร์ริสจะมีนโยบายหลายๆ อย่างที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ (ดูข้อ 2. ข้างต้น) แต่สุดท้ายการสื่อสารในประเด็นนี้ที่ไม่ดีเท่าที่ควรจึงทำให้คนกลับไปเลือกจาก “การตัดชอยส์” แบบเดิมอยู่ดี…

4. …พวกเหยียดเชื้อชาติและชูคนขาวยังมีอยู่ไม่หายไปไหน

ที่ผ่านมาคนอเมริกันมักยืนยันว่าสังคมได้ก้าวข้ามยุคเหยียดเชื้อชาติสีผิวแล้วตั้งแต่เลือกตั้งโอบามาเป็นประธานาธิบดี และคนที่ยังคงหยิบยกประเด็นเหยียดเชื้อชาติขึ้นมาโจมตีนั้นเป็นการ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ถึงขั้นมีคนมองว่าทุกวันนี้คนขาวยังถูกเหยียดเชื้อชาติมากกว่าคนดำด้วยซ้ำ (แต่ถามคนขาวก็ไม่มีใครอยากสลับมาเป็นคนดำหรอกนะ)

หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว (2020) สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลุ่มคนที่มีความเชื่อในเรื่องเหยียดเชื้อชาติและเชิดชูคนขาวเป็นใหญ่ (white supremacist) ออกมาชุมนุมแสดงพลังกันมาก โดยพวกนี้เชื่อว่าคนขาวมีคุณสมบัติหลายๆ อย่างดีกว่ากลุ่มอื่น และโจมตีกลุ่มอื่น เช่น คนผิวดำว่ามีสันดานโจร ขี้เกียจและไม่ฉลาด บางทีถึงขั้นลงมือก่อเหตุกับชนกลุ่มน้อยอีกด้วย จนในช่วงหลังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่าง FBI ระบุว่าพวกขวาจัดเหล่านี้เป็นภัยคุกคามการก่อการร้ายใหญ่สุดในประเทศ (ซึ่งเป็นเรื่องย้อนแย้งเพราะคนมักโทษคนเข้าเมืองและมุสลิมว่าอาจเป็นตัวการก่อการร้ายในประเทศ)

และหลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2024 ได้มีบุคคลนิรนามส่งข้อความถึงคนผิวดำในบางพื้นที่ของประเทศมีเนื้อหาให้ไปรายงานตัวใน “ไร่ฝ้าย” ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงยุคทาสก่อนสงครามกลางเมืองที่ทาสผิวดำยังต้องมาเก็บเกี่ยวในไร่ฝ้ายในภาคใต้ของสหรัฐ

พฤติกรรมทั้งสองนี้สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดฝ่ายขวาต่างๆ ที่เฟื่องฟูขึ้นในช่วงหลัง เช่น การต่อต้านคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย มุสลิม และคนต่างด้าวซึ่งมักเป็นคนผิวดำและผิวน้ำตาล (blown people, หมายถึงชาวละตินอเมริกาและเอเชีย) แม้จะอ้างเรื่องเศรษฐกิจหรือความมั่นคง แต่จริงๆ มีความเหยียดเชื้อชาติแฝงอยู่ด้วย

นอกจากนี้สถิติประชากรเริ่มบ่งชี้ว่าในอนาคตอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า คนผิวขาวอาจไม่ได้กลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ในสหรัฐอีกต่อไป จนถึงกับเชื่อทฤษฎีสมคบคิดว่ามีคนชักใยอยู่เบื้องหลังที่เรียกว่า “Great Replacement Theory” กลุ่มฝ่ายขวาบางกลุ่มอาศัยความกลัวเหล่านี้ในการปลุกให้คนเลือกตนเองและโจมตีชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพราะความกังวลว่าสุดท้ายตัวเองจะเสียตำแหน่งนำในสังคมไปอีกด้วย

5. …อิทธิพลศาสนาคริสต์กำลังเพิ่มขึ้น

หนึ่งในฐานเสียงที่โดดเด่นที่ช่วยผลักดันทรัมป์ให้ชนะการเลือกตั้ง คือ กลุ่มคริสเตียนอิแวนเจลิคัล (Evangelical) ความหมายคือคริสตศาสนิกชนที่เชื่อในเรื่องการประกาศข่าวดีหรือการเผยแผ่คำสอนของพระเยซู

แม้ว่าทรัมป์ดูจะเป็นคนที่ห่างไกลจากภาพเป็นคนบริสุทธิ์ผุดผ่องตามแนวทางศาสนา แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มศาสนาในสหรัฐกลับเทคะแนนให้ทรัมป์อย่างขาดลอย โดยเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มนี้สนับสนุนทรัมป์เป็นเพราะเขาสนับสนุนการเพิ่มบทบาทของศาสนาคริสต์ในสังคม และในช่วงหลังกระแสเพิ่มบทบาทของศาสนาคริสต์ในสังคมได้เพิ่มขึ้น เช่น การเสนอให้มีบัญญัติ 10 ประการในโรงเรียนรัฐค

รวมถึงความกล้าในการผลักดันนโยบายต่อต้านการทำแท้ง ต่อต้านกลุ่มทรานส์และยังหาเสียงว่าจะเพิ่มการสนับสนุนและคุ้มครองศาสนาคริสต์ประดุจเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งเดิมทีสหรัฐไม่มีศาสนาประจำชาติ และบิดาผู้ก่อตั้งชาติสหรัฐได้วางรากฐานแนวคิด “การแบ่งแยกศาสนจักรกับอาณาจักร” แปลว่าศาสนากับการเมืองจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกัน …สิ่งนี้ช่างคล้ายกับ “แอร์โดอัน” ผู้นำตุรกี ที่เปลี่ยนตุรกีจากรัฐฆราวาสให้เป็นรัฐศาสนาเช่นกัน

ในเมื่อทรัมป์สามารถให้สิ่งที่ศาสนิกเหล่านี้เรียกร้อง พวกเขาจึงพร้อมที่จะมองข้ามข้อเสียหลายๆ อย่างที่ไม่ตรงกับคำสอนตามศาสนา ถึงกับบอกว่าชัยชนะของทรัมป์คือ “พระประสงค์ของพระเจ้า” เลยทีเดียว

6. …ผู้ชายกับผู้หญิงเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงหลังสหรัฐเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ช่องว่างระหว่างเพศ” ในทางการเมือง เมื่อผู้หญิงทุกช่วงวัยมีแนวคิดเสรีนิยมหรือเอียงซ้ายมากขึ้น (แต่เป็นความหมายในบริบทการเมืองสหรัฐนะครับ จริงๆ ไม่ได้ซ้ายเหมือนกับยุโรป)

ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้คือสิ่งที่เรียกว่า “ชายผิวขาวเจ้าโทสะ” (angry white men) ซึ่งอธิบายว่าผู้ชายผิวขาวรู้สึกไม่พอใจจากนโยบายสนับสนุนผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยในด้านต่างๆ ทั้งโอกาสเข้าทำงานไปจนถึงทุนการศึกษาที่มีการจัดสรรให้กับกลุ่มหลัง …และมีนักวิชาการออกมายืนยันว่าทุกวันนี้ผู้ชายกำลังได้ผลลัพธ์ทางการศึกษาน้อยกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงยังได้รับการสนับสนุนมากกว่าผู้ชายอยู่ ไม่รวมถึงความคาดหวังต่างๆ ที่สังคมให้ผู้ชายแบกรับ นั่นจึงทำให้กลายมาเป็นความคับข้องใจที่ระบายออกมาในการเลือกพรรคฝ่ายขวาที่แสดงบทขึงขังและ “มาดแมน” กว่าอีกพรรคที่เน้นชูความเสมอภาคมากกว่า

7. …หมั่นไส้พวก woke และลิเบอรัล

และอีกประเด็นหนึ่งที่สมควรกล่าวถึงคือความขัดแย้งที่กำลังร้อนระอุระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยมในทางวัฒนธรรมใน “สงครามวัฒนธรรม” โดยที่ผ่านมากลุ่ม woke ที่เรียกร้องความหลากหลายและความเสมอภาคทางสังคมด้านต่างๆ ถูกโจมตีว่าใช้วิธีการไม่เหมาะสมรวมถึงยัดเยียดเข้ามาในสื่อต่างๆ มากเกินไป รวมไปถึงนโยบาย DEI และ affirmative action ที่ต้องการให้มีการสงวนสัดส่วนชนกลุ่มน้อยในการจ้างงานต่างๆ

บ่อยครั้งฝ่ายตรงข้าม woke มักบอกว่า woke มักกดขี่ฝ่ายที่เห็นต่างไม่ให้แสดงความเห็นได้อย่างอิสระโดยมีมาตรการกดดันอย่างเช่นการ cancel รวมทั้งมีความคิดประเภทตัวข้าประเสริฐกว่าเอ็ง (holier than thou) แม้ว่าจริงๆ แล้วฝ่ายขวาเองก็มีการยกตนว่ามีคุณธรรมสูงส่งกว่า เช่น การเคร่งศาสนาและไม่ฆ่าทารกในครรภ์เช่นกัน 

จึงสรุปได้ว่าการต่อต้านแนวคิดและแนวทางบางอย่างของ woke และลิเบอรัลนำให้คนบางกลุ่มหันไปเลือกทรัมป์ที่เป็นตัวแทนของการต่อต้านกลุ่มนี้นั่นเอง 

 

และทั้ง 7 ข้อนี้เป็นเหตุผลเด่นๆ ที่มีคำอธิบายออกมาว่าเหตุใดสังคมอเมริกันจึงเลือกคนอย่างทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดีนะครับ แน่นอนบทความนี้ไม่ได้จะสื่อว่าคนที่เลือกทรัมป์มีเพียง 7 เหตุผลนี้ หรือไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามาประกอบการตัดสินใจ แต่เชื่อว่าทั้งหมดน่าจะช่วยทำให้ท่านมองเห็นบริบทบางอย่างในสังคมอเมริกันจนกลายมาเป็น “สมควร” กับผู้นำอย่างเขานั่นเอง