“ชัม” (Cham) หรือที่ชาวมองโกเลียเรียกว่า “ซัม” (Tsam) คือพิธีกรรมฟ้อนหน้ากากอันศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนานิกายวัชรยาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อขับไล่พลังลบ ความอัปมงคล และอวิชชาออกจากชุมชน

พิธีนี้ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากเป็นสัตว์ต่างๆ ซึ่งไม่ได้สื่อถึงภาพลักษณ์ภายนอกตรงๆ แต่เป็นสัญลักษณ์ของนามธรรมบางอย่าง โดยเฉพาะภาพของเทพ “ธรรมบาล” ซึ่งมักมีที่มาจากพระโพธิสัตว์หรือเทพในศาสนาฮินดู เพื่อถ่ายทอดบทเรียนแห่งความไม่เที่ยงและการหลุดพ้น

พิธีกรรมนี้มีต้นกำเนิดในทิเบตสมัยพระเจ้าตรีซงเด็ทเซน ธรรมราชาองค์ที่สองของทิเบต โดยพระอาจารย์ปัทมสัมภวะ คุรุผู้สถาปนาศาสนาพุทธวัชรยานในทิเบตได้ประกอบพิธีระบำหน้ากากจนกลายเป็นต้นแบบของระบำชัมที่แพร่หลายในทิเบต สู่ภูฏานและมองโกเลีย

ในภาพนี้คือการแสดงซัมที่อูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลียเมื่อปี 1925 โดยผู้แสดงสวมหน้ากากควาย ประกอบด้วยมงกุฎหัวกะโหลก โครงกระดูก และคฑาศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายถึง “พระยม” (Yama) เทพแห่งความตายและหนึ่งในธรรมบาล สื่อถึงการทำลายอัตตาและความไม่จีรังแห่งชีวิต

การฟ้อนซัมจึงเป็นมากกว่าศิลปะการแสดง หากแต่เป็นพิธีกรรมทางจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงศรัทธา ศิลปะ และธรรมะเข้าด้วยกัน แม้เคยถูกห้ามในยุคคอมมิวนิสต์ของมองโกเลีย แต่หลังปี 1990 พิธีนี้ได้ฟื้นคืนอีกครั้งในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชนชาติ

#TWCHistory #TWCChina #TWCTibet #TWCBhutan #TWCMongolia #TWC_Rama