เป็นไปไม่ได้เลยที่หากจะเรียนรู้ความเป็น “ชาวคีร์กีซ” โดยไม่ทำความรู้จักชายผู้ที่มีชื่อว่า “มานาส” เสียก่อน เพราะชายผู้นี้มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของชาวคีร์กีซเป็นอย่างมาก แถมรูปในธงประเทศคีร์กีซสถานที่มีถึง 40 แฉก ก็ได้รับอิทธิพลมาจากชายผู้นี้ด้วยเช่นกัน
มานาส เป็นบุคคลในตำนานของคีร์กีซสถาน ชื่อของเขาปรากฏอยู่ทั่วทั้งเมืองในประเทศ ไม่ว่าจะ สนามบินในบิชเคก มหาวิทยาลัย ถนนสายสำคัญ รวมไปถึงทั้งเมืองก็เต็มไปด้วยรูปปั้นของชายผู้นี้
ชื่อของมานาสปรากฏครั้งแรกในมหากาพย์ อีปิก-ออฟ-มานาส เป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นในทศวรรษที่ 1800 ตีพิมพ์ในช่วงทศวรรษปี ค.ศ. 1920 โดยกวี ซากอิมไบย์ โอรอซบัค อูลู เรื่องราวของมหากาพย์นี้มีความยาวถึง 500,000 บรรทัด ยาวกว่ามหาภารตะของอินเดียถึง 3 เท่า!!! จึงทำให้ อีปิก-ออฟ-มานาส ได้รับ Guinness Book of Records ในฐานะมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก
หลายคนคงสงสัยแล้วใช่มั้ยล่าว่ามหากาพย์เรื่องนึงมันมีอะไรให้เขียนเยอะแยะจนกลายเป็นเรื่องราวที่ยาวที่สุดในโลก เนื้อเรื่องหลักๆ ของ อีปิก-ออฟ-มานาส จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 : เล่าเรื่องราวชีวิตของมานาส นักรบผู้ยิ่งใหญ่ แข็งแกร่ง กล้าหาญและขี่ม้าเก่งมาก ในเรื่องเล่าถึงวิธีการรบกับโออิรัต ซึ่งเป็นกลุ่มชาวมองโกล และมีการต่อสู้เพื่อเอา 40 ชนเผ่าของคีร์กีซสถานมาเป็นหนึ่งเดียวกัน (นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมธงคีร์กีซสถานจึงมี 40 แฉก เพราะสื่อถึงชนเผ่าทั้ง 40 นั่นเอง ซึ่งแอดมินไปนับดูแล้วก็มี 40 จริงๆ)
ช่วงที่ 2 : เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับลูกชายของมานาสหลังจากที่มานาสเสียชีวิต ลูกชายพบว่าตนเองเป็นลูกของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ จึงตามรอยพ่อโดยการรวบรวมชนเผ่าอีกครั้ง แต่ในเนื้อเรื่องเล่าว่าลูกชายดันทำไม่สำเร็จ และสุดท้ายก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
ช่วงที่ 3 : เป็นเรื่องราวของหลานชายมานาส ที่ถูกเลี้ยงดูเติบโตมาในค่ายศัตรู โดยก็ไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นลูกชายนักรบ และหลังจากที่เขารู้ เขาจึงมุ่งต่อสู้กับศัตรูและรวบรวมชนเผ่าอีกครั้ง
โดยเนื้อเรื่องทั้งหมดภายใน อีปิก-ออฟ-มานาส ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องราวการสู้รบ แต่จะมีเรื่องราวของวัฒนธรรม จิตวิญญาณดั้งเดิมของความเป็นชาวคีร์กีซสอดแทรกอยู่เรื่อยๆ อีกทั้งไม่ได้มีเพียงแต่ข้อมูลเกี่ยวกับชาวคีร์กีซเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคาซัค อุซเบก ทาจิก ผู้คนจากเตอร์กิสถานตะวันออก มองโกเลีย ทิเบต และประเทศอื่นๆ อีกมากมาย มหากาพย์ยังกล่าวถึงศาสนาต่างๆ ในโลก รวมถึงพุทธศาสนาและศาสนาคริสต์เนสโทเรียนด้วย จึงทำให้มหากาพย์เรื่องนี้กลายเป็นเหมือนศูนย์กลางวัฒนธรรม ลักษณะนิสัย จิตวิญญาณ ของคนคีร์กีซหลายๆ อย่างเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
อีกทั้ง อีปิก-ออฟ-มานาส ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้ไม่ให้ลบเลือนหายไป ถูกหยิบยกมาเล่าผ่านนักเล่าเรื่องที่เรียกว่า ‘มานาสซี‘ โดยคนที่เป็นมานาสซีจะต้องเล่าเรื่องคล้ายๆ กับการแสดงละคร ต้องมีการใช้น้ำเสียง ท่าทาง สีหน้า อย่างดีเพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงเนื้อเรื่องได้ดีที่สุด ซึ่งคนที่ได้เป็นมานาสซีจะได้รับความยกย่องอย่างสูง เพราะถือว่าเป็นคนที่ได้รับพรเพื่อเกิดมาถ่ายทอดมหากาพย์มานาส ปัจจุบันการเล่าเรื่องมานาสจากมานาสซี สามารถหาดูได้ตามงานบรรยายสาธารณะทั่วไปในประเทศคีร์กีซสถาน
ซึ่งหากใครอยากไปเยี่ยมชมวีรบุรุษของคีร์กีซสถาน สามารถไปเยี่ยมชมได้ที่ อนุสาวรีย์ของมานาส ในเมืองบิชเคก ประเทศคีร์กีซสถานได้เลย ที่นั่นนอกจากจะมีรูปปั้นอันใหญ่โตของมานาสแล้ว บริเวณใกล้เคียงยังมีจัตุรัสอะลาตูที่รวบรวม ตึกรัฐสภา ธนาคารชาติของคีร์กีซสถานเอาไว้ให้เราได้เยี่ยมชมด้วยนะ!
0 Comment