“รามมนเฑียร” (Ram Mandir) วัดพระราม ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอโยธยา รัฐอุตรประเทศ ถือเป็นสถานที่สำคัญของชาวฮินดู ในฐานะเป็นสถานที่ประสูติของพระราม หรือ 'รามชนมภูมิ' (Janmabhoomi)

และตามความเชื่อของชาวฮินดู อโยธยาเป็นสถานที่พระรามเคยครองราชย์ และเป็นฉากหลังของมหากาพย์รามายณะ หรือรามเกียรติ์ วรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ของอินเดียและของไทย

หากแต่ในอดีต สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของมัสยิดบาบรี ศาสนสถานอันสำคัญของชาวมุสลิมในเมืองอโยธยา จนกลายเป็นปัญหาระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม ซึ่งลงเอยด้วยความรุนแรง และขึ้นโรงขึ้นศาล จนได้คำพิพากษาที่ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับ
“รามมณเฑียร” (Ram Mandir) แห่งนี้ จึงเป็นสถานที่แห่งดราม่าทางศาสนา ซึ่ง ณ บัดนี้ กลายเป็นเทวาลัยอันยิ่งใหญ่และต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกมายังดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
อโยธยา เมืองแห่งพระราม
“อโยธยา” เป็นชื่อเมืองในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ซึ่งชาวฮินดูเชื่อว่าพระรามในมหากาพย์รามายณะ เคยครองราชย์ที่เมืองนี้ โดยชื่อเมืองแห่งนี้มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ คือ “เมืองที่ไม่อาจพิชิตได้”

พระรามมีความสำคัญต่อชาวฮินดูเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจาก พระองค์จะเป็นอวตารองค์ที่ 7 ของพระวิษณุ เพื่อปราบราวณะ หรือ ทศกัณฐ์แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นต้นแบบของนักปกครอง ซึ่งทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบ และมีศีลธรรมจรรยา ชาวฮินดูจึงนับถือบูชาพระองค์อย่างยิ่งยวด

ซึ่งอโยธยาสำหรับคนไทยเรานั้น ก็เป็นชื่อเมืองหลวงของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ และยังได้นำคำดังกล่าวมาแผลงเป็นชื่อกรุงเก่า คือ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสัมพันธ์กับคติว่า กษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ซึ่งคือพระรามนั่นเอง

อิทธิพลของคติจากสมัยอยุธยายังมีต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ โดยรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามของกรุงเทพฯ เอาไว้ว่า “กรุงรัตนโกสินทร์ อินท์อโยธยา”… หรือต่อมา ได้ปรากฏในชื่อเต็มของกรุงเทพฯ ว่า “มหินทรายุธยา” อันมีความหมายว่า นครที่ไม่มีใครรบชนะ

ส่วนตามประวัติศาสตร์ เมืองโบราณอโยธยาเคยปรากฏชื่อเรียกในบันทึกทางพุทธศาสนาและศาสนาเชนว่า เมืองสาเกต เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ในยุคมหาชนบท ดังนั้นบันทึกโบราณหลายเล่มจึงปรากฏชื่อสาเกต โกศล หรือ อโยธยา สับเปลี่ยนกัน เช่น กาลิทาสระบุไว้ในพงศาวดารรฆุวังศะ (Raghuvamsa) ของตนว่า อโยธยาคืออีกชื่อหนึ่งของเมืองสาเกต
ซึ่งเมืองสาเกตในยุคพุทธกาล ถือเป็นเมืองสำคัญและเป็นศูนย์กลางการค้า จึงทำให้ที่นี่ถือเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงไปเผยแผ่ศาสนา อย่างเช่น การประทับ ณ วัดเชตวัน หรือการมีอุบาสกและอุบาสิกาคนสำคัญจากแคว้นโกศล คือ อนาถปิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขา
ต่อมาเมื่อแคว้นโกศลถูกพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธพิชิตได้ เมืองสาเกตก็ลดบทบาทความสำคัญทางการเมืองลง

หากยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า อโยธยาของพระรามนั้นเป็นเมืองในตำนาน แล้วชื่อเมืองแห่งนี้ถูกนำมาตั้งให้เมืองสาเกตในสมัยราชวงศ์คุปตะ เมื่อประมาณคริสตศตวรรษที่ 4 เท่านั้น
ซึ่งการยกให้เมืองอโยธยาให้กลายเป็นศูนย์กลางของการบูชาพระรามก็ได้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นช่วงที่นิกายรามานันทิเริ่มได้รับความนิยม โดยนิกายารามานันทิ (แปลว่าความยินดีที่ได้บูชาพระราม) เน้นการบูชาพระราม นางสีดา และหนุมาน และอวตารของพระวิษณุ นิกายนี้จึงถือว่าพระรามและนางสีดาเป็นพระเจ้าสูงสุดที่ไม่แตกต่างกัน

มัสยิดบาบรี
ต่อมาในปี 1528–29 (ฮิจเราะห์ศักราช 935) สมัยราชวงศ์โมกุล เมืองอโยธยามีชื่อเรียกว่า อวัธ หรือ อูธ ซึ่งก็กร่อนมาจากคำว่า อโยธยา ได้มีการก่อสร้างมัสยิดแห่งหนึ่ง ชื่อว่า มัสยิดบาบรี โดยนายพลมีร์บากีตามพระราชกระแสรับสั่งของจักรพรรดิบาบูร์
ซึ่งมัสยิดบาบรีตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ประสูติของพระราม ชาวฮินดูจึงรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งที่สถานที่ที่พวกเขาศรัทธาถูกทับถมโดยศาสนาสถานของศาสนาอื่น แต่พวกเขาไม่อาจทำอะไรได้ เนื่องจาก ตอนนั้น เมืองอโยธยาอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์โมกุล ราชวงศ์อิสลาม

มาในยุคอาณานิคมเมื่ออังกฤษเข้าปกครองอินเดีย ก็ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการให้สร้างเทวสถานของชาวฮินดูขึ้นใหม่ ไม่ห่างจากมัสยิดบาบรีเท่าไรนัก ซึ่งทำให้ศาสนิกชนทั้ง 2 ศาสนา อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
แต่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบระหว่างสองศาสนิกชนได้สิ้นสุดลงในปี 1949 ภายหลังอังกฤษให้เอกราชอินเดีย ได้มีประกาศว่า มีการพบเทวรูปพระรามวัยเด็ก หรือ “รามลัลลา” (Ram Lalla) ในมัสยิดบาบรี ชาวฮินดูทั่วประเทศอินเดียจึงแห่กันไปสักการะ ชาวมุสลิมร้องขอให้รัฐบาลอินเดียอัญเชิญเทวรูปพระรามวัยเด็กออกไป เพราะการมีอยู่ของเทวรูปทำให้มัสยิดตกอยู่ในอันตราย รัฐบาลกลางจึงสั่งให้นำเทวรูปพระรามออกไปจากมัสยิดบาบรี เพื่อยุติปัญหา

แต่ผู้ว่าการรัฐอโยธยามองว่าการนำเทวรูปออกไปเป็นการกระทำที่อ่อนไหวและอาจก่อให้เกิดความรุนแรงตามมา จึงเลือกที่จะสั่งปิดมัสยิด ไม่ให้มีการประกอบพิธีกรรมของทั้ง 2 ศาสนา แทนการนำเทวรูปออกตามคำสั่งของรัฐบาลกลาง
ซึ่งตามความจริงนั้น เทวรูปพระรามที่ตั้งอยู่ในมัสยิดบาบรีเป็นฝีมือของชาวฮินดูที่ต้องการปลุกปั่นกระแสชาวฮินดูให้เข้ายึดมัสยิดบาบรี ซึ่งมีสาเหตุจากความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมในช่วงที่อินเดียพึ่งได้รับเอกราช และปัญหาดังกล่าว ยังคงเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน
ชาวฮินดูได้เรียกร้องให้มีการสร้าง “วัดพระราม” แทนที่มัสยิดบาบรี และขับไล่ชาวมุสลิมออกไปจากพื้นที่ประสูติของพระราม ส่วนชาวมุสลืมไม่เห็นด้วย และยังคงต้องการใช้พื้นที่มัสยิดโดยสงบ และไม่ต้องการให้ชาวฮินดูมารบกวนพื้นที่ หากทั้งสองฝ่ายไม่อาจทำอะไรได้ เนื่องจากมัสยิดถูกปิด
มัสยิดบาบรียังคงถูกปิดต่อไป จนเมื่อปี 1988 ช่วงปลายสมัยของ ราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi) นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของอินเดีย ซึ่งตอนนั้นคะแนนเสียงของเขาตกต่ำอย่างรุนแรง เนื่องจากไปใช้อำนาจขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนคำพิพากษาที่สั่งให้ชายชาวมุสลิมคนหนึ่งต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูรายเดือนให้อดีตภรรยาที่ถูกทอดทิ้ง

ราจีฟ คานธี จากพรรคคองเกรส (Congress) พรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีภาพลักษณ์ของการประนีประนอมเอาใจทุกฝ่าย ทำให้ชาวฮินดูไม่พอใจอย่างมาก เพราะรู้สึกว่าเขาเอาใจชาวมุสลิมมากเกินไป จนเกิดการประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง ราจีฟตัดสินใจแก้เกมด้วยการประกาศเปิดประตูมัสยิดบาบรี เพื่อให้ชาวฮินดูเข้าไปสักการะเทวรูปพระรามได้ พร้อมทั้งให้มีการเผยแพร่มหากาพย์รามายณะทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากชาวฮินดูกลับคืน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเขาได้พ่ายการเลือกตั้งในปี 1989

กลับกัน พรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party) หรือ พรรค BJP พรรคชาตินิยมฮินดู ซึ่งมีผลงานที่ย่ำแย่ในการเลือกตั้งปี 1984 กลับมีผลเลือกตั้งที่ดีขึ้น จากแต่เดิมมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 2 ที่นั่ง แต่ในปี 1989 กลับมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 86 ที่นั่ง ซึ่งพรรค BJP ถือเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องให้มีการสร้างวัดพระรามที่อโยธยา และกลายเป็นคะแนนเสียงสำคัญในการสนับสนุนพรรคประชาชนของ วี. พี. สิงห์ เป็นรัฐบาล
ชาวฮินดูและมุสลิมพยายามเจรจากันเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งเหนือมัสยิดบาบรี ซึ่งมีเทวรูปพระรามประทับอยู่อีกครั้ง โดยพยายามนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งคำสั่งศาลประจำอำเภอในปี 1986 ระบุให้มัสยิดบาบรีเปิดเป็นสถานที่ของชาวฮินดู แต่ในปี 1989 ศาลสูงอินเดียมีคำพิพากษาให้ปิดมัสยิดไว้อย่างเดิม โดยรักษาเทวรูปพระรามไว้ภายใน แต่แล้วความรุนแรงก็เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 1990 เมื่อพรรค BJP รณรงค์ให้มีการสร้างวัดฮินดูขึ้นใหม่บนพื้นที่อันเป็นที่ประสูติของพระรามอย่างจริงจังมากขึ้น และไม่ได้ทำเพียงส่งๆ แต่ถึงขั้นเป็นแคมเปญระดับประเทศกันเลยทีเดียว
รามรถยาตรา (Ram Rath Yatra)
การณรงค์เพื่อให้รัฐบาลสร้างวัดพระรามของพรรค BJP ภายใต้การนำของ ลัล กฤษณะ อัดวานี (Lal Krishna Advani) ประธานพรรค BJP ในขณะนั้น ทำไปเพื่อเพิ่มคะแนนความนิยมของพรรค เนื่องจาก ในตอนนั้น ทาง วี.พี. สิงห์ นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินนโยบานเพิ่มโควตาให้กับคนวรรณะล่างได้มีโอกาสทางการศึกษาและการทำงานให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ทางพรรค BJP ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยคนวรรณะสูงไม่พอใจ และริเริ่มแคมเปญที่สามารถดึงดูดใจชาวฮินดูได้ทุกวรรณะให้มากขึ้น

พวกเขามองเห็นว่า ข้อพิพาทอโยธยาบนสถานที่เกิดของพระราม เป็นโอกาสชั้นดีที่จะปลุกกระแสชาวฮินดูสามารถรวมกลุ่มกันต่อต้านชาวมุสลิมได้ พรรค BJP จึงได้จัดขบวนเดินทาง “รามรถยาตรา” (Ram Rath Yatra) ซึ่งแปลว่า “ขบวนแห่ของพระราม” ขึ้นมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 1990 ณ เมือง “โสมนาถ” (Somnath) เพื่อเดินทางไปทวงคืนเมืองอโยธยา
น่าสังเกตว่า ทางพรรค BJP เลือก “โสมนาถ” เมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูในรัฐคุชราตเป็นจุดเริ่มต้นของราม รถยาตรา เพราะโสมนาถถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของชาวฮินดู ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นเมืองมุสลิม แต่หลังจากอินเดียได้รับเอกราช รัฐบาลพรรคคองเกรสก็ได้ปรับเปลี่ยนให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นเมืองฮินดูอีกครั้ง โดยการสร้างวัดโสมนาถ จึงทำให้ที่นี่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการปลุกใจให้ชาวฮินดูลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเมืองอโยธยาให้กลายเป็นเมืองฮินดูอย่างสมบูรณ์

ขบวน “รามรถยาตรา” เดินทางลากยาวกว่า 10,000 กิโลเมตร ผ่านรัฐคุชราต, มหาราษฎร, อันธรประเทศ, มัธยประเทศ, และพิหาร เพื่อมุ่งหน้าสู่ “อโยธยา” รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งผ่านทางเมืองสำคัญต่างๆ ของฮินดูมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บอมเบย์, ปูเน, ไฮเดอราบัด, นาคปุระ, กรุงเดลี, ลัคเนา, หรือ พาราณสี เป็นต้น

หากขบวน “รามรถยาตรา” ไม่ได้ใช้รถม้าตามประเพณีโบราณ เพราะหากทำเช่นนั้น ย่อมทำให้การเดินทางเกิดความล่าช้า พวกเขาจึงได้นำรถยนต์โตโยต้ามาดัดแปลงให้มีรูปร่างเป็นรถม้าศึกเสียเสร็จสรรพ แล้วนำอัดวานีและพรรค BJP ที่แต่งกายอย่างโบราณ ปราศรัยถึงการต่อต้านนโยบายการเพิ่มโควตาให้คนวรรณะล่างและปลุกระดมชาวฮินดูทั้งหลายให้เดินทางเพื่อทวงคืนอโยธยาจากชาวมุสลิม เสมือนกองทัพของพระรามที่เดินทางไปปราบ “ราพณาสูร” หรือทศกัณฐ์ ณ กรุงลงกา…

ขบวนแห่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเมืองที่รามรถยาตราผ่านและสร้างความไม่สงบ เพราะตลอดการเดินทาง พรรค BJP ได้ละเมิดกฎหมายความสงบไปหลายครั้ง และมีคนตายจากการกระทำของพวกหัวรุนแรง แต่รัฐบาลกลางก็ไม่ได้จัดการอะไร แม้ขบวนแห่จะหยุดที่กรุงเดลี เมืองหลวง อยู่หลายวัน หากวันที่ 23 ตุลาคม 1990 วี.พี. สิงห์ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มุขมนตรีรัฐพิหารจับกุมอัดวานี หัวหน้าพรรค BJP

อัดวานีถูกคุมตัวที่ Massanjore Guest House บ้านพักรับรองสุดหรูหราของรัฐบาล แต่ก็ถูกปล่อยตัวออกมา ซึ่งแม้ว่า อัดวานีจะถูกคุมตัว ผู้ชุมนุมก็ยังคงมุ่งหน้าเดินทางไปยังอโยธยา ทำให้มุขมนตรีรัฐอุตตรประเทศสั่งจับกุมผู้ชุมนุมทั้งหมดซึ่งมีมากกว่า 150,000 คน อย่างไรก็ดี ผู้ชุมนุมประมาณ 75,000 คน สามารถหลุดรอดจากการจับกุมและเดินทางถึงอโยธยาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 1990
ทางรัฐบาลกลางของอินเดียจึงส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลพื้นที่มัสยิดบาบรีกว่า 20,000 คน เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในมัสยิดได้โดยง่าย แต่เชื่อกันว่า ตำรวจท้องถิ่นได้ช่วยให้ผู้ชุมนุมคนหนึ่งเข้าไปในมัสยิดและนำธงที่มีสัญลักษณ์ของศาสนาฮินดูไปปักบนยอดมัสยิด ขณะที่ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ พยายามทำลายมัสยิดด้วยขวานและค้อน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาขับไล่ผู้ชุมนุมและเกิดการปะทะอย่างรุนแรง จนมีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 20 ราย
ผลกระทบจากขบวนรามรถยาตรา ทำให้มีผู้เสียชีวิตตลอดการชุมนุมมากถึง 564 คน โดยเฉพาะในรัฐอุตตรประเทศที่มีมากถึง 224 คน และมันยังส่งผลกระทบต่อชาวมุสลิม คู่ขัดแย้งของชาวฮินดูหัวรุนแรง ที่ตกเป็นเป้าหมายในการคุกคาม, ทำร้ายร่างกาย, และปล้นบ้านเรือน
การทำลายมัสยิดบาบรี ปี 1992
หลังเหตุการณ์ขบวนรามรถยาตรา พรรค BJP ได้ถอนตัวออกจากรัฐบาลของ วี.พี.สิงห์ จนทำให้ต้องเกิดการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ซึ่งทางพรรค BJP ได้ใช้การชุมนุมครั้งนี้รณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งปี 1991 ซึ่งทำให้พรรคได้รับเสียงสนับสนุนจากพื้นที่ชนบทมากขึ้น จากแต่เดิมเคยได้เสียงจากชนชั้นกลางและพวกวรรณะสูงในเมืองเท่านั้น
พรรค BJP ได้ที่นั่งไป 120 ที่นั่ง มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรองเพียงพรรคคองเกรส ซึ่งได้คะแนนนิยมมากขึ้นจากความเห็นใจของประชาชนต่อเหตุการณ์ลอบสังหารนายราจีฟ คานธี โดยผู้หญิงสมาชิกพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ณ รัฐทมิฬนาดู ทำให้พรรคคองเกรสได้ ส.ส. 244 ที่นั่ง ซึ่งเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล เสียงข้างน้อย ผลักให้พรรค BJP ต้องกลายเป็นพรรคผู้นำฝ่ายค้าน
แต่ภารกิจในการทวงคืนวัดพระรามยังไม่จบสิ้น และกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 6 ธันวาคม 1992 เมื่อชาวฮินดูที่บ้าคลั่งปีนขึ้นไปบนโดมของมัสยิดบาบรี แล้วโบกธงซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมชาวฮินดูกว่าแสนรายบุกเข้ามัสยิด พร้อมใช้ขวานและค้อนทุบทำลายจนมัสยิดพังเสียหาย ก่อนจะบานปลายกลายเป็นจลาจลระหว่างประชากร 2 ศาสนาที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัตศาสตร์อินเดีย และจบลงด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ไม่มีการจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ

คดีอโยธยา
เหตุการณ์ทุบทำลายมัสยิดบาบรีจบลงด้วยการที่ทั้ง 2 ฝ่ายนำเรื่องขึ้นสู่ศาล เพื่อหาข้อยุติ ซึ่งศาลสูงอลาหาบาดได้ออกคำตัดสินในวันที่ 30 กันยายน 2010 มีใจความว่า ให้ที่ดินขนาด 2.77 เอเคอร์ (1.12 เฮกตาร์)แบ่งออกเป็นสามส่วนเท่า ๆ กัน ส่วนแรกเป็นของฮินดูมหาสภา เพื่อเป็นศาสนาสถานสำหรับพระรามปางประสูติ, ส่วนที่สองเป็นของคณะกรรมการซุนนีวักฟ์ สำหรับชาวมุสลิม, และส่วนสุดท้ายเป็นของนิรโมหีอขร นิกายหนึ่งของฮินดู
จนปี 2019 ความขัดแย้งที่ยาวนานเหนือผืนดินศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ก็จบลงเมื่อศาลสูงสุดแห่งอินเดียมีคำพิพากษาให้สถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของมัสยิดบาบรีตกเป็นของชาวฮินดู เนื่องจากมีการพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้วพบว่า ใต้มัสยิดบาบรีมีโครงสร้างของวัดฮินดูสมัยศตวรรษที่ 12 อยู่ ศาลจึงไม่รับฟังการอ้างความเป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของชาวมุสลิม และเห็นว่าการที่ชาวฮินดูทุบทำลายมัสยิดบาบรีเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายที่รุนแรง
พร้อมมีคำสั่งให้ยกที่ดินผืนนั้นให้ชาวฮินดู ขณะเดียวกันก็สั่งยกที่ดินอีกผืนหนึ่งห่างจากพื้นที่พิพาทประมาณ 25 กม. ให้กับชาวมุสลิมสำหรับก่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่ ซึ่งทั้งชาวฮินดูและมุสลิมต่างยอมรับคำพิพากษานั้น

บางคนรู้สึกไม่พอใจ และกล่าวหาว่า ศาลสูงสุดแห่งอินเดียตัดสินเข้าข้างฮินดูที่ประกอบเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของอินเดีย สืบเนื่องจากรัฐบาลนี้ตั้งโดยพรรคภารตียาชนตา พรรคชาตินิยมฮินดู การกล่าวหานี้เลยแลดูจริงจังไม่น้อยเลย ยิ่งไปดูบรรยากาศชาตินิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองวัว/เนื้อวัว การจลาจลในรัฐคุชราตในปี 2002 สมัยที่นายนเรนดรา โมดี เป็นมุขมนตรี การยกเลิกมาตรา 370 ในเรื่องแคชเมียร์ ยิ่งทำให้หลายคนมองว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นการเข้าข้างฮินดู
การสร้างรามมณเฑียร
พิธีภูมิปูชัน (พิธีวางศิลาฤกษ์) สำหรับการเริ่มต้นการก่อสร้างรามมณเฑียร ได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ปี 2020 โดยนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เป็นประธาน และการก่อสร้างได้รับการดูแลโดยกองทุน Shri Ram Janmabhoomi Teerth Kshetra Trust โดยรามมณเฑียได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกสกุลโสมปุระ แห่งอาห์เมดาบาดในปี 1988

สกุลโสมปุระ มีส่วนในการออกแบบวัดมากกว่า 100 แห่งทั่วโลกเป็นเวลาอย่างน้อย 15 รุ่น รวมทั้งวัดโสมนาถด้วย หัวหน้าสถาปนิกของวัดคือ จันทรกานต์ โสมปุระ โดยได้รับความช่วยเหลือจากลูกชายสองคนของเขา นิขิล โสมปุระ และอาศิศ โสมปุระ ซึ่งเป็นสถาปนิกเช่นกัน
ในปี 2020 มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบบางประการจากแบบฉบับของโสมปุระ ตามคัมภีร์ฮินดูวัสดุศาสตร์และศิลปศาสตร์ ทำให้ตัววิหารมีความกว้าง 250 ฟุต ยาว 380 ฟุต และสูง 161 ฟุต (49 ม.) สร้างโดยหินทราย 600,000 ลูกบาศก์ฟุต (17,000 ลูกบาศก์เมตร) จากรัฐราชสถาน โดยไม่มีการใช้เหล็กเลย และมีการหลอมบล็อกหินต้องใช้แผ่นทองแดงถึงหนึ่งหมื่นแผ่น และวัดแห่งนี้ได้รับการออกแบบในสไตล์คุรชารา-จอลุกยะ (Gurjara-Chaulukya) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมวัดฮินดูประเภทหนึ่งที่พบในอินเดียตอนเหนือเป็นหลัก แบบจำลองของวัดที่เสนอนี้ได้รับการจัดแสดงในช่วงพิธีกุมภเมลาในปี 2020
เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดฮินดูที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โครงสร้างหลักของวัด สร้างขึ้นบนยกพื้นสูงสามชั้น มีมณฑป 5 องค์อยู่ตรงกลางครรภคฤหะ (สถานศักดิ์สิทธิ์) และบริเวณทางเข้า อาคารจะมีทั้งหมด 366 เสา เสาเหล่านี้จะมีเทวรูป 16 องค์ แต่ละเสาประกอบด้วยอวตารของพระศิวะ ทศาวตาร 10 รูป จอสัฐโยคินี 64 รูป และอวตารของพระแม่สรัสวดี 12 รูป ความกว้างของบันไดคือ 16 ฟุต (4.9 ม.) ตามพระคัมภีร์ที่ว่าด้วยการออกแบบวัดที่อุทิศถวายพระวิษณุ ห้องครรภคฤหะจะเป็นทรงแปดเหลี่ยม
วัดถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ 10 เอเคอร์ (25 ไร่เศษ) และพื้นที่ 57 เอเคอร์ (ประมาณ 144 ไร่) ได้รับการพัฒนาให้เป็นอาคารที่มีห้องสวดมนต์ ห้องบรรยาย สถานศึกษา และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์และโรงอาหาร ตามที่คณะกรรมการวัดระบุว่า วัดนี้รองรับผู้เข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ถึง 70,000 คนในคราวเดียว
เกมการเมืองอินเดีย
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2024 ได้มีการเปิดวัดฮินดูแห่งนี้อย่างเป็นทางการ โดยนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย เป็นประธานในพิธีนี้
นักวิเคราะห์มองว่า โมดีต้องการใช้ศาสนสถานแห่งนี้เดินเกมการเมืองเพื่อคะแนนเสียงของพรรคภารติยะชนตะ (Bharatiya Janata Party หรือ BJP) ของตนเองในการเลือกตั้งปี 2024 ซึ่งพรรค BJP ได้รับชัยชนะ และทำให้โมดีได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 1 สมัย และเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน
สำหรับชาวฮินดูส่วนใหญ่ พิธีเปิดวัดพระรามในวันนั้น คือความสำเร็จที่พวกเขาเฝ้ารอคอยมาเนิ่นนาน โดยมีรายงานว่าจำนวนผู้เยี่ยมชมรายวันอยู่ระหว่าง 100,000 ถึง 150,000 คน

“รามมณเฑียร” (Ram Mandir) แห่งนี้ จึงกลายเป็นสถานที่แห่งดราม่าทางศาสนา มาอย่างยาวนาน แต่ ณ บัดนี้ กลายเป็นเทวาลัยอันยิ่งใหญ่และต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกมายังดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
ทาง The Wild Chronicles ได้จัดทริปสุดพิเศษสำหรับเดินทางไป “รามมนเทียร” วัดพระรามแห่งอโยธยา และร่วมเทศกาล “มหากุมภเมลา” ซึ่งรอช้าไม่ได้! เพราะสิบสองปีมีครั้ง ออกเดินทางเพียงรอบเดียวเท่านั้น! วันที่ 10 – 17 กุมภาพันธ์ 2025! ซึ่งเราจะพาท่านไปพบกับบรรยากาศแห่ง “จิตวิญญาณ” โดยเข้าพักในเต็นท์กลางพิธี เพื่อสัมผัสแลกเปลี่ยนกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์จากนิกายต่างๆ นี้ถึงสองคืน

ทัวร์ของเรายังคงคอนเซ็ปต์ “ทัวร์ดีมีของสำหรับนักผจญภัยที่ไม่ธรรมดา” แถมด้วย “กินหรูอยู่สบาย” นอนโรงแรมระดับที่ดีที่สุดในทุกเมืองที่ไป
…มันคือ “เอกภาพ” ท่ามกลางความแตกต่าง
…มันคือ “การบำเพ็ญเพียร” เพื่อแสวงหาตนเอง
…มันคือ “สัจจะแห่งการหลุดพ้น” ซึ่งมีได้หลากหลาย
มีคำกล่าวว่าชมพูทวีปส่งมอบสันติภาพเป็นของขวัญอันล้ำค่าให้แก่มวลมนุษย์
มันจะเป็นการเดินทางสู่ดินแดนแห่งความเชื่อ …ซึ่งอาจสามารถสะท้อน “จิตวิญญาณ” ของท่านเองก็ได้
รับประสบการณ์ที่แตกต่าง และสัมผัสบรรยากาศแบบใหม่ที่อาจไม่เคยลิ้มลอง หากท่านใดสนใจขอโปรแกรม สามารถติดต่อได้ทาง inbox หรือแอด LINE OA ได้ที่ @thewildchronicles (พิมพ์ @ ด้านหน้า) และพิมพ์ว่า “สนใจทัวร์มหากุมภเมลา” ได้เลยนะครับ หรือกดปุ่ม “จองทัวร์” ได้เลยครับ
0 Comment