อาชีพ “ทนายความ” เป็นอาชีพที่มีความจำเป็นในสังคมสมัยใหม่ เพราะระบบกฎหมายที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่คนทั่วไปจะดำเนินการทางกฎหมายหรือต่อสู้คดีด้วยตัวเองได้เลย
และในฐานะที่ทนายความเป็นอาชีพที่อยู่กับคนที่กำลังประสบความทุกข์ใจกับปัญหากฎหมาย และเข้าไปทำงานใกล้ชิดกับลูกความ ดังนั้นอาชีพทนายความจึงต้องประพฤติตนอย่างมีจริยธรรมและจรรยาบรรณ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือและมิให้มีมลทินด่างพร้อยต่อวิชาชีพ
ทว่าในช่วงหลังสังคมไทยได้สัมผัสกับผู้ประกอบอาชีพทนายความหลายคนที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำตัวหากินกับลูกความ ทั้งเพื่อชื่อเสียงเกียรติยศของตัวเอง การหลอกลวงและเอารัดเอาเปรียบลูกความ ไปจนถึงการเข้าข้างฝ่ายที่เป็นจำเลยอย่างออกนอกหน้าและไม่สนใจความถูกผิด …ทั้งหมดนี้อาจเป็นภาพจำของอาชีพทนายความสำหรับใครหลายๆ คนที่เคยประสบกับตัวเองมาก่อน
ดังนั้นในบทความนี้เราลองมาดูกันว่าอาชีพทนายความตัวร้ายในประวัติศาสตร์จะมีใครบ้าง? วีรกรรมของพวกเขาจะเป็นอย่างไร? มาติดตามได้ในบทความทางเว็บไซต์ The Wild Chronicles กันครับ
ที่มาของอาชีพทนายความ
อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่อาจมีต้นกำเนิดมาจากยุคกรีกโบราณ แม้ในสมัยนั้นเป็นยุคที่ประชาชนจะต้องขึ้นมาว่าความแก้ต่างให้ตัวเองด้วยวาทศิลป์ แต่ก็การให้ “เพื่อน” มาว่าความแทนให้ ทั้งนี้คนที่มาว่าความแทนให้จะรับค่าจ้างไม่ได้ ทำให้ในยุคนั้นคนที่มาว่าความแทนไม่สามารถโฆษณาตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายได้
ต่อมาในยุคโรมันผู้ปกครองได้เปิดช่องให้คนมาประกอบอาชีพด้านกฎหมายได้โดยไม่มีการวางกฎเกณฑ์มากนัก ยกเว้นการจำกัดเพดานค่าจ้างที่สามารถรับได้ (แต่ในความเป็นจริงก็มักมีการเรียกเก็บเงียบๆ กับลูกความเองแล้วแต่ตกลงกัน) นอกจากนี้ยังมีคนที่หันมามีงานอดิเรกทางด้านนี้ คอยขบคิดเกี่ยวกับสารพันปัญหาทางกฎหมาย จนเกิดเป็นระบบที่ซับซ้อนและมีเทคนิคหยุมหยิมมากมาย เพราะมีการถาม-ตอบไว้โดยคนที่ให้ความสนใจทางด้านนี้โดยเฉพาะนั่นเอง
ในยุคศตวรรษที่ 12 อาจถือได้ว่าเป็นยุคที่เป็นจุดเริ่มต้นของวงการทนายความในสังคมตะวันตกที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีระบบศาล ระบบกฎหมาย ตำราและการศึกษาด้านกฎหมายอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ต่อมาในปัจจุบันสิทธิของผู้ต้องหาในการมีทนายความให้คำปรึกษาทางกฎหมาย แม้ไม่มีเงินจ่ายค่าทนายความรัฐก็จะต้องจัดหาให้ ถือเป็นสิทธิสำคัญเพื่อช่วยให้ผู้ต้องหาได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เรียกได้ว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมากมายจริงๆ
ทนายตัวร้ายในประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบอาชีพทนายความก็ยังคงเป็นมนุษย์ปุถุชน ย่อมมีคนที่ประพฤติตนผิดทำนองคลองธรรมต่อลูกความและสังคมโดยรวม ทนายความบางส่วนอาศัยช่องจากความไว้เนื้อเชื่อใจหรือความไม่รู้ของลูกความเพื่อหาประโยชน์ส่วนตน ตัวอย่างทนายความในกลุ่มนี้ เช่น
1. “ไมเคิล วินเนอร์” (Michael Winner) ทนายความจากรัฐจอร์เจีย สหรัฐ ซึ่งคอยบริการลูกความที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังหญิง ตัวเขานั้นใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยการลักลอบนำสิ่งของที่ผิดกฎเรือนจำไปให้ เช่น ยาเสพติดหรือบุหรี่ และบริการฟรี แลกกับการเชยชมเรือนร่างของผู้ต้องขัง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่วินเนอร์มีเพศสัมพันธ์กับผู้ต้องขังที่พ้นคุกออกมาแล้วด้วย
สุดท้ายวินเนอร์ถูกจับกุมและถูกสั่งให้จำกัดการสัมผัสกับผู้ต้องขังหญิงให้อยู่ในบริเวณลานออกกำลังกายของเรือนจำ…
2. เคสต่อมาที่อาศัยความอับจนของลูกความในการหาประโยชน์ส่วนตัว คือ “โจเซฟ คารามาเดร” (Joseph Caramadre) ทนายความและนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์จากรัฐโรดไอส์แลนด์ สหรัฐ เขาปึ๊งไอเดียจากธุรกิจรับจัดงานศพและโบสถ์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับความตาย จึงลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่าเขาจะมอบเงินสักพันสองพันดอลลาร์สหรัฐแลกกับลายเซ็นของคนป่วยหรือคนชราที่ใกล้เสียชีวิต
แน่นอนว่าสำหรับคนที่ใกล้เสียชีวิตการได้มีเงินเล็กๆ น้อยๆ มาจับจ่ายใช้สอยบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่คารามาเรดทำนั้นก็ไม่ใช่มีจิตใจดีงามอะไรหรอกครับ แต่เขาเอาเงินนี้ไปสมัครประกันชีวิตที่จะจ่ายเงินให้กับผู้เอาประกันที่เสียชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าคารามาเดรเอาประโยชน์เข้าตัวเองไม่ตกถึงญาติผู้เสียชีวิตแม้แต่น้อย (ส่วนใหญ่ไม่ทราบด้วยว่าญาติตัวเองถูกเอาลายเซ็นไปสมัครอะไรแบบนี้) รวมๆ แล้วคารามาเดรทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำถึง 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลา 15 ปี
สุดท้ายแล้วคารามาเดรถูกศาลลงโทษจำคุก 6 ปี และต้องบริการสังคมโดยเฉพาะต่อผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นเวลา 3 พันชั่วโมง…
3. และรายต่อมาคือ “จอห์น มิลตัน เมอริตต์” (John Milton Merritt) ทนายความจากรัฐโอกลาโฮมา สหรัฐ จุดเริ่มต้นมาจากปี 2002 เมื่อเขารับทำคดีละเมิดต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีส่วนรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุที่คร่าชีวิตพ่อแม่ของเด็กหญิงกำพร้ารวม 4 คน เขาต่อสู้คดีจนชนะและได้เงินมาจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเขากลับเชิดเงินที่ได้มาจากจำเลยไปใช้เอง!
ต่อมาดูเหมือนว่าเขาจะยิ่งได้ใจ เพราะยังไปก่อเหตุยักยอกเงินจากเด็กกำพร้าอีกคนหนึ่งที่เป็นลูกความ ไม่รวมถึงก่อเหตุหลอกลวงธนาคารสร้างความเสียหายมูลค่าอีก 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีก …ปัจจุบันเขาเสียชีวิตไปแล้วก่อนที่การพิจารณาคดีจะแล้วเสร็จ
…เรียกได้ว่าทั้งผู้หญิง คนชรา และเด็ก ไม่มีใครรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของทนายความที่ไม่ประสงค์ดีจ้องฉวยโอกาสจากผู้เสียหายในยามทุกข์ยากจริงๆ!
นอกจากประเด็นทนายความจงใจเอาเปรียบลูกความแล้ว ยังมีประเด็นที่ทนายความที่ว่าความให้ฝ่ายจำเลยที่กระทำผิดอย่างชัดเจน แม้ว่าทุกคนควรจะมีสิทธิ์มีทนายความคอยให้คำปรึกษาในการต่อสู้คดี ที่จะแนะนำแนวทางการต่อสู้คดีเพื่อให้ลูกความพ้นจากความผิดตามที่กฎหมายระบุไว้ ไปจนถึงการคอยผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่ทนายความที่ว่าความให้จำเลยเหล่านี้ก็มักจะตกเป็นเป้าโจมตีของสังคมที่มองว่าเป็นการช่วยคนผิดอยู่นั่นเอง ตัวอย่างของทนายความในกลุ่มนี้เช่น:
4. “จอห์นนี่ คอคแครน” (Johnnie Cochran) เป็นทนายความชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมทนายความให้กับโอ. เจ. ซิมป์ซัน (O. J. Simpson) ซิมป์ซันเป็นนักกีฬาและนักแสดงชาวอเมริกัน ที่ตกเป็นจำเลยในคดีฆาตกรรมอดีตภรรยาและแฟนหนุ่มของเธอ คดีนี้ถูกเรียกว่าเป็น “คดีแห่งศตวรรษ” เพราะสื่อให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง ผลสุดท้ายถึงแม้ทางการจะมีหลักฐานมากมายที่สังคมเชื่อว่าจะสามารถเอาผิดซิมป์ซันได้ แต่สุดท้ายคณะลูกขุนก็ตัดสินให้เขาพ้นจากความผิดท่ามกลางเสียงวิจารณ์ต่างๆ (แต่ในคดีแพ่งซิมป์ซันก็แพ้คดีนะ)
สาเหตุที่ทำให้ซิมป์ซันพ้นผิดนี้มีการเสนอไว้หลายข้อ ตั้งแต่การเลือกคณะลูกขุนจากย่านที่คนส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำที่มีประเด็นขัดแย้งกับตำรวจ ไปจนถึงการต่อสู้กับพยานหลักฐานทำให้เกิดข้อสงสัยว่าซิมป์ซันเป็นคนผิดจริง แน่นอนว่าอย่างหลังนี้ทำให้คอคแครนถูกตีตราว่าเป็นคนที่ช่วยคนชั่วให้รอด ทั้งที่คอคแครนมีลูกความอีกหลายคน รวมถึงไมเคิล แจ็กสัน ไปจนถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของผู้ด้อยโอกาสอีกด้วย…
5. และอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในเรื่องการเลือกลูกความที่ฉาวโฉ่ นั่นคือ “ฌักส์ แวร์แฌส์” (Jacques Vergès) ทนายความชาวฝรั่งเศส ซึ่งนอกจากเขาจะมาจากชาติสุดอินดี้แล้ว เขายังเลือกว่าความให้กับบุคคลที่มีชื่อเสียงไม่ดีหลายคน ตั้งแต่อดีตนายทหารนาซี เคลาส์ บาร์บี ที่ถึงกับมีสมญาว่า “จอมเชือดแห่งลียง”, ผู้ก่อการร้าย หมาในคาร์ลอส (Carlos the Jackal) ที่ลงมือก่อเหตุวางระเบิดในยุโรปหลายครั้ง ไปจนถึง “เขียว สัมพันธ์” อดีตผู้นำระดับสูงของเขมรแดง ทั้งยังเคยเสนอตัวจะว่าความให้กับ “ซัดดัม ฮุสเซน” ที่ถูกจับพิจารณาคดีในอิรักด้วย แต่ถูกปฏิเสธไป …จากวีรกรรมเหล่านี้เองทำให้เขาถึงกับได้ฉายาว่า “ผู้สนับสนุนปีศาจ” (Devil’s advocate) จากการรับว่าความให้กับ “คนชั่วร้าย” ทั้งหลายเหล่านี้นี่เอง
จากบทสัมภาษณ์ของแวร์แฌส์ เขายืนยันว่าบนโลกนี้ไม่มีใครชั่วร้าย 100% ทุกคนมีสีเทาทั้งนั้น รวมถึงการดำเนินคดีต่อบุคคลเหล่านี้ก็มีลักษณะ “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” ดังนั้นเขาจึงสามารถตัดสินใจเลือกว่าความให้กับบุคคลเหล่านี้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ!
จะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่ผู้ประกอบอาชีพทนายความตกเป็นข้อครหานั้นมีตั้งแต่พฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบลูกความไปจนถึงการเลือกลูกความที่จะมาว่าความให้ นี่จะเป็นอุทาหรณ์สำหรับทนายความรุ่นหลังที่ควรเรียนรู้ไว้เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยต่อไป
ทนายดีหาได้ที่ไหน?
สำหรับคนนอกการไปข้องแวะกับทนายความที่ไม่ดีจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเรื่องราวปวดหัวที่เกี่ยวข้องกับคดีความเข้าไปอีก บนโลกอินเทอร์เน็ตก็ได้มีคำแนะนำการแยกแยะทนายความที่ดีออกจากทนายความที่ไม่ดีมาไว้ให้ทุกท่านสังเกตกัน รายละเอียด เช่น:
- มีสำนักงานเป็นหลักแหล่ง
- เน้นต่อสู้ด้วยหลักกฎหมาย ไม่ใช่คุยว่าตัวเองมีเส้นสาย รู้จักบุคคลระดับสูง
- ทำสัญญาจ้างว่าความเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่คิดค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากสัญญา
- ไม่แนะนำให้จัดทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ
- มีการประเมินโอกาสชนะคดีพร้อมชี้แจงได้ ไม่ใช่คุยโวว่าชนะคดีแน่นอน
- มีการทำงานร่วมกับลูกความ เช่น มีการซักซ้อมพยานล่วงหน้านานพอสมควร และมีการรายงานความคืบหน้ากับลูกความเป็นระยะ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวช่วยกรองทนายความที่จะมาว่าความให้กับท่านอีกทีหนึ่งนั่นเอง
…และนี่คือเรื่องราวของทนายความซึ่งเป็นอาชีพที่มีความสำคัญในสังคมปัจจุบันที่มีระบบกฎหมายที่ซับซ้อนและมีรายละเอียดยิบย่อยนะครับ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกท่านในการจับตาทนายความที่ไม่ดี และช่วยมองหาทนายความที่ดีที่จะช่วยบรรเทาทุกข์เวลามีปัญหาทางกฎหมายนะครับ…
0 Comment