“เจง เจง เจงกิสข่าน รุกไปที่ไหนใครอย่าขวางรีบเปิดทางรับขุนพล…” นี่คงเป็นพทเพลงที่คนไทยเราคุ้นหูจากวงรอยัล สไปรท์ วงสตริงคอมโบสัญชาติไทยซึ่งเล่าเรื่องราวของยอดนักรบและมหาบุรุษแห่งมองโกลอย่าง “เตมูจิน” หรือ “เจงกิสข่าน” จนคนไทยจดจำบทเพลงและท่านมหาข่านผู้นี้ได้ และบางครั้ง เราอาจเผลอพูดคำว่า เจงกิสข่าน เป็นทำนองเพลงนี้โดยไม่รู้ตัว

หากท่านทราบหรือไม่ว่า บทเพลงอมตะนี้มีที่มาจากวงดนตรีดิสโกสัญชาติเยอรมันที่รวมตัวกันในปี 1979 โดยในตอนนั้น ณ เมืองมิวนิก แคว้นบาวาเรีย ราล์ฟ ซีเกล โปรดิวเซอร์ ราล์ฟ และนักแต่งเพลง เบิร์นด์ ไมนุงเกอร์ ต้องการสร้างวงดนตรีไปแข่งขัน “ยูโรวิชั่น” รายการประกวดร้องเพลงชื่อดังของยุโรปที่ประเทศอิสราเอล

พวกเขาจึงได้เลือกสมาชิกทั้ง 6 คน มาตั้งวง คือ สตีฟ เบนเดอร์, วูล์ฟกัง ไฮเชล, เฮนเรียตตา สโตรเบล, เลสลี มานโดกี, เอดินา ป็อป มาร้องนำ และมอบหน้าที่ให้หลุยส์ เฮนดริก พอตกีเตอร์ ชาวแอฟริกาใต้เป็นนักเต้นประจำวง

แล้วราล์ฟ ซีเกล และเบิร์นด์ เมนุงเกอร์ ก็ได้แต่งเพลง “Dschinghis Khan” โดยเมนุงเกอร์เป็นผู้แต่งเนื้อร้องซึ่งอ้างอิงถึง “เจงกิสข่าน” มหาราชแห่งจักรวรรดิมองโกล และยังได้ ฮานส์ วิงเกลอร์ นักออกแบบท่าเต้นชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงที่สุดในช่วงเวลานั้นมาช่วยออกแบบท่าเต้นให้วงที่ตั้งชื่อว่า “Dschinghis Khan” ตามชื่อเพลงที่ใช้ในการแข่งขัน

วง Dschinghis Khan ได้อันดับที่สี่ในการประกวดร้องเพลงยูโรวิชัน 1979 และประสบความสำเร็จจากกระแสเพลงแนวแดนซ์ดิสโก้ที่กำลังได้รับความนิยม โดยมีวงเยอรมันที่โด่งดังในขณะนั้นก็คือ Boney M. (ซึ่งมีเพลงฮิตเป็นแนวประวัติศาสตร์อย่าง Rusputin เช่นกัน) และด้วยการแต่งกายแฟนซี สีสันจัดจ้าน ประกอบกับจังหวะดิสโก้สนุกสนาน จึงทำให้วงได้รับความนิยม

ความโด่งดังของเพลงเจงกีสข่านทำให้ฝั่งบ้านเราเอาเพลงนี้มาแปลงด้วยเช่นกัน โดยวงรอยัลสไปรท์ วงดนตรีสตริงซึ่งออกผลงานอัลบั้มครั้งแรกเมื่อปี 1979 (พ.ศ. 2522) ก็ได้นำเพลงนี้มาใส่คำร้องเป็นภาษาไทยโดยประสิทธิ์ ชำนาญไพร และขับร้องโดย “พี่จี๊ด” สุนทร สุจริตฉันท์ ซึ่งทำให้อะดรีนาลีนมันหลั่ง กระตุ้นปลุกใจให้ฮึกเหิมแล้วช่วยกันตะโกนกู่ก้องออกไปว่า “เจง..เจง..เจงกิสข่าน”

และหากใครยังฟังเพลงเจงกิสข่านฉบับแปลกหู ก็ยังมีเพลง “เจงกีสข่านบุกอีสาน” ของสุชิน สินส่งเสริม ด้วยนะครับ

เพลงนี้ยังมีทั้งศิลปินจากอีกหลายประเทศทยอยกันเอาเพลงนี้ไปแปลงเป็นภาษาของตัวเอง เช่น วง Berryz Kobo เกิร์ลกรุ๊ปญี่ปุ่นในปี 2008 ซึ่งเนื้อเพลงภาษาญี่ปุ่นนั้น ไม่มีเรื่องการดื่มเหล้า ข่มขืน หรือภาพอันโหดร้ายขอสงครามหลงเหลืออยู่เลย

นอกจากเพลง Dschinghis Khan แล้ววงเจงกิสข่านยังมีเพลง “Moskau” ซึ่งตั้งชื่อตามเมืองหลวงของรัสเซียที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

ทว่าต่อมาเมื่อความนิยมของดีสโก้จางลง ความนิยมของวงก็พลอยลดลงไปด้วย แม้จะพยายามหันไปทางดนตรีโฟลก์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงทำให้ในปี 1985 วงก็ได้ยุบตัวลง และสมาชิกทั้ง 6 คนต่างแยกย้ายไปตามทางของตนเอง หากในปี 1986 สมาชิก 3 คน คือ สโตรเบล, มานโดกี, และพอตกีเตอร์ ได้กลับมารียูเนี่ยนกันสั้นๆ ในปี 1986 ในนาม Dschinghis Khan Family เพื่อเข้าคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศเยอรมนีตะวันตกในการประกวดร้องเพลงยูโรวิชันปี 1986 ด้วยบทเพลง “Wir gehör’n zusammen” ซึ่งทำให้พวกเขาได้อันดับที่สองของการแข่งขัน

ต่อมาวงก็ได้แยกย้ายอีกครั้ง หากน่าเศร้าที่สมาชิกสองคนอย่างหลุยส์ โพต์ไกเตอร์ แดนเซอร์ผู้มีลีลาการเต้นสุดแพรวพราวได้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์เมื่อปี 1993 และสตีฟ เบนเดอร์ ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2006

หากตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา วง Dschinghis Khan ได้กลับมารวมตัวอีกครั้งโดยสมาชิกเดิม 4 คน แต่ได้เปลี่ยนแปลงสมาชิกใหม่และยังคงแสดงต่อไปจนถึงปัจจุบัน

ทว่าในปี 2018 เพลง “Moskau” เวอร์ชั่นการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียของวงมีข้อพิพาททางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ์ในการใช้ชื่อวงกับซีเกล โปรดิวเซอร์ ซึ่งสิ้นสุดในปี 2021 โดยศาลตัดสินให้ซีเกลได้รับสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า

ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา Dschinghis Khan ได้เผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง แต่ยังคงรักษาสถานะในวงการเพลงและยังคงสร้างความบันเทิงให้กับผู้ฟังทั่วโลก

#TWCHistory #TWCGermany #TWCMongolia #TWC_Rama