วิธีการปกครองอย่างหนึ่งที่ผู้นำเผด็จการใช้ในการบริหารประเทศนั่นคือ “ลัทธิบูชาตัวบุคคล” ซึ่งเป็นการกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อฟังผู้นำในทุกๆ เรื่อง โดยยกเหตุผลว่าผู้นำคนนั้นเป็นผู้มีบุญญาธิการปกครอง หากไม่เชื่อฟังจะทำให้บ้านเมืองไม่เจริญ (แถมอาจถูกลงโทษจากทางการและประชาชนคนอื่นๆ ด้วย)
ตัวอย่างของประเทศพีคๆ ในเรื่องลัทธิบูชาตัวบุคคลก็คือ “เกาหลีเหนือ” โดยผู้นำตระกูลคิมที่มองจากภายนอกเข้าไปจะดูตลกๆ อย่างเช่น ชาวเกาหลีเหนือที่ร้องไห้จะเป็นจะตายเมื่อตอนท่านผู้นำคิมเสียชีวิต หรืออภินิหารสุดเว่อร์ที่สอนต่อๆ กันว่าเขาทำ
แต่ท่านทราบเรื่องราวของ “เกาหลีเหนือแห่งเอเชียกลาง” หรือไม่? เมื่อประเทศๆ หนึ่งในเอเชียกลางที่ผู้นำใช้วิธีการทำนองคล้ายๆ กับตระกูลคิมจนกลายเป็นที่เลื่องลือเช่นกัน เรื่องราวจะเป็นอย่างไร? มาติดตามได้ในโพสต์นี้เลยครับ
ผู้นำที่เรากำลังพูดถึงนี้ชื่อว่า “ซาปาร์มูรัต นิยาซอฟ” เป็นผู้นำของเติร์กเมนิสถานระหว่างปี 1985 ถึง 2006 เขามีอีกสมญาหนึ่งว่า “เติร์กเมนบาชี” หรือ “บิดาแห่งชาวเติร์กเมน” อนึ่งเติร์กเมนิสถานเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน และได้รับเอกราชในปี 1991 โดยมีนิยาซอฟเป็นประธานาธิบดีคนแรก
นิยาซอฟกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ แม่เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวที่กรุงอาชกาบัตเมื่อปี 1948 ส่วนพ่อมีเล่าว่าเป็นทหารเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่อีกกระแสหนึ่งเล่าว่าจริงๆ แล้วพ่อเขาหนีทหารและถูกสั่งประหารชีวิต
นิยาซอฟเริ่มต้นเรียนด้านเทคนิคและได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านวิศวกรรมไฟฟ้า เขาจะไปเรียนต่อแต่ถูกไล่ออกเพราะไม่ผ่าน หลังจากนั้นเขามาจับงานด้านการเมือง เริ่มจากเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองอาชกาบัตในปี 1962 และค่อยๆ ไต่เต้ามีตำแหน่งสูงขึ้น
สุดท้ายนิยาซอฟได้เป็นเลขาธิการพรรคคอมฯ เติร์กเมนิสถานในปี 1985 (กอร์บาชอฟแต่งตั้งให้เพราะเลขาธิการพรรคคนก่อนถูกปลดเพราะเรื่องอื้อฉาว) แนวทางของนิยาซอฟเป็นแบบสายอนุรักษ์และยังสนับสนุนความพยายามรัฐประหารในโซเวียตเมื่อปี 1991 อีกด้วย
และหลังจากเติร์กเมนิสถานได้รับเอกราช เขาจึงได้ปกครองประเทศต่อมา ซึ่งแนวทางปกครองของเขามีลักษณะคล้ายๆ สตาลิน คือเน้นการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ และการกำจัดคนเห็นต่างโดยสิ้นเชิง นิยาซอฟยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงด้วย โดยตอนที่เขาเสียชีวิตในปี 2006 มีการประเมินว่าเขามีทรัพย์สินราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ทั้งประเทศมีจีดีพีราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือแปลว่าเขามีทรัพย์สินราวๆ 30% ของจีดีพีทั้งประเทศ!
แต่ประเด็นหลักที่เราจะกล่าวถึงนิยาซอฟนี้ก็คือ คำสั่งและนโยบายต่างๆ ของนิยาซอฟ ซึ่งคนภายนอกจะมองว่าน่าตลกขบขันแกมสังเวชสำหรับชาวเติร์กเมนิสถานที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบตามใจชอบของเขา รายละเอียดจะมีอะไรบ้าง เช่น:
เริ่มต้นด้วยการเนรมิตกรุงอาชกาบัตให้เป็นเมืองหินอ่อนสุดหรูหราสวยงาม ถึงกับได้บันทึกสถิติโลกกินเนสส์ว่าเป็นเมืองที่มีตึกหินอ่อนมากที่สุดในโลก แต่เราต้องไม่ลืมว่าจริงๆ เติร์กเมนิสถานเป็นประเทศยากจน (แม้ต่อมาจะพบแก๊สธรรมชาติแต่ก็สุดท้ายรายได้ก็ตกกับคนไม่กี่คน) ดังนั้นมันก็เลยดูหลอนๆ ที่ประเทศนี้จะมีเมืองที่ดู “รวย” อยู่เมืองเดียวท่ามกลางชนบทที่ยากจน เขายังสั่งขับไล่สุนัขทุกตัวในเมืองเพื่อความสะอาด และห้ามคนทั้งประเทศเลี้ยงหมาแมวเกิน 1 ตัว
นิยาซอฟมีการเผยแพร่รูปตัวเองไปอย่างแพร่หลาย มีการตั้งรูปปั้นและแจกจ่ายรูปเหมือนกับนาฬิกาข้อมือที่มีรูปเขาบนหน้าปัด, โลโก้หน้าเขาปรากฏในสื่อโทรทัศน์ทุกช่อง (ก็เป็นของรัฐอยู่แล้วนี่นะ) เขายังเคยมีรูปปั้นสีทองรูปตัวเองที่หมุนหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ได้ มูลค่าร่วม 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกต่างหาก (ตอนนี้ถูกนำออกไปแล้ว)
นิยาซอฟยังเปลี่ยนชื่อวัน เดือนและชื่อเมืองต่างๆ เป็นชื่อที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาหรือชื่อที่เขาคิดขึ้น เช่น ชื่อตัวเอง ชื่อแม่ (ไม่กลัวโดนล้อเลยนะ) หรือการกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคมเป็น “วันเมลอน” เพราะเขาชอบผลไม้นี้เอามากๆ
นิยาซอฟยังเข้ามา “จัดระเบียบ” วงการบันเทิง ทั้งสั่งห้ามการลิปซิงก์โดยให้เหตุผลว่าการใช้ดนตรีที่อัดมาในการแสดงจะมีผลเสียต่อการพัฒนาศิลปะดนตรี, สั่งห้ามโอเปรา บัลเล่ต์ และวงดนตรีประสานเสียงเพราะ “ไม่เหมาะเป็นเติร์กเมน”, และห้ามนักข่าวแต่งหน้าออกโทรทัศน์ ต้องหน้าสดเท่านั้น!
ในเรื่องสุขภาพ นิยาซอฟสั่งปิดโรงพยาบาลนอกเมืองหลวงทั้งหมดโดยอ้างว่าให้มาใช้ที่เมืองหลวงที่เดียว, และหลังจากเขามีปัญหาสุขภาพจนต้องเลิกสูบบุหรี่ เขาก็ได้สั่งห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และสั่งให้นักการเมืองข้าราชการเดินเท้าเป็นระยะทาง 36 กิโลเมตรปีละครั้งในเส้นทางชื่อว่า “การเดินแห่งสุขภาพ” (Walk of Health) โดยอ้างว่าเพื่อให้มีสุขภาพดี (แต่เขานั่งเฮลิคอปเตอร์ไปที่เส้นชัยนะ) เรียกได้ว่า เป็นอินฟลูด้านสุขภาพอย่างแท้จริง
และอีกเรื่องที่มีชื่อเสียงมาก คือ “รูฮ์นามา” (Ruhnama) ซึ่งแปลว่า “คัมภีร์แห่งจิตวิญญาณ” เป็นหนังสือที่นิยาซอฟแต่งขึ้น เนื้อหาเป็นประวัติศาสตร์เติร์กเมนิสถานเวอร์ชั่นกาวๆ แต่มีการสอดแทรกประวัติส่วนตัวกับแนวคิดของเขาด้วย
ความพีคคือนิยาซอฟสั่งให้ประชาชนต้องศึกษาหนังสือเล่มนี้อย่างมาก ข้าราชการต้องมาอภิปรายเนื้อหากันสัปดาห์ละครั้ง ระบบการศึกษาของประเทศราวหนึ่งในสามถูกจัดสรรให้กับการศึกษาหนังสือ และในการสอบข้าราชการ สอบใบขับขี่ หรือสัมภาษณ์งานก็ทดสอบความรู้จากหนังสือเล่มนี้ด้วย
…นับว่านี่เป็นการปลูกฝังลัทธิบูชาตัวบุคคลลงไปในทุกช่วงวัยของชีวิตอย่างแท้จริง!
และก่อนหน้าเขาเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในปี 2006 เขาได้แต่งตั้ง “กูร์บันกูลี เบร์กีมูฮาเมดอว์” หมอฟันส่วนตัว อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขและรองประธานาธิบดี ให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อ
เบร์กีมูฮาเมดอว์เองแม้จะไม่สานต่อลัทธิบูชาตัวบุคคลบางอย่างของนิยาซอฟ แต่เขาก็มีลัทธิบูชาตัวบุคคลของตัวเอง โดยมักแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและ “สปอร์ต” (อารมณ์คล้ายๆ กับปูติน) เช่น แสดงท่ายกน้ำหนัก ขี่ม้า ขับยานและเครื่องบินรบ และแสดงความสามารถทางด้านดนตรี…
ที่ผ่านมามักมีการเปรียบเทียบเติร์กเมนิสถานกับเกาหลีเหนืออยู่หลายด้าน ทั้งสองมีผู้นำที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนกัน มีลัทธิบูชาตัวบุคคลอย่างเข้มข้นเหมือนกัน เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จคล้ายๆ กัน บางคนชี้ว่าสิ่งที่เติร์กเมนิสถานต่างจากเกาหลีเหนือคือเติร์กเมนิสถานยังไม่เป็นระบอบ “ราชวงศ์” ที่สืบทอดตำแหน่งผู้นำทางสายโลหิตอย่างเดียว (แต่ล่าสุดเบร์กีมูฮาเมดอว์คนพ่อก็ได้ส่งไม้ต่อให้ลูกเมื่อปี 2022 ทำให้กลายเป็นระบอบราชวงศ์ไปแล้วด้วยนะ)
และนี่คือเรื่องราวของ “เกาหลีเหนือแห่งเอเชียกลาง” กันนะครับ นับเป็นประเทศลึกลับเข้าถึงยากสำหรับคนภายนอก แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นมนต์เสน่ห์รอคอยนักผจญภัยที่ต้องการเข้าไปสัมผัสด้วยตัวเองเช่นเดียวกันนะครับ
📣 The Wild Chronicles ขอแจ้งให้ทุกท่านทราบว่าเรามีทัวร์เดินทางไปเติร์กเมนิสถานพ่วงด้วยอิหร่านกับอุซเบกิสถานในช่วงวันที่ 8-17 พ.ย. 2024 พร้อมให้นักผจญภัยที่ต้องการไปสัมผัสดินแดนลับแลแห่งนี้สักครั้ง จะเป็นอีกหนึ่ง “ทัวร์ดีมีของ” สำหรับ “นักผจญภัยที่ไม่ธรรมดา” อย่างทุกท่านแน่นอนครับ!
หากท่านใดสนใจขอโปรแกรม สามารถติดต่อได้ทาง inbox หรือแอด LINE OA ได้ที่ @thewildchronicles (พิมพ์ @ ด้านหน้า) และพิมพ์ว่า “สนใจทัวร์เติร์กเมนิสถาน” ได้เลยนะครับ …อย่าช้ารีบจองเลย!…
🎈 บริษัท The Wild Chronicles ใบอนุญาตประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ 11/10382 🎈
#TWCTour #TWCCentralAsia
0 Comment